svasdssvasds

“ต้มยำกุ้ง-เคบายา” จ่อขึ้นทะเบียน "มรดกวัฒนธรรม" จากยูเนสโก 4 ธ.ค.นี้

“ต้มยำกุ้ง-เคบายา” จ่อขึ้นทะเบียน "มรดกวัฒนธรรม" จากยูเนสโก 4 ธ.ค.นี้

คนไทยเตรียมเฮ! “ต้มยำกุ้ง-เคบายา” เตรียมขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 4 ธันวาคมนี้

นางสาว สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่าในเวทีประชุมองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จะมีการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล เพื่อสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 ในวันที่ 3 ธันวาคม ณ นครอซุนซิออน ประเทศปารากวัย หรือตรงวันที่ 4 ธันวาคมของไทย จะมีการพิจารณา และลงมติรับรองการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ และเชื่อมั่นว่า รายการที่ประเทศไทยเสนอ คือ ต้มยำกุ้ง ของไทย และเคบายา (Kebaya) จะได้รับการรับรองให้ ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี 2567 

ที่ผ่านมาประเทศไทย มีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโกแล้ว 4 รายการ ได้แก่

  1. โขน
  2. นวดไทย
  3. โนรา
  4. ประเพณีสงกรานต์ของไทย

 

โดยต้มยำกุ้งถือเป็นรายการที่ 5 ของไทย ที่ได้รับการรับรอง ในส่วนเคบายา เป็นรายการที่เสนอร่วม 5 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย  

"เคบายา" สะท้อนประวัติศาสตร์และประเพณี ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

 "เคบายา" เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรี ที่มีความประณีต งดงาม สะท้อนถึงประวัติศาสตร์และประเพณีที่มีร่วมกันของผู้คน และเชื่อมโยงชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีส่วนในการสร้างสันติภาพและความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม จึงขอเชิญประชาชนร่วมกิจกรรมงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ช่วงวันที่ 6-8 ธันวาคมนี้

 

 

ต้มยำกุ้ง อาหารที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย

สำหรับต้มยำกุ้ง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเสนอ "ต้มยำกุ้ง" ภายใต้ชื่อ Tomyum Kung ส่งขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก เนื่องจากเข้าเกณฑ์ด้านคุณค่าและความสำคัญ ต้มยำกุ้งเป็นอาหารที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนเกษตรกรรม ริมแม่น้ำลำคลองในภาคกลางของไทย ที่มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารผ่านการสังเกตและเรียนรู้จากธรรมชาติ

โดยนำกุ้งที่มีมากมายในท้องถิ่นมาต้มในน้ำเดือดที่มีสมุนไพรทั้งข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก และมะนาว ซึ่งนิยมปลูกไว้กินเองในครอบครัว ต้มยำกุ้งจึงสะท้อนถึงความเรียบง่ายและวิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ พึ่งพาตนเองและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related