SHORT CUT
ไนติงเกล นางฟ้าสาธารณสุข ความหวังของมนุษยชาติในสงครามไครเมีย ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการสาธารณสุขโลกไปในทางที่ดี
ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติสงครามมักคร่าชีวิต ทำลายล้างผู้คนบนโลกนี้เสมอมา สงครามทำให้ประชาชนล้มตายพลัดพรากจากกัน เหมือนนรกบนดินก็ว่าได้
แต่กระนั้นเมื่อมีสงครามมักมีความหวังให้เราเห็นเสมอ และคนที่ขับเคลื่อนความหวังของมนุษยชาติก็คือมนุษย์ด้วยกันเอง
ตัวอย่างเช่น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล สุภาพสตรีผู้ดูแลทหารที่บาดเจ็บท่ามกลางสงครามอันโหดร้ายจนได้รับขนานนามว่า "สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป"
สงครามไครเมียเป็นสงครามที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับจักรวรรดิออตโตมัน โดยมีอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าร่วมสงครามในฝ่ายออตโตมัน จนกลายเป็นสงครามที่ลามไปทั่วยุโรปจนได้รับขนานนามจากนักประวัติศาสตร์ว่าสงครามโลกครั้งที่ 0 สาเหตุสำคัญของสงครามเกิดจาก ความอ่อนแอของจักรวรรดิออตโตมัน ที่ถูกมองว่าเป็น “คนป่วยแห่งยุโรป” จนกลายเป็นเป้าหมายของชาติมหาอำนาจยุโรป
ความขัดแย้งเริ่มต้นจากสนธิสัญญาที่ออตโตมันทำกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1852 โดยให้สิทธิ์ฝรั่งเศสในการดูแล วิหารแห่งนครเยรูซาเลม และคุ้มครองคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ สนธิสัญญานี้ ซ้ำซ้อนกับสนธิสัญญาชุกไกนาร์จี ที่ออตโตมันทำกับรัสเซียในปี ค.ศ. 1774 ซึ่งให้สิทธิ์รัสเซียในการปกครองคริสต์ศาสนิกชนนิกายกรีกออร์ธอด็อกซ์ในดินแดนออตโตมัน
รัสเซียไม่พอใจ จึงส่งกองทัพเข้ายึดมอลเดเวียและวัลเลเคีย (ปัจจุบันอยู่ในโรมาเนีย) และส่งกองทัพเรือประชิดช่องแคบบอสฟอรัส เพื่อบีบบังคับออตโตมัน ออตโตมันจึงขอความช่วยเหลือจากอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งต่างก็มีผลประโยชน์ในออตโตมัน
ความขัดแย้งทางศาสนา ทำให้ชาวคริสต์ในอังกฤษและฝรั่งเศสประณามรัสเซียผ่านสื่อ ขณะที่ชาวรัสเซียและเติร์กมองว่าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ สุดท้าย ออตโตมันประกาศสงครามกับรัสเซียในปี ค.ศ. 1853
สงครามไครเมียถือว่าเป็นสงครามที่ยืดเยื้อและขยายวงกว้างมากๆ อังกฤษและฝรั่งเศสโจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญของรัสเซีย เช่น เทือกเขาคอเคซัส, ทะเลบอลติก, ทะเลขาว และคาบสมุทรคัมชัตคา กองทัพพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่คาบสมุทรไครเมีย เพื่อยึดเมืองเซวัสโตปอล ฐานทัพเรือสำคัญของรัสเซียโดยการสู้รบกินเวลานานกว่า 11 เดือน สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ทั้งสองฝ่าย
ในที่สุด ฝ่ายพันธมิตรยึดเมืองเซวัสโตปอลได้สำเร็จในเดือนกันยายน ค.ศ. 1855 สงครามไครเมียจบลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพปารีสในปี ค.ศ. 1856 โดยรัสเซียต้องยอมรับเงื่อนไขหลายประการ สงครามครั้งนี้ถือเป็นสงครามแบบใหม่ที่พลิกโฉมประวัติศาสตร์การสงคราม เนื่องจากมีการใช้ยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เรือกลไฟ ปืนไรเฟิล กระสุนชนิดใหม่ โทรเลข กล้องถ่ายรูป
สงครามไครเมียยังส่งผลต่อการพัฒนาการแพทย์ในสนามรบ ปรากฏชื่อ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เป็นบุคคลสำคัญที่นำทีมพยาบาลอาสาไปดูแลทหารบาดเจ็บในแนวหน้า และพยายามยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล แมรี่ ซีโคล หญิงสาวชาวจาไมกา ตั้ง “British Hotel” เพื่อช่วยดูแลทหารที่บาดเจ็บ การอุทิศตนของบุคคลเหล่านี้ นำไปสู่การปรับปรุงระบบการแพทย์ อาหาร และสุขอนามัยในสนามรบ รวมถึงการก่อตั้งองค์กรกาชาดสากล การสอนวิชาพยาบาลในยุโรป และการยอมรับอาชีพพยาบาลมากขึ้น
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เป็นบุคคลสำคัญที่พลิกโฉมวงการพยาบาล เธอเกิดในครอบครัวชนชั้นสูงในอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 19 ในยุคนั้นผู้หญิงมักถูกคาดหวังให้แต่งงาน เลี้ยงดูลูก และดูแลบ้าน แต่ฟลอเรนซ์กลับถือว่าเป็นผู้หญิงหัวขบถ เพราะเธอสนใจด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการจัดการข้อมูล เธอจดบันทึกสถิติต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ แม้ครอบครัวจะคัดค้าน แต่เธอมุ่งมั่นที่จะเป็นนางพยาบาล
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเธอคือสงครามไครเมีย เมื่ออังกฤษเข้าร่วมสงคราม เธอได้นำทีมพยาบาลไปดูแลทหารบาดเจ็บที่โรงพยาบาลทหารในตุรกี สภาพโรงพยาบาลย่ำแย่อย่างหนัก พื้นสกปรก มีกลิ่นเหม็น และขาดสุขอนามัย ฟลอเรนซ์จึงลงมือปรับปรุงโรงพยาบาล ทำความสะอาด จัดการอาหาร และดูแลผู้ป่วยเธอถือโคมไฟเดินตรวจตราผู้ป่วยในยามค่ำคืน ภาพลักษณ์นี้ทำให้เธอได้รับการขนานนามว่า "สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป"
ไนติงเกลไม่ได้เพียงแค่ดูแลผู้ป่วย แต่เธอยังเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สถิติ จนพบว่า ทหารส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ หากมีระบบสุขาภิบาลที่ดี เธอจึงนำเสนอข้อมูลนี้ต่อราชินีวิกตอเรีย และผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบสาธารณสุขของกองทัพ
แม้ฟลอเรนซ์จะประสบความสำเร็จในการยกระดับมาตรฐานการพยาบาล แต่บทความจากนิตยสาร The Economist ชี้ให้เห็นว่า กว่าร้อยปีหลังจากนั้น พยาบาลยังคงถูกมองเป็นเพียงผู้ช่วยแพทย์ และยังขาดอำนาจในการตัดสินใจ นอกจากนี้ อาชีพพยาบาลยังเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากร
การระบาดของโควิด-19 ทำให้โลกตระหนักถึงความสำคัญของพยาบาลอีกครั้ง รัฐบาลอังกฤษได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราวชื่อ "โรงพยาบาลเอ็นเอชเอสไนติงเกล" เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเป็นการยกย่องเกียรติคุณและสืบทอดเจตนารมณ์ของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล "สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป" ผู้ อุทิศตนเพื่อยกระดับวิชาชีพพยาบาล และพัฒนาสุขภาพของมวลมนุษยชาติ
มรดกของไนติงเกล สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ด้านหลักๆ คือ การยกระดับมาตรฐานวิชาชีพพยาบาล ไนติงเกลเน้นย้ำถึงความสำคัญของสุขอนามัย การจัดการโรงพยาบาล และการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ เธอต่อสู้กับทัศนคติที่มองว่าพยาบาลเป็นงานสำหรับผู้หญิงยากจน และผลักดันให้เกิดการฝึกอบรมพยาบาลอย่างมืออาชีพ
เกิดการปฏิรูประบบสาธารณสุข ไนติงเกลใช้ข้อมูลและสถิติเพื่อแสดงให้เห็นว่าสุขอนามัยที่ย่ำแย่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต เธอผลักดันให้เกิดการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย การระบายอากาศ และการสุขาภิบาลในโรงพยาบาลและค่ายทหาร
เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลัง เรื่องราวของไนติงเกลเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงทั่วโลกกล้าที่จะทำตามความฝัน และอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคจากขนบธรรมเนียมและสังคม
อย่างไรก็ตาม บทความจากนิตยสาร The Economist ชี้ให้เห็นว่ากว่าร้อยปีหลังจากการเสียชีวิตของไนติงเกล วิชาชีพพยาบาลยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น
พยาบาลยังถูกมองเป็นเพียงผู้ช่วยแพทย์ ขาดอำนาจในการวินิจฉัยโรคและสั่งจ่ายยา พยาบาลไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุขเท่าที่ควร
แม้จะมีความท้าทาย แต่บทบาทของพยาบาลก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่พยาบาลเป็นกำลังสำคัญในการดูแลผู้ป่วยการควบคุมการแพร่ระบาด และการให้ความรู้แก่ประชาชน
การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราวชื่อ "โรงพยาบาลเอ็นเอชเอสไนติงเกล" ในสหราชอาณาจักร เป็นเครื่องยืนยันถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของไนติงเกล และเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของเธอในการพัฒนาสุขภาพของมวลมนุษยชาติ
สะท้อนให้เห็นว่าท่ามกลางสงครามความขัดแย้ง รวมถึงโรคระบาด มนุษยชาติยังคงมีความหวังเสมอ และด้วย 2 มือของมนุษย์เองที่รังสรรค์ทั้งสงครามและความรุนแรง แต่ก็ยังมีมนุษย์ที่ลุกขึ้นมาสร้างความหวังให้มนุษยชาติตัวอย่างเช่น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล "สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป" ผู้เป็นความหวังให้มนุษยชาติ
อ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง