SHORT CUT
ประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้เต็มไปด้วยช่วงเวลาอันมืดมนภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ เริ่มตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงการปกครองแบบเผด็จการของพัคจุงฮี ระบอบการปกครองเหล่านี้ใช้อำนาจปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน
ประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประชาชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจูในปี 1980 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ แม้จะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่นี่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการลุกฮือในเดือนมิถุนายน 1987 ที่นำไปสู่การสิ้นสุดระบอบเผด็จการทหาร และการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย
ประสบการณ์อันขมขื่นจากอดีต ทำให้ชาวเกาหลีใต้ตระหนักถึงคุณค่าของประชาธิปไตย และพร้อมจะลุกขึ้นต่อสู้เมื่อเผชิญกับภัยคุกคาม แม้ภัยคุกคามนั้นจะมาจากผู้นำประเทศเองก็ตาม พวกเขาเรียนรู้ว่าเผด็จการ ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ล้วนนำมาซึ่งความสูญเสีย
เกาหลีใต้กลัวภัย “เผด็จการ” มากกว่า “คอมมิวนิสต์” เพราะเผด็จการนอกบ้านน่ากลัวกว่าคอมมิวนิสต์มากกว่าหลายเท่าตัว
ภัยคอมมิวนิสต์ หรือ จะสู้ภัยเผด็จการ คำคำนี้อาจไม่เกินจริงในเกาหลีใต้ ประเทศที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกว่าจะได้ประชาธิปไตยมา ประชาชนต้องเสียเลือดเนื้อต่อสู้กับทั้ง จีน ญี่ปุ่น หรือรัฐบาลเผด็จการที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลัง
ถึงแม้เกาหลีใต้จะมีประเทศเพื่อนข้ามอย่างเกาหลีเหนือรวมถึงจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ รวมถึงสหภาพโซเวียต ที่เคยยิ่งใหญ่ก็อยู่ใกล้เคียง แต่บาดแผลรอยลึกที่ฝังอยู่ในใจ ไม่ได้เจ็บปวดจากคอมมิวนิสต์เท่ากับเผด็จการ ที่กลายเป็นแผลเป็นจนยากจะลืมเลือน
ถึงแม้เกาหลีจะหลุดพ้นจากการเป็นรัฐบรรณาการของจีน แต่ภายใต้อาณาจักรโชซอนก็ยังถูกประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น
ช่วงเวลาที่เกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1910 หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาผนวกดินแดนญี่ปุ่น-เกาหลี ในช่วงเวลานี้ อำนาจของราชวงศ์เกาหลีถูกริบไปอย่างสิ้นเชิง และจักรพรรดิญี่ปุ่นกลายเป็นประมุขของเกาหลี ญี่ปุ่นได้จัดตั้งรัฐบาลข้าหลวงใหญ่ขึ้นเพื่อปกครองเกาหลี โดยส่วนใหญ่แล้วผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นในเกาหลีจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้
นับตั้งแต่นั้นมาเกาหลีก็ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นไป 30 กว่าปี จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงจะได้รับเอกราช
ไม่เพียงแต่จะตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ชาวเกาหลีกลับกลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ในประเทศของตนเอง ทรัพยากรก็ถูกดูดไปป้อนกองทัพญี่ปุ่นในการทำสงคราม ขณะที่ชาวเกาหลีถูกเผด็จการญี่ปุ่นกดขี่จนทำให้พวกเขาอดตาย สิ่งนี้กลายเป็นบาดแผลกลัวเผด็จการและญี่ปุ่นที่ฝังอยู่ในใจของชาวเกาหลีเรื่อยมา
ภายหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามแทนที่เกาหลีจะได้รับเอกราชและรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายใต้การกำหนดทิศทางประเทศโดยชาวเกาหลี และเพื่อชาวเกาหลีเอง แต่กลับโดนชาติตะวันตกแบ่งเค้กปกครอง แบ่งเกาหลีออกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่เส้นขนานที่ 38 นับตั้งแต่นั้นมาทำให้ชาวเกาหลีที่เป็นญาติพี่น้อง ต้องแยกออกจากกัน
โดยเกาหลีเหนือปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ขณะที่เกาหลีใต้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ช่วงแรกของเกาหลีใต้กลับเต็มไปด้วยกลิ่นอายของเผด็จการที่ทำให้ชาวเกาหลีใต้ เข็ดและจำฝังใจ
ช่วงแรกประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ถูกกำหนดโดยช่วงเวลาของการปกครองแบบเผด็จการ
จากปี 1945 ถึง 1948 เกาหลีใต้อยู่ภายใต้การปกครองของ USAMGIK หนุนหลัง อี ซึงมัน รัฐบาลเผด็จการพลเรือน แม้ว่า USAMGIK มีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับภาคใต้ แต่นโยบายของรัฐบาลกลับทำให้เกิดความตึงเครียดและความไม่สงบทางการเมือง การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่จะไม่ยอมรับรัฐบาลเฉพาะกาลของสาธารณรัฐเกาหลีหรือสาธารณรัฐประชาชนเกาหลีทำให้เกิดความแตกแยกทางอุดมการณ์ นโยบายของ USAMGIK มีส่วนสำคัญต่อการแบ่งแยกเกาหลี และการที่รัฐบาลทหารปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงตอบโต้การลุกฮือในช่วงเวลานี้ทิ้งรอยแผลเป็นที่ยั่งยืน การลุกฮือที่สำคัญในช่วงเวลานี้
ได้แก่การลุกฮือในฤดูใบไม้ร่วงปี 1946 ความไม่สงบในเมืองแทกู ซึ่งตำรวจสังหารผู้ประท้วง ทำให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงทั่วทั้งภูมิภาค เหตุการณ์นี้เกิดจากความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ ความไม่มั่นคงทางการเมือง และความไม่พอใจต่อนโยบายของสหรัฐฯ
ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ อี ซึงมัน เกิดการลุกฮือที่เชจู (1948-1949) การกบฏของฝ่ายซ้ายปะทะกับกองกำลังรัฐบาล ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตหลายพันคน ประชาชนบนเกาะเชจูคัดค้านการเลือกตั้งที่พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้การแบ่งแยกเกาหลีแข็งแกร่งขึ้น
อี ซึงมัน มีความเป็นเผด็จการอย่างมาก ภายใต้รัฐบาลของเขาได้ทำการปราบปรามทางการเมืองกับฝ่ายเห็นต่างอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันมีการฉ้อโกงการเลือกตั้ง และการพึ่งพาความช่วยเหลือของสหรัฐฯ เหตุการณ์สำคัญในยุคนี้ ได้แก่
การสังหารหมู่ที่มุงยอง (1949) กองทัพเกาหลีใต้ภายใต้การสั่งการของ อี ซึงมัน สังหารพลเรือนราว 400 คนที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุนคอมมิวนิสต์
ในช่วงสงครามเกาหลี (1950-1953) ความขัดแย้งที่ทำลายล้างระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาตามลำดับ สงครามสิ้นสุดลงด้วยการสงบศึก แต่คาบสมุทรยังคงแบ่งแยก
หรือเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่ลีกโบโด (1950) รัฐบาล อี ซึงมัน ได้ทำการสังหารหมู่พลเรือนหลายหมื่นคนที่ต้องสงสัยว่าเห็นอกเห็นใจคอมมิวนิสต์โดยกองกำลังเกาหลีใต้ รวมไปถึงการกำจัดฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคอมมิวนิสต์ด้วย ทำให้ประชาชนหลายคนเสียชีวิตจากการตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร
จนกระทั่งการปฏิวัติเดือนเมษายน (1960) การประท้วงครั้งใหญ่ที่เกิดจากการฉ้อโกงการเลือกตั้งและความรุนแรงของรัฐ นำไปสู่การลาออกของ อี ซึงมัน และสิ้นสุดสาธารณรัฐที่หนึ่ง
สาธารณรัฐที่สอง ถือเป็นการทดลองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาช่วงสั้นๆ (1960-1961)
โดยสาธารณรัฐที่สองก่อตั้งขึ้นหลังการปฏิวัติเดือนเมษายน มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่มีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐนี้กินเวลาเพียง 13 เดือน ต้องสะดุดลง เพราะถูกยกเลิกโดยรัฐประหารที่นำโดยพัคจุงฮีในปี 1961
ยุคการปกครองโดยทหารของเกาหลีใต้ เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการปราบปรามทางการเมือง (1961-1987)
การรัฐประหารของพัคจุงฮีในวันที่ 16 พฤษภาคม 1961 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคการปกครองโดยทหารที่ดำเนินมาเกือบสามทศวรรษ ช่วงเวลานี้โดดเด่นด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่มาพร้อมกับการปราบปรามทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สาธารณรัฐที่สาม (1963-1972) พัครวบรวมอำนาจผ่านพรรคเดโมแครตรีพับลิกัน โฟกัสไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจและการต่อต้านคอมมิวนิสต์ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้นผ่านแผนห้าปีและการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก
สาธารณรัฐที่สี่ (1972-1981) พัคเสริมความแข็งแกร่งให้กับการควบคุมเผด็จการผ่านรัฐธรรมนูญยูชิน ปราบปรามฝ่ายค้าน และรวมอำนาจบริหารไว้ที่ศูนย์กลาง การประท้วงของนักศึกษา การนัดหยุดงานของแรงงาน และความไม่สงบในบ้านเมืองกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเมื่อคำมั่นสัญญาของรัฐบาลที่จะทำให้เป็นประชาธิปไตยไม่เป็นผล
การลอบสังหารพัคจุงฮี (1979) การลอบสังหารพัคโดยคิม แจกยู ผู้อำนวยการ KCIA นำไปสู่ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการรัฐประหารติดต่อกัน
รัฐประหารวันที่ 12 ธันวาคม 1979 และรัฐประหารวันที่ 17 พฤษภาคม 1980 นำโดยชุน ดูฮวาน ยึดอำนาจทางทหารและทำให้เกาหลีใต้ตกอยู่ในความไม่มั่นคง
การลุกฮือที่กวางจู (1980) การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลของชุน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน เหตุการณ์นี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้
สาธารณรัฐที่ห้า (1981-1987) ชุน ดูฮวาน ขึ้นสู่อำนาจ แม้ว่าจะมีเสรีภาพจำกัดบางอย่าง แต่รัฐบาลของเขายังคงรักษาองค์ประกอบเผด็จการไว้หลายประการ การลุกฮือในเดือนมิถุนายน 1987 บังคับให้ระบอบการปกครองของชุนเปิดทางให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ
สาธารณรัฐที่หก ประชาธิปไตยและยุคสมัยใหม่ (1988-ปัจจุบัน)
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเดือนมิถุนายน 1987 นำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐที่หก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ยุคนี้โดดเด่นด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของวัฒนธรรมป๊อป (K-pop) และความพยายามในการปรองดองกับเกาหลีเหนือ
จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์เกาหลีใต้เต็มไปด้วยช่วงเวลาแห่งความมืดมนภายใต้ระบอบเผด็จการที่โหดร้าย ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา จนถึงการปกครองแบบเผด็จการ พัคจุงฮี ระบอบการปกครองเหล่านี้ใช้อำนาจปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน
แต่ในทางกลับกันประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประชาชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะประชาธิปไตยในเดือนมิถุนายน 1987 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การสิ้นสุดระบอบเผด็จการทหารและการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย
บทเรียนจากประวัติศาสตร์เกาหลีใต้เตือนใจให้เราตระหนักถึงอันตรายของระบอบเผด็จการและความสำคัญของการปกป้องประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินต่อไป เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านการเสียเลือดเนื้อมามาก ทำให้ประชาชนของเขาตระหนักถึงประชาธิปไตยและไม่ต้องเสียมันไป เหตุการณ์ล่าสุดอย่างกรณีการประกาศกฎอัยการของ ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
อ้างว่าเกิดจากภัยคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ เพื่อกำจัดกลุ่มต่อต้านรัฐที่สนับสนุนเกาหลีเหนือ ซึ่งกำลังปล้นชิงเสรีภาพและความสุขของประชาชน และเพื่อปกป้องระเบียบรัฐธรรมนูญที่เสรี
สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ทหารเกาหลีใต้ต้องเข้าไปในอาคารรัฐสภา ผ่านกระจกหน้าต่างที่ถูกทุบแตกเสียหาย เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเข้าควบคุมสถานการณ์ภายใต้กฎอัยการศึก ขณะเดียวกันประชาชนผู้หวงแหนประชาธิปไตยออกมารวมตัวต่อต้าน
ความวุ่นวายเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังผู้นำเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก รัฐสภาเกาหลีใต้ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วมประชุม 190 คนจากจำนวนทั้งหมด 300 คน ลงมติเมื่อช่วงเช้ามืดวันนี้ 4 ธันวาคม เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประธานาธิบดีประกาศใช้ ถือเป็นการคัดค้านเป็นเอกฉันท์
หลังจากนั้น ยุน ซอก-ยอล จึงประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก เป็นภาพสะท้อนที่เห็นชัดเจนว่าชาวเกาหลีใต้หวงแหนประชาธิปไตยมากเพียงใด และพวกเขานั้นต่างมีภาพจำว่าเผด็จการนั้นน่ากลัวขนาดไหน ถึงแม้ระบอบคอมมิวนิสต์จะคุกคามสักเพียงใด แต่ไม่เท่ากับการเกิดเผด็จการในบ้านตนเอง
อ้างอิง
History / Greelane / Google Arts /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง