SHORT CUT
ย้อนรอยความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่าน จากพันธมิตรสู่ศัตรูภายหลังปฏิวัติอิสลาม หวนให้คิดถึงวันวาน ภายใต้พันธมิตรร่วมกัน
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และอิหร่านมีความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ด้านความเชื่อทางด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ การเมืองและเรื่องของพื้นที่ ที่นำพาความขัดแย้ง ไม่ใช่กระทบแค่ระดับประเทศ แต่ยังกระทบระดับภูมิภาคในตะวันออกกลาง รวมถึงระดับโลกด้วย
ความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลามและยูดาห์นั้นเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ยาวนาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนและชาติต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน
แม้ศาสนายูดาห์และอิสลามจะมีรากเหง้ามาจากความเชื่อเดียวกัน นั่นคือการนับถือพระเจ้าองค์เดียว (เอกเทวนิยม) แต่ก็มีความแตกต่างในรายละเอียดของความเชื่อหลายประการ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งในประวัติศาสตร์
โดยศาสนายูดาห์: ของอิสราเอลเชื่อว่า คัมภีร์หลักคือทานัค (Tanakh) ประกอบด้วย โทราห์ (Torah) เนบิม และเคตุบิม ชาวยิวให้ความสำคัญกับการศึกษาและปฏิบัติตามพระบัญญัติในโทราห์อย่างเคร่งครัด การตีความคัมภีร์มักจะผ่านการอธิบายของราบบี (Rabbi)
ส่วนอิสลาม ถือคัมภีร์หลักคืออัลกุรอาน ซึ่งมุสลิมเชื่อว่าเป็นพระวจนะของอัลลอฮ์ที่ประทานแก่ท่านศาสดาโมฮัมเหม็ดโดยตรง การตีความอัลกุรอานมักจะอิงจากซุนนะห์ (Sunnah) ซึ่งเป็นคำพูดและการกระทำของท่านศาสดา
หรือศาสนายูดาห์: เชื่อในพระยาห์เวห์ (Yahweh) ในฐานะพระเจ้าองค์เดียวที่ทรงสร้างสรรพสิ่งและทรงเลือกชนชาติอิสราเอลเป็นชนชาติของพระองค์ ส่วนอิสลาม: เชื่อในอัลลอฮ์ (Allah) ในฐานะพระเจ้าองค์เดียวที่ทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งและทรงเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด
ขณะที่ยูดาห์ เชื่อว่าโมเสสเป็นศาสดาที่สำคัญที่สุด ผู้ได้รับพระบัญญัติสิบประการจากพระเจ้าบนภูเขาซีนาย นอกจากนี้ยังให้ความเคารพศาสดาคนอื่นๆ เช่น อับราฮัม อิสอัค ยาโคบ อิสลาม: เชื่อว่าท่านศาสดาโมฮัมเหม็ดเป็นศาสดาองค์สุดท้ายและเป็นผู้นำคำสอนของอัลลอฮ์มาสู่มนุษย์
ส่วนวันพิพากษาและชีวิตหลังความตาย ยูดาห์: เชื่อในวันพิพากษาและชีวิตหลังความตาย แต่รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละนิกาย ส่วนอิสลาม: เชื่อในวันกิยามะห์ (วันพิพากษา) และชีวิตหลังความตายอย่างชัดเจน โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับสวรรค์และนรกที่บรรยายไว้ในอัลกุรอาน
ซึ่งเรื่องดังกล่าวกลายเป็นปูมหลังความขัดแย้งทางความเชื่อมาถึงปัจจุบัน
เมื่อความเชื่อไม่ตรงกันย่อมส่งผลต่อคติการใช้ชีวิต และเป็นอคติต่อกันและ เห็นได้จากภายหลังประเทศในตะวันออกกลางรวมถึงตะวันออกกลางได้รับเอกราช มีการแบ่งเป็นประเทศต่างๆ มากมาย
และมีขบวนการก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นในปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นชาวอาหรับอิสลาม ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 ชนชาติเรื่อยมา
แต่กระนั้นอิสราเอลและอิหร่านเคยเป็นพันธมิตรมาก่อนโดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนทั้ง 2 ประเทศ แต่ภายหลังอิหร่านมีการปฏิวัติอิสลาม เกิดขึ้นในอิหร่าน ระหว่างปี พ.ศ. 2518-2522 โดยมีจุดมุ่งหมายในการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ปาห์เลวี และสถาปนาอิหร่านให้เป็นรัฐอิสลามภายใต้การนำของผู้นำทางศาสนา ชีอะฮ์
หลังจากนั้นเป็นต้นมา อิหร่านจึงไม่ยอมรับสิทธิในการมีอยู่ของอิสราเอล และยังมีเป้าหมายในการกำจัดอิสราเอลด้วย ผู้นำสูงสุดของประเทศอย่าง อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ก่อนหน้านี้เรียกอิสราเอลว่า "เนื้อมะเร็งร้าย" ที่ "จะต้องถูกขุดรากถอนโคนและทำลายลงให้สิ้นซากอย่างไม่ต้องสงสัยใด ๆ"
ด้านอิสราเอลเชื่อว่า อิหร่านเป็นภัยคุกคามของประเทศ ซึ่งชี้ชัดด้วยหลักฐานหลายอย่าง เช่นวาทกรรมของรัฐบาลอิหร่าน การสะสมกองกำลังตัวแทนในหลายพื้นที่ รวมถึงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ นักรบผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ในเลบานอน ซึ่งมีเป้าหมายเป็นการทำลายอิสราเอล และการสนับสนุนเงินทุนและอาวุธให้กับกลุ่มปาเลสไตน์ รวมถึงกลุ่มฮามาส
นอกจากนี้ อิสราเอลยังกล่าวหาอิหร่านว่า พยายามพัฒนาอาวุธทางนิวเคลียร์อย่างลับ ๆ แม้ว่าอิหร่านจะปฏิเสธว่าไม่มีเป้าหมายที่จะสร้างระเบิดนิวเคลียร์
ทำให้ทั้ง 2 ประเทศเกิดความขัดแย้งกันเรื่อยมา
ขณะเดียวกันอิหร่านยังให้สนับสนุนกลุ่มการเมืองอิสลามอย่างกลุ่มฮามาส ให้ก่อสถานการณ์ไม่สงบในประเทศอิสราเอล ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศแย่ขึ้นไปเรื่อยๆ
ทั้งหมดนี้คือความขัดแย้งของอิสราเอลและอิหร่าน ที่มีปูมหลังทั้งเรื่องศาสนาความเชื่อ และประวัติศาสตร์จากพันธมิตรที่แสนดี ก็กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง