SHORT CUT
สาธารณสุข เปิดสถิติ ‘โรคมะเร็งปอด’ ในภาคเหนือน่าเป็นห่วง พบผู้ป่วยรายใหม่ วันละ 7 คน เสียชีวิตเฉลี่ย วันละ 5 คน ปัจจัยเสี่ยง มาจาก ฝุ่น PM2.5 และอีกหลายๆปัจจัย
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคมะเร็งปอดเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขในภาคเหนือ โดยพบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่นๆ กล่าวคือภาคเหนือพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่เฉลี่ยปีละ 2,487 ราย/ปี หรือประมาณวันละ 7 ราย และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยปีละ 1,800 ราย/ปี หรือประมาณวันละ 5 ราย ทั้งนี้ 80% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุ มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดที่สูงในภาคเหนือมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญหลายประการ
ด้าน นพ.วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กล่าวว่า โรคมะเร็งปอดเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงร่วมกันทั้งพันธุกรรม หรือการได้รับสารก่อมะเร็งต่างๆ ปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคมะเร็งปอดที่สำคัญเกิดจากการสูบบุหรี่ และควันบุหรี่มือสอง
นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ได้แก่ การสัมผัสก๊าซเรดอน การสัมผัสแร่ใยหิน การสัมผัสรังสี ควันธูป และมลภาวะทางอากาศต่างๆ ซึ่งฝุ่น PM 2.5 จัดอยู่ในส่วนนี้ โดยสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research on Cancer: IARC) ได้กำหนดให้มลภาวะทางอากาศเป็นสารก่อมะเร็ง กลุ่มที่ 1 หมายถึงมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ถึงปัจจัยเสี่ยงสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง นอกจากนี้ มีการศึกษาหากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ร่วมด้วยกับการสัมผัส PM 2.5 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด 40% เทียบกับประชากรทั่วไป
ดังนั้น สรุปได้ว่า PM 2.5 เป็น “ปัจจัยเสี่ยง” หนึ่งในการเกิดมะเร็งปอดไม่ใช่สาเหตุเพียงอย่างเดียว และในปัจจุบันยังไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างเจาะจงว่าในผู้ป่วยคนหนึ่งที่เป็นมะเร็งปอดนั้นเป็นจากสาเหตุใด เนื่องจากกระบวนการเกิดโรคมะเร็งมีหลายกระบวนการเกิดได้จากหลายปัจจัย
อย่างไรก็ดี การรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดที่สำคัญที่สุด ยังเป็นเรื่องของการรณรงค์การหยุดสูบบุหรี่ และควันบุหรี่มือสอง การหลีกเลี่ยงการก่อมลภาวะทางอากาศ เช่น ควันธูป และมลภาวะต่างๆ หากต้องอยู่ในสถานที่มีฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยสูงควรใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอนได้ เช่น หน้ากาก N95 หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และหากมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง