svasdssvasds

โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE หรือโรคพุ่มพวง คืออะไร โรคร้ายจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ

โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE หรือโรคพุ่มพวง คืออะไร โรคร้ายจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ

โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE คือ ภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะของตนเอง การอักเสบที่เกี่ยวข้องกับโรคลูปัส ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกาย

จากกรณีข่าวเศร้าที่ทำให้หลายคนต้องใจหาย เมื่อเพื่อนของอินฟลูเอนเซอร์สายแฟชั่นชื่อดัง อย่าง “แม่บ้านมีหนวด” หรือ “บิว อิษณัฐ ชลมูณี” ได้ออกมาโพสต์แจ้งข่าวร้าย ว่าเจ้าตัวได้จากไปอย่างสงบแล้วในวานนี้ (12 พ.ย. 67) ด้วยวัยเพียง 34 ปี 

หากย้อนไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แม่บ้านมีหนวด เคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการดัง เปิดใจสาเหตุที่หายหน้าจากวงการบันเทิง เพราะป่วยโรคพุ่มพวง โดยคลิปรายการ แฉ ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 โดยในวันนั้น แม่บ้านมีหนวด ได้มานั่งให้สัมภาษณ์ในรายการเป็นการเปิดใจครั้งแรกเกี่ยวกับอาการป่วย โรคพุ่มพวง หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่ทำให้เจ้าตัวต้องหายจากวงการบันเทิงไประยะหนึ่ง โดยระบุว่า

ช่วงที่หายไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มันเริ่มไม่ไหว เพราะ ป่วยหนักมาก ก่อนหน้านั้นไปงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง แล้วเริ่มมีอาการหายใจไม่สะดวก จนเพื่อนต้องหิ้วปีกพาไปโรงพยาบาล หลังจากนั้น 3 วันตื่นขึ้นมาอีกทีพบว่าตัวเองนอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาล พร้อมด้วยสายระโยงระยาง ตอนนั้นอายุเพียงแค่ 25-26 ปีเท่านั้น และไม่มีใครคิดว่าจะป่วยได้ แม้กระทั่งตัวเอง พอหมอตรวจทุกอย่างเสร็จสิ้นก็พบว่าเป็น โรคพุ่มพวง หรือ SLE และตอนนั้นอวัยวะข้างในก็ล้มเหลวเกือบทั้งหมด ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ 

แม่บ้านมีหนวด” หรือ “บิว อิษณัฐ ชลมูณี” 

รู้จัก "โรคแพ้ภูมิตัวเอง"

โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยภูมิคุ้มกันของคนๆ นั้น ทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเองจนเกิดการอักเสบและสามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับอวัยวะได้ทั่วร่างกาย พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในช่วงวัยเจริญพันธุ์ 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคได้ เช่น กรรมพันธุ์ (อาจจะมีสารพันธุกรรมบางชนิดที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง) ส่วนปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบมากขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อภายในร่างกาย แสงแดด เป็นต้น หากป่วยเป็นโรคนี้ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Antinuclear Antibody ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ชัดเจน

อาการบอกโรค

อาการของโรคนี้จะแสดงความผิดปกติในร่างกายในหนึ่งอวัยวะหรือหลายอวัยวะ  

  • ปวดข้อ 
  • เป็นไข้ตั้งแต่ไข้ต่ำ ๆ จนถึงไข้สูง 
  • อ่อนเพลีย 
  • เบื่ออาหาร 
  • เกิดผื่นผิวหนังตามใบหน้า แขน ขา ที่อยู่บริเวณนอกเสื้อผ้า ผมร่วง 
  • มีสภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ ถ้าโรครุนแรงอาจมีเม็ดเลือดแดงแตก ปอดอักเสบ ไตอักเสบ 

 

สาเหตุของการแพ้ภูมิตัวเอง

ผู้ที่มีลักษณะพันธุกรรมที่เอื้อต่อการเกิดโรคลูปัส อาจเกิดอาการได้เมื่อสัมผัสหรือได้รับสิ่งกระตุ้นในสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้เกิดโรคลูปัส ในกรณีส่วนใหญ่มักไม่ทราบสาเหตุ

ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นโรคลูปัส มีดังนี้

  • แสงแดด ในบุคคลที่มีพันธุกรรมเอื้อต่อการเกิดโรคลูปัส การสัมผัสแสงแดดอาจทำให้เกิดโรคผิวหนังลูปัสหรือเกิดปฏิกิริยาภายในร่างกายได้
  • การติดเชื้อ การติดเชื้อสามารถทำให้เกิดโรคลูปัสหรือเกิดอาการกำเริบได้ในบางกรณี
  • ยาบางชนิด ยาลดความดันโลหิต ยาต้านอาการชัก และยาปฏิชีวนะบางชนิดสามารถทำให้เกิดโรคลูปัสได้

 

การตรวจวินิจฉัยโรคแพ้ภูมิตัวเอง

โรคลูปัสเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากเนื่องจากลักษณะบ่งชี้และอาการของแต่ละผู้ป่วยแตกต่างกันมาก ซึ่งอาการของโรคลูปัสอาจเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา พร้อมทั้งมีอาการคล้ายกับโรคอื่นอีกมากมาย โรคลูปัสจึงไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเพียงชนิดเดียว การวินิจฉัยจะประเมินจากผลการตรวจเลือดและปัสสาวะ ลักษณะอาการ สัญญาณบ่งชี้

 

การรักษาโรคลูปัส โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE

การรักษาสำหรับโรคลูปัสจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยหากมีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือลดลง แพทย์จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนยาหรือปรับขนาดของยา ซึ่งยาที่มักใช้สำหรับรักษาโรคลูปัส ได้แก่:

  • ยาต้านการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น นาพรอกเซน โซเดียม ไอบูโพรเฟน อาร์โคเซีย และซิลิเบร็กซ์ สามารถนำมาใช้รักษาอาการปวด อักเสบ หรือมีไข้ ที่เกิดจากโรคลูปัส ซึ่งยา NSAIDs กลุ่มที่มีฤทธิ์แรง สามารถหาซื้อได้ตามใบสั่งแพทย์
  • ยาต้านมาลาเรีย เช่น ไฮดรอกซีคลอโรควิน ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันและสามารถลดการเกิดอาการของโรคลูปัสได้
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซน และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อื่น ๆ สามารถบรรเทาการอักเสบที่เกิดจากโรคลูปัสได้ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในปริมาณสูง เช่น เมธิลเพรดนิโซโลน มักใช้ในการรักษาโรคลูปัสที่มีอาการที่ไตและสมองรุนแรง
  • ยากดภูมิคุ้มกัน ยากลุ่มนี้อาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยบางราย ตัวอย่างเช่น เอซาไธโอพริน , ไมโคฟีโนเลต, เมโธเทรกเซท , ไซโคลสปอริน และเลฟลูโนไมด์ 
  • การรักษาด้วยวิธีชีวภาพ ในบางอาการ ช่วยลดอาการของโรคลูปัสได้ในผู้ป่วยบางราย

อาการของโรคลูปัสนั้นมีอาการที่คล้ายกับโรคอื่น ๆ มากมาย ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องอดทนเพื่อรอผลการวินิจฉัย เนื่องจากแพทย์ต้องทำการจำแนกโรคอื่น ๆ ออกไปก่อนจึงจะสามารถวินิจฉัยโรคลูปัสได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจต้องเข้าพบผู้เชี่ยวชาญหลายคน เพื่อยืนยันแผนการวินิจฉัยและการรักษา

ที่มา : bangkokhospital , medparkhospital

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related