เปิดโครงสร้างการถือหุ้น "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10" พันธมิตร ITD ผู้รับเหมาสร้างอาคารสตง. ถล่ม หลังเหตุแผ่นดินไหว มูลค่า 2.1 พันล้านบาท พบทุนจีนถือหุ้นเต็มเพดาน 49%
กรณีเกิดเหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” อย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีศูนย์กลางที่เมียนมา ส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างหนักในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ประชาชนได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความโกลาหลอย่างหนัก รวมถึงทำให้อาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างบริเวณ ถ.กำแพงเพชร เขตจตุจักร เกิดพังถล่มลงมา
อาคารแห่งนี้ พบว่า เป็นอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ สูงราว 30 ชั้น ใช้งบประมาณแผ่นดิน 2,136 ล้านบาท ตั้งบนเนื้อที่ 11 ไร่ บริเวณย่านการค้าตลาดนัดจตุจักร ใกล้ MRT กำแพงเพชร ติดสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ) ตรงข้ามศูนย์การค้า JJ MALL ที่กำลังก่อสร้างถึงชั้นบนสุดแล้ว
ด้านนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษก สตง. แถลงว่า ปัจจุบันโครงการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้ว 30% ของแผนการดำเนินงาน โดยขณะนี้อยู่หน้างาน และกำลังตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
จากรายงานของกรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า ข้อมูลเชิงลึกการก่อสร้างอาคารแห่งนี้ มีการเสนอใช้งบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารหลังนี้ตั้งแต่ปี 2550 โดย สตง.ทำหนังสือถึง ครม.เพื่อขออนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอาคารหลังนี้ ระบุรายละเอียดของเรื่องว่า เดิม สตง.ได้รับอนุมัติรายการค่าก่อสร้างและเพิ่มวงเงินในการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 4 รายการ
ต่อมา สตง.ได้ลงนามจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตามสัญญาเลขที่ 021/2564 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2563 จ้างกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด) ก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ พร้อมสิ่งก่อสร้าง ประกอบ จํานวนเงิน 2,136 ล้านบาท
สตง. ได้จ้างผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง ตามสัญญาเลขที่ 024/2564 ลงวันที่ 14 มกราคม 2564 จ้างกิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด, บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และ บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จํากัด) ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ จํานวนเงิน 74,653,000 บาท ซึ่งได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่ 15 ม.ค. 2564 กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน ซึ่งจะครบกำหนดสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 โดยขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันเป็นปีงบประมาณ 2563 - 2569
อย่างไรก็ดี สตง.ได้ขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง 155 วัน ทำให้ครบกำหนดสัญญาในวันที่ 3 มิ.ย. 2567 ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
เนื่องจากผู้ให้บริการควบคุมงานเริ่มงานถัดจากวันส่งมอบพื้นที่ 7 วัน ทำให้ค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้างที่ สตง.จะต้องจ่ายเพิ่มเติมจากสัญญาเป็นจำนวน 148 วัน (นับตั้งแต่ 8 ม.ค. 2567-3 มิ.ย. 2567) โดยมีอัตราค่าจ้างวันละ 65,667 บาท รวมเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 4,718,716 บาท
สตง.ชงที่ประชุม ครม.เมื่อ 17 ธ.ค. 2568 ต่อมา 13 ก.พ. 2568 ครม.มีมติว่า อนุมัติเพิ่มวงเงินรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคาร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ จากเดิมวงเงิน 76,800,000 บาท เป็นวงเงิน 84,371,916 บาท
โดย สตง.ได้ขยายระยะเวลาก่อสร้างอาคาร จํานวน 155 วัน ทําให้ระยะเวลาก่อสร้างขยายจาก 1,080 วัน (วันที่ 31 ธ.ค. 2566) เป็น 1,235 วัน ส่งผลต่อสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง จะต้องมีค่าจ้างเพิ่มเติมจากเดิมอีก 148 วัน (ผู้ให้บริการ ควบคุมงานเริ่มงานถัดจากวันส่งมอบพื้นที่ 7 วัน) เป็นจํานวนเงิน 9,718,716 บาท
ดังนั้นเมื่อรวมกับวงเงินในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง จํานวน 74,653,200 บาท รวมเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 84,371,916 บาท ซึ่งจํานวนเงินที่จะต้องใช้ในการจ้างควบคุมงานเนื่องจากการขยายระยะเวลา ตามนัยข้อ 7 (3) ของระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
สำหรับงานก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่ วงเงิน 2.1 พันล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด) ถูกแจ้งเลขทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 0993000489811 มีรายละเอียดดังนี้
ยักษ์ใหญ่บริษัทรับเหมาก่อสร้างระดับโครงสร้างพื้นฐานของไทย ของคนตระกูล “กรรณสูต” จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อ 24 มี.ค. 2537 ทุนปัจจุบัน 6,337,920,861 บาท ชำระแล้ว 5,279,868,944 บาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 2034/132-161 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างทำของ มีกรรมการ 9 คน ได้แก่ นายเปรมชัย กรรณสูต นางนิจพร จรณะจิตต์ นายไผท ชาครบัณฑิต นายวิลเลี่ยม ลี เซนท์กราฟ นายปีติ กรรณสูต นายธรณิศ กรรณสูต นายไส้ หว่า ไซม่อน ซุน นายภิญโญ มีชำนะ นายวิรัช ก้องมณีรัตน์
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อปี 2566 เปรมชัย กรรณสูต ถือหุ้นใหญ่ 11.9% นิจพร จรณะจิตต์ ถือ 6.64% บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด (บริษัทลงทุนของ ตลท.) ถือ 3.32% SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED ถือ 2.05% N.C.B.TRUST LIMITED-POLUNIN EMERGING MARKETS SMALL CAP FUND, LLC ถือ 1.10% นางวลัยทิพย์ พิริยะวรสกุล ถือ 0.95% นายไชยา สกุลชัยวาณิชย์ ถือ 0.89% น.ส.จิตราพรรณ จรณะจิตต์ ถือ 0.87% นายปัณณกุนท์ วัฒนาอุดม ถือ 0.80% น.ส.ปราชญา กรรณสูต ถือ 0.74% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยถือรวมกัน 70.74%
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 89,251,986,000 บาท หนี้สินรวม 80,963,771,000 บาท รายได้รวม 31,234,773,000 บาท รายจ่ายรวม 29,075,690,000 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 2,176,786,000 บาท เสียภาษีเงินได้ 177,171,000 บาท ขาดทุนสุทธิ 194,874,000 บาท
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2561 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ เกี่ยวกับการบริการด้านการทรัพยากรมนุษย์และรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำการ ทางรถไฟ ทางรถสาธารณะ ทางรถไฟฟ้าใต้ดิน กรรมการ 2 คน ได้แก่ นายชวนหลิง จาง นายโสภณ มีชัย
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2567 ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี (สัญชาติจีน) ถือหุ้นใหญ่สุด 49% โสภณ มีชัย ถือ 40.8% ประจวบ ศิริเขตร ถือ 10.2% มานัส ศรีอนันท์ ถือ 3 หุ้น
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 2,804,535,819 บาท หนี้สินรวม 2,952,877,175 บาท รายได้รวม 206,253,951 บาท รายจ่ายรวม 354,955,976 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 50,967,848 บาท ขาดทุนสุทธิ 199,669,872 บาท
ส่วนผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง วงเงิน 74.6 ล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และ บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จํากัด) มีรายละเอียดดังนี้
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2554 ทุนปัจจุบัน 8 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 63/123 หมู่ที่ 12 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง บริการรับเป็นที่ปรึกษา บริหารสัญญาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับด้านการบริหารงานก่อสร้าง กรรมการ 3 คน นายปฏิวัติ ศิริไทย นางพรรณนภา ศิริไทย นายนัฏพร กฤษฎานุภาพ
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ ม.ค. 2567 ปฏิวัติ ศิริไทย ถือหุ้นใหญ่สุด 99.25% พรรณนภา ศิริไทย ถือ 0.75%
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อ 2566 สินทรัพย์รวม 18,944,740 บาท หนี้สินรวม 1,033,942 บาท รายได้รวม 21,468,991 บาท รายจ่ายรวม 19,819,241 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 2,369 บาท เสียภาษีเงินได้ 395,295 บาท กำไรสุทธิ 1,252,084 บาท
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2526 ทุนปัจจุบัน 4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 55 ซอยรามคำแหง 18 (แม้นเขียน 3) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ ออกแบบ ปรึกษาและควบคุมงานทางวิศวกรรม กรรมการ 3 คน นายโชควิชิต ลักษณากร นายพลเดช เทอดพิทักษ์วานิช นางปราณีต แสงอลังการ
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ ม.ค. 2568 โชควิชิต ลักษณากร ถือหุ้นใหญ่สุด 60% พิมลดา ลักษณากร ถือรองลงมา 30% วิชัย ลักษณากร ถือ 5% วิทู รักษ์วนิชพงศ์ ถือ 5%
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2567 สินทรัพย์รวม 25,344,337 บาท หนี้สินรวม 7,811,284 บาท รายได้รวม 48,332,198 บาท รายจ่ายรวม 44,393,501 บาท เสียภาษีเงินได้ 919,608 บาท กำไรสุทธิ 3,019,087 บาท
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2548 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 76/2 ถนนรามคำแหง แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ รับเหมาก่อสร้าง ออกแบบก่อสร้างรับปรึกษางานก่อสร้าง กรรมการ 4 คน นายกฤตภัฏ ปล่องกระโทก นายศิริศักดิ์ วดีศิริศักดิ์ นายมนตรี สุดรักษ์ นายณัฐวุฒิ เลิศศรีดำรงกุล
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ ส.ค. 2566 กฤตภัฏ ปล่องกระโทก ถือหุ้นใหญ่สุด 52.5% ณัฐวุฒิ เลิศศรีดำรงค์กุล ถือ 12.5% มนตรี สุดรักษ์ ถือ 12.5% ศิริศักดิ์ วดีศิริศักดิ์ ถือ 12.5% พนิดดา พิทักษ์เกียรติยศ ถือ 10%
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 72,675,967 บาท หนี้สินรวม 62,718,649 บาท รายได้รวม 25,816,076 บาท รายจ่ายรวม 21,658,392 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 1,304,613 บาท เสียภาษีเงินได้ 688,111 บาท กำไรสุทธิ 2,164,958 บาท
โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร สตง. ที่ถล่ม ซึ่งข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือ "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี" จากประเทศจีน ถือหุ้นในสัดส่วน 49% คิดเป็นจำนวน 490,000 หุ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนการถือหุ้นสูงสุดที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้
ส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยประกอบด้วย "นายโสภณ มีชัย" ถือหุ้นในสัดส่วน 40.80% คิดเป็นจำนวน 407,997 หุ้น และ "นายประจวบ ศิริเขตร" ถือหุ้น 10.20% คิดเป็นจำนวน 102,000 หุ้น ส่วนที่เหลือเป็นของ "นายมานัส ศรีอนันท์" ถือหุ้นเพียง 3 หุ้น คิดเป็น 0.00%
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง