SHORT CUT
เขียนต้านทุจริตแค่บังหน้า? เปิดพิรุธ ACTถูกกีดกันโดย “ไอ้โม่ง” ปริศนา ก่อนได้ผู้รับเหมาจีนสร้างตึก สตงพบ บ.จีนเดียวกันสร้างตึก สทนช. มูลค่า 700 ลบ. อีกแห่ง!
เนชั่นทีวี เปิดโปงข้อมูลสำคัญเจาะลึกเกี่ยวกับ “โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พร้อมอาคารประกอบ” ที่เกิดเหตุพังถล่มจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68
โดยได้สัมภาษณ์ “ดร.มานะ นิมิตรมงคล“ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ยืนยันว่า ข้ออ้างที่ว่า โครงการนี้ผ่านการรับรอง “ข้อตกลงคุณธรรม” หรีอ Integrity Pact นั้น ไม่เป็นความจริง!!
ดร.มานะ กล่าวว่า สตง. เป็นผู้ร้องขอให้ ACT ส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาในโครงการนี้เอง เป็นความตั้งใจอย่างแท้จริงของ สตง. เนื่องจาก สตง.มีหน้าที่ตรวจสอบผู้อื่น จึงต้องทำเป็นแบบอย่างที่ดี และโครงการที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านบาท จะต้องมี "ข้อตกลงคุณธรรม" มาช่วยถ่วงดุลโดยองค์กรภาคประชาชน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ.ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ ACT นำแนวคิดมาจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ
แต่เรื่องจริงไม่เป็นแบบนั้น!! เพราะ ACT ไม่ได้เข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่ต้น ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการร่าง TOR ผลคือ “ผู้สังเกตการณ์” ได้เริ่มปฎิบัติหน้าที่หลังจาก สตง. คัดเลือกผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน และมี TOR พร้อมแบบก่อสร้างแล้ว เพราะ “โครงการนี้ไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐให้เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรม" และน่าสังเกตว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาโครงการที่รัฐเลือกเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมกลับมีขนาดและความสำคัญน้อยลงเหลือไม่ถึง 1 ใน 3
"แม้ว่าตามกฎหมายจะเขียนให้โครงการที่มูลค่ามากกว่าพันล้านเข้าร่วมโครงการ แต่ในความจริงมีเพียง 17-18 โครงการเท่านั้นที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ และมูลค่าเหลือน้อยมาก ไม่ใช่ Mega Project ลำดับต้นๆของประเทศ" ดร.มานะ กล่าว
กระบวนการเดินหน้าโครงการที่ผิดปกติ มีปัญหาล่าช้า อุบัติเหตุเครนก่อสร้างถล่มทับคนงานเดือน ก.พ.66 และปัญหาอื่นๆ ทำให้ สตง.เคยส่งสัญญาณว่าจะพิจารณายกเลิกสัญญาก่อสร้างเมื่อเดือน ม.ค. 68 ที่ผ่านมาไม่นานก่อนเกิดเหตุนี้เอง
เมื่อถามว่าความผิดปกตินี้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลทหารหรือไม่ ดร.มานะ กล่าวว่า "เป็นไปได้ เพราะถ้าทุกคนเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศจริง ต้องเอาโครงการใหญ่ลำดับต้นๆของประเทศมาให้ตรวจสอบ" และที่ผ่านมาเคยมีโครงการเกี่ยวกับทหารที่เข้าข้อตกลงคุณธรรมไปแล้ว แต่ออกมาภายหลังเลยก็มี! เพราะเกิดการตีความใหม่ว่าโครงการลักษณะนั้นไม่ต้องทำ
หรือโครงการโรงกำจัดขยะของ กทม.เมื่อหลายปีก่อน เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรมแล้วก็ตีออก เพราะตีความใหม่ว่า "เรื่องการจัดการขยะ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม พรบ.จัดซื้อจัดจ้างก็ได้" เป็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นจริงๆ
การประกวดราคาโครงการนี้ มีผู้ซื้อซอง 17 ราย ยื่นซองจริง 7 ราย ผ่านคุณสมบัติ 4 ราย แล้วเข้าเสนอราคา 7 ราย แสดงว่ามีบริษัทที่พร้อมสร้างอาคารนี้มากถึง 7 ราย แต่รายได้ชนะประมูล คือกิจการร่วมค้า ITD&CREC
ซึ่งบริษัททุนจีนที่เข้าร่วมก่อสร้าง จดทะเบียนจัดตั้ง 10 ส.ค.2561 มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือ "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี" จากประเทศจีน อหุ้นในสัดส่วน 49% สูงสุดที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ และผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย ประกอบด้วย นายโสภณ มีชัย 40.80% นายประจวบ ศิริเขตร 10.20% นายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้นเพียง 3 หุ้น
ซึ่งผู้ถือหุ้นชาวไทยทั้ง 3 คน มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่นอีกหลายบริษัท แต่แทบไม่เกี่ยวข้องกับกิจการก่อสร้างอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เลย ส่วนใหญ่ถือหุ้นในบริษัท อี-คอมเมิร์ซ มีบางคนถือหุ้นในบริษัทจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
เพจ CSILA เปิดข้อมูลอีกว่า บริษัทจีนชื่อเดียวกันนี้ (บจ. ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10(ประเทศไทย) ) ได้เข้าร่วม "กิจการร่วมค้า" กับ บมจ.เนาวรัตพัฒนาการ ในชื่อ กิจการร่วมค้า NCRCC ลงนามสัญญาก่อสร้าง "สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)" มูลค่า 716 ล้านบาท บนพื้นที่ราชพัสดุขนาด 14 ไร่ ที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ด้วย