SHORT CUT
สวัสดี คำทักทายแบบไทย มรดกของ จอมพล ป. ส่งต่อถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมที่ติดปากแต่น้อยคนจะรู้ว่าใครเป็นผู้คิดค้นและประกาสใช้
คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายที่คนไทยใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สะท้อนถึงความปรารถนาดีและความเป็นมงคล แต่เบื้องหลังความเรียบง่ายของคำทักทายนี้ มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะบทบาทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ประกาศให้ใช้คำ "สวัสดี" อย่างเป็นทางการ SPRiNG จะพาผู้อ่านไปสำรวจต้นกำเนิดของคำ "สวัสดี" รวมถึงการประกาศใช้ครั้งแรกโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และความสำคัญของคำ ๆ นี้ต่อสังคมไทย
ผู้ให้กำเนิดคำว่า "สวัสดี" คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ท่านได้บัญญัติคำนี้ขึ้นจากคำว่า "โสตถิ" ในภาษาบาลี หรือ "สวัสดิ" ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีความหมายว่า ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้เริ่มใช้คำว่า "สวัสดี" ครั้งแรกในหมู่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณปี พ.ศ. 2477-2478 โดยท่านต้องการให้คำนี้เป็นคำทักทายที่ใช้แทนคำทักทายแบบเดิมที่ไม่มีรูปแบบเฉพาะ ในจดหมายลาป่วยของท่านที่ส่งถึงนิสิต ท่านได้เขียนถึงความปลาบปลื้มใจทุกครั้งที่ได้ยินนิสิตกล่าวคำ "สวัสดี" และขอให้นิสิตใช้คำนี้ทักทายท่านเสมอ ไม่ว่าจะพบกันที่ใด เหตุการณ์ที่นำไปสู่การประกาศใช้คำว่า "สวัสดี"
แต่ก่อนที่จะมีการใช้คำว่า "สวัสดี" คนไทยในสมัยก่อนไม่มีคำทักทายที่ตายตัว มักใช้คำทักทายที่มาจากความรู้สึกจากใจ บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง เช่น "ฉันไหว้จ้ะ" "มาแต่เช้าเชียว" "ลมอะไรหอบมาล่ะพ่อ" "ไปไหนมาล่ะ" "นี่กินข้าวกินปลามาหรือยัง" การทักทายส่วนใหญ่จะเป็นกิริยาอาการทำความเคารพ เช่น การไหว้ ต่อมา เจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียง ของกรมโฆษณาการ ได้ใช้คำว่า "ราตรีสวัสดิ์" ลงท้ายคำพูดเมื่อจบการกระจายเสียงตอนกลางคืน โดยอนุโลมตามคำว่า "Goodnight" ของอังกฤษ แต่มีผู้ไม่เห็นด้วย ทางราชการจึงขอให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น (ปัจจุบัน คือกระทรวงศึกษาธิการ) ช่วยคิดหาคำให้ ในที่สุด กรรมการชำระปทานุกรมและกรรมการโปรแกรมวิทยุกระจายเสียงก็ได้เลือกใช้คำว่า "สวัสดี" ที่พระยาอุปกิตศิลปสาร บัญญัติไว้
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายสำคัญคือการมุ่งพัฒนาประเทศไทย ให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ ท่านได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย "รัฐนิยม" เพื่อปลุกระดมให้คนไทยรักชาติ รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศให้ใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 โดยกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ออกข่าวประกาศการใช้คำ "สวัสดี"
"สวัสดี" เป็นคำทักทายที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย และมีความหมายที่ดี เป็นคำมงคลที่แสดงถึงความปรารถนาดีให้ผู้ฟังมีความสุข ความเจริญ การใช้คำ "สวัสดี" แสดงถึงวัฒนธรรมไทย ความสุภาพ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน "สวัสดี" เป็นคำทักทายที่ใช้ได้ทั้งเมื่อพบกันและจากกัน การยกมือไหว้ประกอบกับการกล่าวคำ "สวัสดี" ยิ่งเสริมความงดงาม ความเคารพ และความเป็นมงคล คนไทยนิยมใช้ดอกบัวในการสักการะผู้ใหญ่ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การยกมือไหว้ประณม มือทั้งสองประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม จึงเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าการทักทายนั้นมาจากใจจริง
คำว่า "สวัสดี" ไม่เป็นเพียงแค่คำทักทายธรรมดา แต่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทย ที่สะท้อนถึงความปรารถนาดี ความเคารพ และความเป็นมงคล การริเริ่มใช้คำนี้โดยพระยาอุปกิตศิลปสาร และการประกาศใช้โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำให้ "สวัสดี" กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทย และเป็นมรดกทางภาษาที่ทรงคุณค่า ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และส่งสืบไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน
อ้างอิง