SHORT CUT
"มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง" หลังกรมที่ดินมีมติ "ไม่เพิกถอน" หนังสือแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน "ดร.ณัฐวุฒิ" มือกฎหมายมหาชน ชี้มติดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ขัดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ชี้ว่าเป็นที่ดิน รฟท. เปิดช่องอธิบดีกรมที่ดินประวิงเวลา
สืบเนื่องจากที่ นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือแจ้ง เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจากการรถไฟไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟ เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 หลังจากที่กรมที่ดินได้ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 เพื่อพิจารณาเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟฯ (รฟท.) จำนวน 995 ฉบับ ที่บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นั้น
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ ระบุว่า มติของคณะกรรมการสอบสวนกรมที่ดิน ตาม ม.61 ของประมวลกฎหมายที่ดินนั้น เป็นการ "ใช้อำนาจทางปกครอง" ของอธิบดีกรมที่ดิน ในการพิจารณาเพิกถอนที่ดิน หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยคณะกรรมการกรมที่ดินมีมติเป็นเอกฉันท์ "ไม่เพิกถอน" เพราะเป็นการออกเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย และ รฟท. ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของที่ดิน ตลอดจนตำแหน่งที่ตั้ง
ดร.ณัฐวุฒิ ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวของกรมที่ดิน เป็น "คำสั่งทางปกครอง" ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนที่ดินมีผลกระทบต่อการรถไฟจึง "ยังไม่เป็นที่สุด" และหาก รฟท. เห็นว่ามติดังกล่าว "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ย่อมใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน เพื่อเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากไม่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง กระบวนการนี้จะสิ้นสุดทันที
ดร.ณัฏฐ์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของมติคณะกรรมการสอบสวนฯ กรมที่ดิน เป็นคำสั่งทางปกครองใหม่ที่เกิดขึ้น แยกต่างหากจากคำพิพากษาศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลปกครองกลาง สะท้อนให้เกิดแตกเป็นคดีใหม่ คดีเดิมยังทำอะไรไม่ได้ เป็นการประวิงเวลา อีกประการหนึ่งเปิดช่องมิให้ อธิบดีกรมที่ดิน หรือ เจ้าหน้าที่ที่ดินที่เกี่ยวข้องมิให้ถูก ดำเนินคดีอาญามาตรา 157 โดยอ้างว่า ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางแล้ว แต่มติคณะกรรมการสอบสวนไม่เพิกถอน เป็นคำสั่งทางปกครองใหม่เกิดขึ้น ยังเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ไม่ได้
"คดีที่ดินเขากระโดง" เป็นมหากาพย์ที่มีมาเนิ่นนาน ตั้งแต่เกิด พรบ.จัดวางทางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ก่อนจะมาเกิดข้อพิพาทว่ามีผู้บุกรุกที่ดินการรถไฟฯ เมื่อปี 2542 เป็นต้นมา จากข้อมูลพบว่ามีคำพิพากษาของศาลหลายฉบับที่ชี้ให้เห็นว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟฯ จริง ทั้งคำพิพากษาศาลบุรีรัมย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกา จนทำให้ รฟท.เข้าสำรวจแนวเขตหลังปี 2561 พบว่าพื้นที่กว่า 4,150 ไร่ 47 ตารางวา กลายเป็นที่อยู่อาศัย สนามฟุตบอล และสนามแข่งรถ โดยมีการออกเอกสารสิทธิจากหน่วยงานรัฐ เช่น โฉนดที่ดิน จากพื้นที่ทั้งหมด 5,083 ไร่ 80 ตารางวา ของการรถไฟ
รฟท.จึงทำหนังสือขอให้กรมที่ดินตรวจสอบตั้งแต่ปี 2564 แต่ไม่มีการดำเนินการ รฟท.จึงฟ้องศาลปกครองกลาง จนศาลฯ มีคำสั่งให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 เพื่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินจำนวนกว่า 772 แปลง จนถึง 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวเห็นว่า "รฟท. ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท." จึงมีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าว