สธ.แถลงแจงประเด็นร้อนปม ไทยพาวิเลียน World Expo 2025 ใช้งบประมาณเกือบ 900 ล้าน ด้านผู้จัดโชว์สัญญาร่วมกับรัฐ ไม่มีเอี่ยวทุนจีน ส่วน สบส.ยืนยันไม่เคยได้รับเงินทอน
จากกรณีที่มีการตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ จำนวน 900 ล้านบาทที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุข ใช้จัดทำ Thailand Pavilion ภายในงาน World Expo 2025 ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. - 13 ต.ค. 2568 พร้อมกับประเด็นใหม่มากมายที่ผุดขึ้นมา ทำให้สังคมกังขาและต้องการคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
งาน World Expo 2025 ถือเป็นงานนิทรรศการระดับโลก จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยงานมหกรรมโลก (Bureau of Intemational Exposition: BIE) สำหรับปีนี้จัดขึ้น ณ นครโอชากา ประเทศญี่ปุ่น ในชื่อ Expo 2025 Osaka, Kansai, Japan
ล่าสุดวันนี้ 21 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ นายอุปถัมภ์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และกิจการค้าร่วม RMA110 แถลงข่าวประเด็นการจัดทำนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในงาน World Expo 2025 Osaka, Kansai ณ นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
นพ.โอภาส เปิดเผยว่า ตนเชื่อว่าทุกข้อมูลที่มีการตั้งคำถามทาง สธ. และ สบส. ยินดีเปิดเผยด้วยความโปร่งใสและมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์อยู่แล้ว แต่อาจด้วยเอกสารราชการ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจได้
สิ่งที่ตนอธิบายอันดับแรกคือ งาน World Expo จัดขึ้นทุก 5 ปี ตามวาระการจัดงาน ครั้งล่าสุดในปี 2020 จัดขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศไทยร่วมจัดด้วยงบประมาณ 1,200 ล้านบาท ส่วนครั้งนี้ที่ สธ. มีส่วนเข้าไปจัดงาน เพราะว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการภายใต้งบประมาณ 900 ล้านบาท สังเกตว่างบฯ ปีนี้ต่ำกว่าครั้งก่อนมาก
แม้จะเป็นการจัดในประเทศญี่ปุ่นที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ยืนยันว่าเป็นไปตามระเบียบราชการของประเทศไทย ส่วนความยุ่งยากอีกเรื่องคือ ต้องเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นและเมืองโอซาก้าด้วย ที่มีกฎหมายแรงงานเข้มงวด
ช่วงเตรียมการจัดงานในครั้งนี้เป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 คือช่วงปี 2020 ทำให้เกิดความยุ่งยาก ซับซ้อนของไทยและญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการต่างๆ ไปด้วยดี ด้วยเรื่องเนื้อหาการจัดงานที่มีการระบุว่า ดีไซน์เอกชน คอนเทนต์ราชการ ต้องนำเรียนว่าวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เรามีโจทย์ว่าคนทั้งโลกต้องได้เห็น ไม่ใช่แค่คนไทยทุกคนที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ไม่ใช่แค่ สธ. เราต้องการให้คนทั้งโลกดูศักยภาพโดยเฉพาะเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ และในยุคนี้เราต้องขายของได้ด้วย จึงเอามาสร้างเศรษฐกิจ พร้อมทั้งมีเป้าหมาย Business Matching เป้าหมายการสนับสนุนนวดไทย ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ที่อยากให้นวดไทยสร้างรายได้หลายแสนล้านบาท จะเห็นได้ว่ามีเป้าหมายในการสร้างคอนเทนต์อย่างชัดเจน เป็นเป้าหมายระยะสั้น กลางและยาว
สำหรับการจัดงานเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 13 เมษายน มีผู้เข้าชมนิทรรศการเฉลี่ยวันละ 10,000 คน เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งจะมีทีมประเมินการเข้าชม ทั้งด้านเนื้อหา ความสนใจ และ Business Matching ซึ่งมีทีมวิชาการในระดับมหาวิทยาลัยที่จะพูดคุยในรายละเอียดต่อไป
คนชื่นชมก็เยอะ โดยเฉพาะคนต่างชาติ คนญี่ปุ่น คนชาติตะวันตก หลายท่านคงได้เห็นภาพผ่านแพลตฟอร์ม Tik Tok หรือ Facebook ต่างๆ คนชมก็เยอะ คนติก็มี ทางผู้จัดงานคือ กระทรวงสาธารณสุขก็น้อมรับทั้งคำชม คำติ ผมเชื่อว่าคำติของท่าน เป็นสิ่งที่ดี ที่เราจะเอามาปรับปรุง แก้ไข หรือเพิ่มเติมเพื่อให้การจัดงาน Thailand Pavilion ที่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าภาพ เพื่อแสดงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อชาวโลก ถ้าเราช่วยกันเชื่อว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด
ด้าน นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดี สบส. กล่าวถึงประเด็นข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ว่า ไทม์ไลน์ตั้งแต่ครม.อนุมัติงบประมาณ 867,881,611 บาทเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 จากนั้น 27 เม.ย.2566 มีการกำหนดราคากลางครั้งแรกที่ 867,880,000 บาท โดยใช้วิธีการคัดเลือกแต่ครั้งแรกเอกสารไม่ครบถ้วนทั้ง 3 บริษัทที่เข้ามา โดยเอกสารที่ขาดคือ การแสดงผลงานในส่วนนานาชาติ จึงยกเลิกการจ้างครั้งที่ 1 เพราะไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2566 หลังจากนั้นวันที่ 18 พ.ค. 2566 กำหนดราคากลางใหม่วงเงินเท่าเดิม
ต่อมาวันที่ 29 มิ.ย.2566 มีบริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ( RMA110) จดทะเบียนตั้งบริษัท และกรมฯ ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา (วิธีการคัดเลือกครั้งที่ 2) คือ บริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ ด้วยวงเงิน 862 ล้านบาทเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2566 แต่ขณะนั้นมีการร้องเรียนจากบริษัทที่ไม่ได้รับการคัดเลือก และมีการยื่นอุทธรณ์ แต่ทางกรมบัญชีกลางได้ตอบข้อวินิจฉัยว่า กรมสนับสนุนฯ สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้
ทั้งนี้ ตามระเบียบสามารถทำได้ตามระเบียบพัสดุ และจำเป็นต้องใช้ราคาของบริษัทนั้นด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง คือวงเงิน 867,800,000บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่ถึง 1% และจากนั้นก็ประกาศให้ทางบริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด เป็นผู้ผ่านการคัดเลือก และขอยืนยันว่า ทางกรมสนับสนุนฯไม่ได้รับธุรกรรมใดๆจากบริษัท กิจการร่วมค้า แม้แต่เรื่องเดียว
นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ทแมน จำกัด และกิจการร่วมค้า RMA110 กล่าวว่า มีข้อสงสัยว่า บริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด เพิ่งเปิด แต่พอได้งานกลับปิด ไม่มีผลงานนั้น ขอชี้แจงว่า งานนี้เป็นงานต่างประเทศ ต้องใช้ผลงานประสบการณ์ที่เคยทำมา ซึ่งบริษัท ไร้ทแมน มีผลงานในต่างประเทศ ที่มิลาน ประเทศอิตาลี 2015 จึงมีการร่วมกันทำกับบริษัท สถาปนิก 110 จึงร่วมกันทำในรูปแบบ “บริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด”
หากดูไทม์ไลน์การประมูลครั้งที่ 1 วันที่ 22 เม.ย.2566 ที่มีจดหมายเชิญ และในวันที่ 16 ก.พ.2567 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยื่นงานทั้ง 3 ครั้ง ส่วนที่ว่าจดทำไม และต้องใช้ชื่อเดียวกัน ก็ต้องเรียนว่า การทำงานต่างประเทศต้องใช้นิติบุคคล และการจัดนิทรรศการในต่างประเทศ บางส่วนเอากลับมาได้ต้องเอากลับมา แต่จะทำได้จะมีระเบียบของกรมศุลกากร ซึ่งกิจการร่วมค้าไม่สามารถทำได้ เป็นเรื่องการบริหารภายใน ด้วยข้อจำกัดของกิจการร่วมค้าจะทำลักษณะข้างต้นไม่ได้ ต้องทำในรูปบริษัท เราจึงจัดตั้งขึ้น แต่ทางบัญชีให้คำปรึกษาว่า จะซ้ำซ้อนหลายขั้นตอน มีเรื่องภาษี จึงให้ใช้บริษัทใดบริษัทหนึ่งดำเนินการแทน ทำให้เรายกเลิกบริษัท กิจการร่วมค้าฯ
จากกรณีที่สส.พรรคประชาชนออกมาเผยข้อมูลว่าโครงการนี้อาจจะมีเรื่องของเงินทอน ระหว่างบริษัทเอกชนกับทางกรมหรือไม่ นพ.กรกฤช กล่าวว่าทางกรมขอยืนยัน เอกสารทุกอย่างเราดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด และสามารถตรวจสอบได้ ถ้าช่องทางหลักๆ เลยก็คือเว็บไซต์ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้
ในส่วนของเงินทอนนั้น ผมในฐานะเป็นผู้บริหารกรม เป็นรองอธิบดีขอยืนยันตรงนี้ว่าทางกรม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างใดๆ ในเรื่องของเงินทอน ผมยืนยันทุกวันนี้ แม้กระทั่ง การเดินทางยังไม่ให้เขามารับจากสนามบินเราไปเอง นั่งรถไฟไปและก็มีหลักฐานว่าผมนั่ง รถไฟจากสถานีคันไซมาที่บ้านพักด้วยตัวเอง ไม่มีการรับส่งใดๆ
ที่มา : hfocus
ข่าวที่เกี่ยวข้อง