svasdssvasds

โรคจิตแฝง คืออะไร เสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป อาจเป็นผู้ป่วยจริงหรือ

โรคจิตแฝง คืออะไร เสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป อาจเป็นผู้ป่วยจริงหรือ

โรคจิตแฝง หรือโรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง หลังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองพบเคส คนไข้ผู้หญิง เล่น Tiktok-Reel กระตุ้นโรคจิตแฝง เห็นภาพหลอน หูแว่ว ได้ยินเสียงกระซิบ

จากกรณีที่ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท ยกเคสผู้ป่วยจิตเวช เป็นคนไข้ผู้หญิงอายุราว 40 ปี เล่น TikTok ติดงอมแงม ต่อมาเห็นภาพหลอน คือ ปกติคนไข้หูแว่วประสาทหลอนนี่เป็นคนไข้จิตเวช แต่กรณีนี้รับปรึกษาอายุรกรรมสมอง เพราะเป็นเร็ว เป็นแปลกๆ 4 เดือนที่ผ่านมา post ทุกวัน ดู video วน ๆ ไปมา กดทั้ง Like ทั้ง Share มันสนุก รู้ใจ หัวเราะไป หลุดโลกความจริง เค้าว่างั้น จนผลิตคอนเทนต์เอง วิ่งตาม Like Share คือมีคน กด Like Share Comment มีความสุข

มีคนกระซิบให้ทำ video อย่างนั้น อย่างนี้ บอกเทคนิค เริ่มหลอนเห็นคนคุยด้วยไปนั่น เค้ามาแล้ว มากระซิบด้วย เห็นไหม มีผู้ชาย ใส่ชุดดำมาตาม จนญาติเอามาส่ง รพ.

ล่าสุดเผยอีกว่าเรื่องที่เป็นข่าวที่เล่น Tiktok เล่น reel เล่น facebook ทำให้เกิดภาวะทางจิตเวชได้ คือ มันคงแล้วแต่คน แต่ overuse เล่นเยอะไป จริงๆ มันเปลี่ยนโครงสร้างสมองแน่ๆ

งานวิจัย นำอาสาสมัครมาเข้าเครื่อง scan สมอง พบว่า คนที่เล่น social media บ่อย มีสมองส่วน grey matter ของ nucleus accumben ฝ่อลง

ส่วนนี้ สำคัญที่การคุมอารมณ์ การกระตุ้นความอยากเล่น การให้รางวัลความสุข เหมือนสารเสพติด

คือ มันเปลี่ยนโครงสร้าง ปัญหาคือ เมื่อเปลี่ยนโครงสร้างแล้วไงต่อ ตอบคือ ไม่รู้ โครงสร้างที่เปลี่ยนจะกลับมาไหม ก็ไม่รู้

คนที่มีอาการอ่อนไหว จิตเวชแฝง ซึมเศร้าแฝงจะเป็นไง คำตอบอยู่ที่ rate การเกิดซึมเศร้าในสังคมก็เพิ่มขึ้นชัด

คนไข้คนนึงเป็นซึมเศร้าและติด social media หนักมาก รักษาด้วย TMS ดีไปพักนึง กลับไปกินยา รักษาต่อ ที่คุณหมอใกล้ๆบ้าน ตอนนี้ฆ่าตัวตายไปละ เสียดายมาก เป็นเด็กน่ารัก พูดได้หลายภาษา พ่อแม่ เป็นเจ้าของ resort ตอนมาพบครั้งแรก หน้าตาแบบ robot คงเพราะดื้อยา จึงทานยาเยอะมากๆ จนตาไม่กระพริบ ก็ พยายามทั้งหมอจิตเวช ทั้งครอบครัว แต่ตัวกระตุ้นสมัยนี้มันแรงเหลือเกิน เจอหมอ 2 เดือนครั้ง อยู่กับ โลกออนไลน์ กระตุ้น 24 ชม.

 

 

 

ในปัจจุบันคนไทยที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชมีจำนวนไม่น้อย โดยผู้ป่วยบางรายรู้ตัวว่าตนเองป่วย แต่บางรายก็ไม่รู้ตัว ที่สำคัญผู้ป่วยบางรายยังสับสนในอาการป่วยจิตเวชบางโรค และมักจะเข้าใจผิดคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคทางกาย แต่เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดกลับไม่พบความผิดปกติอย่างใด

การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคจิตเวช ถึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ผู้ป่วยได้คอยสังเกตตัวเอง รวมถึงการสังเกตคนรอบตัวว่าเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยหรือไม่ เพื่อการแก้ไขและการรักษาที่ถูกวิธี

โรคจิตเภท-โรคจิตเวชต่างกันอย่างไร?

โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นส่วนหนึ่งในโรคทางจิตเวช คือภาวะที่สมองมีความผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหรือการรับรู้ที่ผิดปกติ เช่น

  • หลงเชื่อผิดๆ ว่าจะมีคนมาทำร้าย
  • สัมผัสผิดปกติ มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน

กลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือคำพูดที่แปลกกว่าคนทั่วไป โดยโรคจิตเภทสามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดในวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

ส่วนโรคจิตเวช หรือโรคทางจิตเวช คือปัญหาที่เกี่ยวกับจิตใจ เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมเรื่องความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม เช่น

  • โรคซึมเศร้า
  • โรคไบโพล่าร์
  • โรควิตกกังวล
  • โรคแพนิค

โดยศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับโรค และการรักษาเรียกว่าจิตเวชศาสตร์ และแพทย์ที่ศึกษาเฉพาะทางด้านนี้เรียกว่าจิตแพทย์

5 อาการของโรคจิตเภท

อาการของโรคนี้มี 5 ข้อหลักๆ โดย 4 ข้อแรกจะเป็นอาการแบบบวก คือ แสดงกิริยามากกว่าคนทั่วไป และข้อสุดท้ายจะเป็นอาการแบบลบ คือ แสดงกิริยาน้อยกว่าคนทั่วไป

  1. อาการหลงผิด คือ อาการที่ผู้ป่วยเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น
  2. การรับรู้ที่ผิดปกติ คือ การที่ไม่มีสิ่งเร้าใดๆ เกิดขึ้น แต่ผู้ป่วยกลับคิดว่ามี เช่น หูแว่ว ภาพหลอน การได้กลิ่น หรือสัมผัส
  3. การพูดผิดปกติ ตอบไม่ตรงคำถาม พูดไม่ปะติดปะต่อ หรือมีภาษาแปลกๆ ที่คนทั่วไปฟังแล้วไม่เข้าใจ
  4. มีพฤติกรรมที่แปลกไป โดยเป็นผลมาจากความคิดที่รวน ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่แปลก 
  5. อาการแบบลบ เช่น ไม่ค่อยมีอารมณ์กับสิ่งรอบตัว หน้านิ่ง เฉยเมย ไม่มีแรงบันดาลใจ 

อาการของโรคจิตเภทแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

  • ระยะเริ่ม หรือระยะก่อโรค

ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการด้านลบ แยกตัว ไม่ค่อยอยากทำอะไร อาการจะเริ่มก่อตัวแบบใช้เวลา 6 เดือนขึ้นไป

  • ระยะกำเริบ

จะเริ่มเห็นอาการด้านบวกมากขึ้น เช่น หูแว่ว หลงผิด ระแวง พูดจาแปลกๆ โดยหากมีระยะกำเริบ ควรรีบพบแพทย์

  • ระยะหลงเหลือ

เป็นระยะที่ผ่านการรักษามาแล้ว แต่ยังมีอาการหลงเหลืออยู่ เช่น จากระแวงมั่นใจว่ามีคนมาทำร้าย เหลือเป็นสงสัยว่าอาจมีคนจะทำร้าย โดยผู้ป่วยหลายคนเมื่อรักษาแล้วหายสนิท จะไม่มีอาการช่วงนี้

หลักทั่วไปในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท

  • เข้าใจผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจสร้างความรำคาญเดือดร้อน จึงควรให้อภัยไม่ถือโทษผู้ป่วย ไม่ควรโต้เถียงกับ
  • ผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิต รวมทั้งเสนอความ ช่วยเหลือด้วยความอดทน
  • กระตุ้น แต่ไม่บังคับ ความเครียดมีส่วนทำให้โรคจิตเภทกำเริบได้ จึงไม่ควรมุ่งหวังหรือผลักดันผู้ป่วยมากเกินไป แต่การปล่อยปละละเลยก็ทำให้อาการแย่ลงได้เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ กระตุ้นแต่ไม่บังคับ เช่น กระตุ้นให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเอง ช่วยทำงานบ้านอย่างง่ายๆ โดยไม่ใช้การบังคับ และควรหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียนผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
  • ดูแลผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ จึงควรให้ความดูแลผู้ป่วยเรื่องการกินยาให้ครบ รวมทั้งการดูแลที่เหมาะสมต่อไป

สิ่งที่สำคัญที่ควรทำ คือการปรึกษาแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งช่วยให้การรักษาได้ผลดีกว่าการปล่อยไว้นานจนเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง 

ที่มา : สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ , โรงพยาบาลเปาโล , โรงพยาบาลมนารมย์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related