SHORT CUT
“ภาษาจีนจะขึ้นแท่นภาษาสากลแทนอังกฤษได้จริงหรือ? เมื่อเศรษฐกิจจีนโต แต่อุปสรรคทางภาษาอาจยังสูงเกินก้าวข้าม”
ทุกวันนี้ ภาษาอังกฤษยังคงครองตำแหน่งภาษากลางของโลก ทั้งในด้านการสื่อสาร การศึกษา กฎหมาย การแพทย์ การเงิน และการค้าระหว่างประเทศ แม้แต่ในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ก็ยังมีการเรียนรู้และใช้งานภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย คำถามที่น่าสนใจก็คือ เหตุใดภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นภาษาสากลได้?
คำตอบนั้นย้อนกลับไปสู่ยุคของจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งได้แผ่ขยายอิทธิพลไปยังหลายพื้นที่ในเอเชียและแอฟริกา พร้อมกับการเผยแพร่ภาษาอังกฤษให้เป็นภาษากลางทางการค้าและการปกครอง จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้ ภาษาอังกฤษได้เติบโตขึ้นผ่านสิ่งที่เรียกว่า “Snowball Effect” หรือผลสะสมอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นภาษาที่ใช้ในโรงเรียน ที่ทำงาน และแม้แต่บนโลกอินเทอร์เน็ต
แต่ในขณะเดียวกัน “ภาษาจีน” โดยเฉพาะภาษาจีนกลาง (Mandarin) ก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับโลก ทั้งจากบทบาททางเศรษฐกิจของจีน และการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคธุรกิจ จึงเกิดคำถามใหม่ขึ้นว่า เป็นไปได้แค่ไหนที่ “ภาษาจีนจะสามารถแทนที่อังกฤษในฐานะภาษาสากล?”
จากเว็บไซต์ Statista พบว่า ปี มีจำนวนผู้พูดภาษาจีนถึงประมาณ 1.31 พันล้านคนทั่วโลก ภาษาจีนถือเป็นหนึ่งภาษาที่มีผู้พูดมากที่สุดในโลก เมื่อประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในหลากหลายภาคส่วน เช่น การบิน เกษตรกรรม ยานยนต์ การแพทย์ เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงาน ทำให้ภาษาจีนได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในภาษาที่เหมาะสำหรับธุรกิจระดับโลก
แม้ภาษาจีนจะถือว่าเรียนรู้ยากกว่าภาษาอังกฤษเพราะไม่มีระบบเสียงหรือตัวอักษรแบบภาษาอังกฤษ แต่ใช้สัญลักษณ์ที่สื่อความหมายโดยตรง (logographic) แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากทั่วโลกให้ความสนใจเรียนรู้ภาษานี้ เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสในอนาคต
ที่สำคัญ แม้ผู้พูดภาษาอังกฤษจะมีถึง 1.5 พันล้านคน (ทั้งเจ้าของภาษาและผู้เรียน) แต่เมื่อเทียบกับจำนวน “เจ้าของภาษา” แล้ว ภาษาจีนกลับมีผู้พูดที่เป็นเจ้าของภาษามากกว่า และแนวโน้มความต้องการใช้งานภาษาจีนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเป้าหมายทำงานในองค์กรระดับสากล หรืออยากมีโอกาสร่วมงานกับภาคธุรกิจของจีน การค้าระหว่างประเทศ และการทูต ซึ่งกำลังเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วบนเวทีโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ภาษาจีนจะมีศักยภาพในการเติบโตเป็นภาษาสากล และมีจุดแข็งทั้งในแง่เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการใช้งานจริง แต่การแทนที่ภาษาอังกฤษในระดับโลกนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ในเวลาอันสั้นแน่นอน เพราะระบบระเบียบและการสื่อสารระดับนานาชาติส่วนใหญ่ยังคงผูกติดอยู่กับภาษาอังกฤษ หากจะเปลี่ยนแปลง ก็อาจต้องใช้เวลาเป็นสิบปีในการปรับตัว
ยิ่งไปกว่านั้น ภาษาจีนยังมีข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความยากในการเรียนรู้ของชาวต่างชาติ ระบบอักษรที่ซับซ้อน รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าแม้แต่ภายในประเทศจีนเอง ภาษาจีนกลางยังไม่ใช่ภาษาที่ใช้กันอย่างครอบคลุมทุกภูมิภาค นอกจากนี้ หลายประเทศเพื่อนบ้านของจีนอย่างญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก็ยังมีความกังวลต่ออิทธิพลของจีน และจึงเลือกใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการในองค์กรระหว่างประเทศแทน
อีกทั้งภาษาอังกฤษยังได้เปรียบในฐานะเป็นภาษาของเทคโนโลยี สื่อบันเทิง และวัฒนธรรมร่วมระดับโลก เนื่องจากไม่มีความซับซ้อนทางไวยากรณ์เรื่องเพศหรือระดับชั้นเหมือนในภาษายุโรปหรือเอเชียหลายภาษา ความเป็นกลางทั้งทางภาษาศาสตร์และการเมืองจึงทำให้ภาษาอังกฤษเหมาะสมที่จะเป็น “ภาษากลาง” ของโลกในระยะยาว
ถึงกระนั้น การเติบโตของภาษาจีนก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และในอนาคต เราอาจได้เห็นโลกที่มีภาษาสากลมากกว่าหนึ่งภาษาก็เป็นได้?
ที่มา : Time
ข่าวที่เกี่ยวข้อง