SHORT CUT
สรุปเหตุการณ์วุ่นวายของการเมือง 'ภายใน' เกาหลีใต้ หลังจู่ ๆ ประธานาธิบดียุนซอกยอล ก็ประกาศใช้ 'กฎอัยการศึก' ก่อนจะถูกสภาฯ โหวตคว่ำการใช้อำนาจดังกล่าวทันทีในคืนเดียวกัน และอาจไปสู่การถอดถอนตัวผู้นำเกาหลีใต้ต่อไป
กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก ถึงขนาดสำนักข่าวชื่อดังหลายแห่ง เช่น บีบีซี ซีเอ็นเอ็น นิวยอร์กไทม์ อัลจาซีรา ทำรายงานข่าวแบบเรียลไทม์ เมื่อยุน ซอก-ยอล ประธานธิบดีเกาหลีใต้ ออกสถานีโทรทัศน์แห่งชาติประกาศใช้กฎอัยการศึก กลางดึกของวันอังคาร (3 ธ.ค. 2567) ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีการอ้างถึงภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ พร้อมส่งกองกำลังมาปิดอาคารรัฐสภา รถหุ้มเกราะออกมาวิ่งบนถนนกรุงโซล
ก่อนที่เรื่องราวจะค่อย ๆ คลี่คลายออกมาว่าความจริงคืออะไร (เป็นปัญหาการเมืองภายในเกาหลีใต้เอง) คำสั่งของประธานาธิบดีถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ที่ สส. ทั้งหลายต้องฝ่าด่านสกัดกั้นหน้าสภาฯ เข้าไปลงมติ) ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 190:0 เสียงให้เป็นโมฆะ จนประธานาธิบดียุนต้องยกเลิกกฎอัยการศึกในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และกระบวนการถอดถอนเจ้าตัวออกจากตำแหน่งก็จะเริ่มขึ้น
เกิดอะไรขึ้นที่เกาหลีใต้ ในคืนกฎอัยการศึก SPRiNG ขอสรุปให้อ่านกันในข่าวเดียว
1 ) ความวุ่นวายทั้งหมด เริ่มต้นจากการที่ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศใช้กฎอัยการศึก (martial law) ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ในเวลา 22.30 น. ของวันที่ 3 ธ.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น
ถือเป็นการประกาศใช้กฎอัยการศึกครั้งแรกของเกาหลีใต้ ในรอบกว่า 40 ปี
2 ) สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล แปลคำประกาศใช้กฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุนบางส่วนเป็นภาษาไทย มีเนื้อหาว่า
“เพื่อปกป้องประชาธิปไตยเสรีนิยมจากการคุกคามของการโค่นล้มระบบเกาหลีโดยกองกำลังต่อต้านรัฐที่ซุ่มซ่อนอยู่ภายในสาธารณรัฐเกาหลีที่เป็นอิสระและเพื่อปกป้องความปลอดภัยของประชาชน จึงประกาศต่อไปนี้ทั่วสาธารณรัฐเกาหลี ณ เวลา 23.00 น. วันที่ 3 ธ.ค. 2567
หนึ่ง - ห้ามกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท รวมถึงกิจกรรมของรัฐสภา สภาท้องถิ่น พรรคการเมือง สมาคมการเมือง การชุมนุม และการเดินขบวน เป็นสิ่งต้องห้าม
สอง - ห้ามกระทำการใด ๆ ที่ปฏิเสธหรือพยายามโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม และห้ามเผยแพร่ข่าวปลอม การบิดเบือนความคิดเห็นของประชาชน และการโฆษณาชวนเชื่ออันเป็นเท็จ
สาม - สื่อและสิ่งพิมพ์ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎอัยการศึก
สี่ - ห้ามการนัดหยุดงาน การก่อวินาศกรรม และการชุมนุมที่ส่งเสริมความวุ่นวายทางสังคม
ห้า - บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน รวมถึงประชาชนที่นัดหยุดงานหรือออกจากวงการการแพทย์แล้ว จะต้องกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติภายใน 48 ชั่วโมง และทำงานด้วยความซื่อสัตย์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎอัยการศึก
หก - สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มบ่อนทำลายรัฐ จะมีมาตรการเพื่อบรรเทาความไม่สะดวกในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด”
ทั้งนี้ นอกเหนือจากคำแถลงอย่างเป็นทางการดังกล่าว ในการออกสถานีโทรทัศน์แห่งชาติผู้นำเกาหลีใต้ ยังกล่าวหา ‘พรรคฝ่านค้าน’ ว่ามีความเชื่อมโยงกับ ‘เกาหลีเหนือ’
3 ) สำนักข่าวระดับโลกหลายแห่งเริ่ม breaking news และจับตาสถานการณ์ในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะที่ในช่วงแรกมีการอ้างถึงชื่อของ ‘เกาหลีเหนือ’ - ก่อนที่ความจริงจะเผยตัวออกมาว่า เป็นปัญหาการเมืองภายในของ ‘เกาหลีใต้’ เองเสียมากกว่า
4 ) อธิบายโครงสร้างการเมืองเกาหลีใต้แบบนี้ก่อนว่า ระบบการเมืองเกาหลีใต้ก็มีการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย คือบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เหมือนกับของไทย สิ่งที่แตกต่างคือผู้นำฝ่ายบริหารอย่าง ‘ประธานาธิบดี’ จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยอ้อมผ่านที่ประชุมสภาฯ เหมือนอย่างของไทย ส่วน ‘สส.’ ซึ่งที่เกาหลีใต้เรียกว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็จะมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน
5 ) เค้าลางของปัญหาทางการเมืองเกาหลีใต้ เกิดขึ้นเมื่อยุน ซอก-ยอล จากพรรค PPP (People Power Party) ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เมื่อปี 2565 แต่การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปีต่อมา พรรค PPP กลับพ่ายการเลือกตั้งให้กับพรรค DP (Democratic Party) อย่างถล่มทลาย
จน สส. ฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยพรรค PPP มีเสียงน้อยกว่า สส. ฝ่ายค้าน ที่นำโดยพรรค DP อยู่ที่ 108:192 เสียง
6 ) แน่นอนว่า เมื่อมีเสียงในสภาฯ น้อยกว่า การจะผลักดันกฎหมายสำคัญต่าง ๆ จึงลำบากยิ่ง ชนวนเหตุที่หลายฝ่ายมองว่า ทำให้ประธานาธิบดียุนประกาศใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้ ก็คือร่างกฎหมายงบประมาณที่ถูกฝ่ายค้านตัดลดงบของรัฐบาลหลายส่วน
ไม่รวมถึงการเสนอญัตติให้เปลี่ยนตัวผู้ตรวจการแผ่นดินและอัยการสูงสุด หลังล้มเหลวในการตรวจสอบปัญหาคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับภรรยาของผู้นำเกาหลีใต้
7 ) หลังประกาศใช้กฎอัยการศึกในเวลาห้าทุ่มของวันที่ 3 ธ.ค. 2567 แม้จะมีกองกำลังมาปิดล้อมไม่ให้ใครเข้าไปในอาคารรัฐสภาเกาหลีใต้ ภาพรถหุ้มเกราะวิ่งบนถนนในกรุงโซล เฮลิคอปเตอร์หลายลำบินอยู่บนท้องฟ้าจนคนในพื้นที่สังเกตได้
แต่ฝ่ายค้านเกาหลีใต้ก็ระดม สส. เข้าไปที่อาคารรัฐสภา เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ แม้ประธานาธิบดีจะมีอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่สภาฯ ก็มีอำนาจในการลงมติว่าจะรับรองหรือไม่รับรองการประกาศใช้เช่นกัน
8 ) ผลออกมาก็คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติเกาหลีใต้มีมติเอกฉันท์ 190:0 เสียง ให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกดังกล่าว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกด้วย จนประธานาธิบดียุนต้องออกสถานีโทรทัศน์แห่งชาติอีกครั้ง ในเวลาประมาณ 04.20 น. ของวันที่ 4 ธ.ค. 2567 ยอมรับทั้งมติสภาฯ และ ครม. ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งประกาศใช้มาเพียง 5 ชั่วโมงเศษ และให้กำลังตำรวจทหารกลับเข้าที่ตั้ง
9 ) สิ่งที่ตามมา ทั้งพรรค PPP ของประธานาธิบดียุน ออกมาแสดงความเสียใจต่อสาธารณชนและเรียกร้องให้ตัวผู้นำเกาหลีใต้อธิบายว่าเหตุใดจึงประกาศใช้กฎอัยการศึกดังกล่าว ขณะที่พรรค DP แกนนำฝ่ายค้านก็เรียกร้องให้เจ้าตัวลาออกในทันที ไม่เช่นนั้นจะดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไป
10 ) อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ คืนวันที่ 3 – 4 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมาว่า
“สิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ไม่ใช่การรัฐประหารโดยกองทัพ แต่คือ การลุอำนาจของประธานาธิบดีที่กำลังเผชิญปัญหาคอร์รัปชั่นและคะแนนนิยมตกต่ำ จึงฉวยใช้การประกาศกฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือ หวังว่าจะปราบฝ่ายค้าน ..แต่ประชาธิปไตยเกาหลีใต้เดินมาไกลเกินกว่าจะถอยกลับไปง่ายๆ แล้ว”
ทั้งหมดคือเรื่องราวโดยสรุปของเหตุวุ่นวายในเกาหลีใต้ กับ 1 คืนภายใต้กฎอัยการศึก คุณล่ะ มีความเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรกันบ้าง