svasdssvasds

เปิดไทม์ไลน์ประมูลคลื่นมือถือ 29 มิ.ย. 68 กสทช. เคาะราคา 6 ความถี่

เปิดไทม์ไลน์ประมูลคลื่นมือถือ 29 มิ.ย. 68 กสทช. เคาะราคา 6 ความถี่

เปิดไทม์ไลน์ประมูลคลื่นมือถือใหม่ กสทช. ล็อกวันที่ 29 มิ.ย. 68 ชงบอร์ดพิจารณารับรองผลการประมูลใน 7 วัน กรอบงบจัดประมูลคงเดิม 70 ล้าน

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วันนี้ (21 เม.ย.68) สำนักงาน กสทช. จะมีการเสนอข้อสรุปกรอบระยะเวลาดำเนินการ (ไทม์ไลน์) และกรอบงบประมาณ ในการจัดสรรคลื่นสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล หลังจากได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) เผยแพร่ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ 1500 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ไปแล้ว 2 รอบคือในวันที่ 6 ก.พ.2568 และวันที่ 1 เม.ย.68 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บอร์ด กสทช.ได้ กำหนดวันประมูลคลื่นความถี่ใหม่เป็นวันที่ 29 มิ.ย. 2568 หลังจากเปิดขั้นตอนรับคำขอใบอนุญาตและตรวจสอบคุณสมบัติตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยจะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลระหว่างวันที่ 29 เม.ย. - 28 พ.ค.2568 และให้ยื่นคำขอเข้าร่วมภายในวันที่ 29 พ.ค.2568

จากนั้น จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ค. - 5 มิ.ย.2568 ก่อนเสนอผลต่อคณะกรรมการ กสทช. เพื่อพิจารณา และแจ้งผลในช่วงวันที่ 6 - 13 มิ.ย.2568 โดยอุทธรณ์ผลการพิจารณาได้ในวันที่ 16, 17 และ 18 มิ.ย. 2568

เปิดไทม์ไลน์ประมูลคลื่นมือถือ 29 มิ.ย.นี้ กสทช. เคาะราคา 6 ความถี่

หลังจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 19 มิ.ย.2568 พร้อมจัดการประมูลจำลอง (Mock Auction) เพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่ 23 มิ.ย.2568 ก่อนเข้าสู่การประมูลจริงในวันที่ 29 มิ.ย.ดังกล่าว

กรอบงบประมาณในการจัดประมูล ได้กำหนดไว้แบ่งต้นที่ 70 ล้านบาท แบ่งเป็น

  1. ค่าใช้จ่ายสถานที่จัดการประมูล ค่าระบบคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างผู้บริการจัดการงานประมูล และค่าใช้จ่ายสำรองอื่นๆ  ค่าจ้างเหมาบริการเพื่อจัดงานด้านสถานที่ อาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวก 12 ล้านบาท,ค่าใช้จ่ายด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบกล้องวงจรปิด 3 ล้านบาท
  2. ค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ , ค่าจ้างผู้รับตรวจคุณสมบัติผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 5 ล้านบาท , ค่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 20 ล้านบาท
  3. ค่าใช้จ่ายในการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั้งก่อน และหลังการประมูล 30 ล้านบาท ,ค่าจ้างผลิต และเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประมูล ,ค่าจ้างผลิต และเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์คลิปประชาสัมพันธ์ข้อมูล ,ค่าจ้างผลิต และเผยแพร่ภาพยนตร์สั้นรูปแบบไวรัล ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการประมูลคลื่นความถี่

กรณีราคาตั้งต้นประมูลทั้ง 6 คลื่นที่ประชุมบอร์ด กสทช. ไม่มีได้การหยิบขึ้นมาหารือ

คาดว่าจะใช้ราคาประมูลตั้งต้นเดิมที่สำนักงาน กสทช.เสนอมา คือ การประมูลรวมทั้งสิ้น จำนวน 450 เมกะเฮิรตซ์ รวมราคาเริ่มต้นมีมูลค่า 121,026 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 6,609 ล้านบาท
  • คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 904 ล้านบาท
  • คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 6,219 ล้านบาท
  • ความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 12 ชุด ความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 3,391 ล้านบาท
  • ความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 497 ล้านบาท
  • ความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,675 ล้านบาท
  • ความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 100 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related