svasdssvasds

การรถไฟฯ แจงยื่นหนังสือให้กรมที่ดิน ปมออกโฉนดทับที่ดินเขากระโดง

การรถไฟฯ แจงยื่นหนังสือให้กรมที่ดิน ปมออกโฉนดทับที่ดินเขากระโดง

การรถไฟฯ ชี้แจง การยื่นหนังสือให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการกับโฉนดที่ออกทับที่ดิน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณเขากระโดง

ตามที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ กรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการส่งเรื่องให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณเขากระโดง

โดยระบุอ้างถึงหนังสือของการรถไฟแห่งประเทศไทย เลขที่ รฟ1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ นั้น

การรถไฟฯ แจงยื่นหนังสือให้กรมที่ดิน ปมออกโฉนดทับที่ดินเขากระโดง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

มาดามเดียร์ ย้ำจุดยืน หลังคำสั่งให้ กรมที่ดินเพิกถอนโฉนด ที่ดินเขากระโดง

ผู้ว่าฯรฟท. ส่งหนังสือ กรมที่ดิน เพิกถอนโฉนดที่ดินบุรีรัมย์ 5,000 ไร่

เพื่อเป็นการให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมและเข้าใจในสาระสำคัญที่ถูกต้องมากขึ้น การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้

1. เรื่องนี้เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหา และการหาข้อยุติกรณีที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ประชาชนกว่า 900 ราย ในที่ดินที่เชื่อว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดงนั้นมีมาอย่างยาวนาน

โดยการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นขั้นตอนของการเสาะหาข้อเท็จจริงต่างๆ และการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินรายแปลงในชั้นศาลมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 พิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยชนะคดีในการพิสูจน์กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่ง โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งในคำพิพากษาของศาลฎีการะบุโดยสรุปว่า “ศาลฎีกาเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ที่นำเสนอโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าพื้นที่ทางแยกบริเวณเขากระโดง ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 จำนวนเนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย”

จากการสำรวจที่ดินเนื้อที่จำนวนประมาณ 5,083 ไร่ดังกล่าว ล่าสุดเมื่อต้นปี 2564 พบว่ามีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการประมาณ 900 ราย แบ่งเป็น โฉนดที่ดิน จำนวน 700 ราย ที่มีการครอบครอง (ท.ค.) จำนวน19 ราย น.ส.3ก. จำนวน 7 ราย หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำนวน 1 ราย ทางสาธารณประโยชน์จำนวน 53 แปลง และอื่นๆที่ไม่ปรากฎเลขที่ดินในระวางแผนที่อีกจำนวน 129 แปลง

โดยการสำรวจดังกล่าว การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการโดยไม่ได้มีการเจาะจงสำรวจที่ดินของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการในทุกขั้นตอนบนข้อสันนิษฐานว่า “ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการและอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว เป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต” ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ประสงค์จะดำเนินการใดๆ ต่อประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด

2. การรถไฟแห่งประเทศไทย มีความจำเป็นในการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อหาข้อยุติในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบนที่ดินบริเวณเขากระโดง

เมื่อปรากฏต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์จำนวนกว่า 900 แปลงในที่ดินที่ศาลฎีการะบุว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอให้กรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจดังกล่าว

โดยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอให้กรมที่ดินดำเนินการให้เป็นตามกระบวนการตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง ซึ่งระบุว่า “เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใด โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย มีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้”

ทั้งนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องนี้จนถึงที่สุด และหากในอนาคตจะปรากฏผลการวินิจฉัยอันถึงที่สุดเป็นประการใด การรถไฟแห่งประเทศไทยก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าวอย่างเคร่งครัดต่อไป

การรถไฟฯ แจงยื่นหนังสือให้กรมที่ดิน ปมออกโฉนดทับที่ดินเขากระโดง

3. การรถไฟแห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกันดำเนินการในเรื่องนี้โดยยึดหลักการตามระเบียบกฎหมาย รวมถึงปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลโดยคำนึงถึงความเท่าเทียม เสมอภาค โปร่งใสเป็นสำคัญ

ที่ผ่านมาทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการติดตามในเรื่องนี้มาโดยตลอด ทางกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยยึดหลักตามระเบีบยบกฎหมาย รวมถึงปฏิบัติด้วยความเท่าเทียม เสมอภาค โปร่งใส บนหลักการที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนควบคู่กับการดูแลพิทักษ์ทรัพย์สินทั้งหมดของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการในเรื่องนี้ โดยย้ำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการของกรมที่ดินในการพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกในที่ดินที่เชื่อว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้ตรวจสอบและดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัดต่อไป