svasdssvasds

รู้ทันโจร! เทคนิคการ "ขโมยรถ" ในรูปแบบต่างๆ รถหายในห้างฯ ควรทำอย่างไร

รู้ทันโจร! เทคนิคการ "ขโมยรถ" ในรูปแบบต่างๆ รถหายในห้างฯ ควรทำอย่างไร

เตือนภัย! คนใช้รถ สิ่งที่ต้องระวังในการใช้รถ ไม่ว่าจะไปจอดรถที่ไหนก็ตาม ต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะการโจรกรรมรถหรือขโมยรถ เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

SHORT CUT

  • เตือนภัย! คนใช้รถ  ไม่ว่าจะไปจอดรถที่ไหนก็ตาม ต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะการโจรกรรมรถหรือขโมยรถ เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
  • การจอดรถยนต์ทิ้งไว้ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลากลางวัน กลางคืน แม้จะจอดเพียงครู่เดียว หรือนานข้ามวัน ก็มีโอกาสถูกโจรกรรมได้
  • หากเกิดเหตุการณ์รถหายในห้างสิ่งที่ต้องทำคือ เจ้าของรถต้องแจ้งดำเนินการภายใน 1 ปี เพื่อป้องกันการขาดอายุความ

เตือนภัย! คนใช้รถ สิ่งที่ต้องระวังในการใช้รถ ไม่ว่าจะไปจอดรถที่ไหนก็ตาม ต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะการโจรกรรมรถหรือขโมยรถ เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

จากกรณีที่เพจ "อีซ้อขยี้ข่าว" ได้เผยแพร่วิดีโอเป็นภาพเหตุการณ์ ขณะเจ้าหน้าที่ของศูนย์การค้าชื่อดัง ย่านรัชดาภิเษก กำลังพยายามสกัด คนร้ายที่ก่อเหตุขโมยรถหรูป้ายแดง โดยใช้รั้วเหล็ก และเจ้าหน้าที่รปภ. เข้าสกัดรถยนต์ ฮอนด้า HRV สีดำป้ายแดง ก่อนที่ผู้ขับขี่จะขับรถรถคันดังกล่าว ฝ่าวงล้อมและวิ่งตรงออกจากพื้นที่ ชนไม้กั้นออกไป พร้อมระบุข้อความว่า เป็นเหตุโจรขโมยรถ 

การจอดรถยนต์ทิ้งไว้ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลากลางวัน กลางคืน แม้จะจอดเพียงครู่เดียว หรือนานข้ามวัน ก็มีโอกาสถูกโจรกรรมได้ และไม่จำเป็นว่าต้องรถใหม่ป้ายแดงเท่านั้น รถเก่าหลายปีก็มีสิทธิถูกขโมยได้เช่นกันตามใบสั่งของประเทศเพื่อนบ้านหรือตามคำสั่งซื้อรถยนต์รุ่นนั้น

 

เทคนิคการ "ขโมยรถ" ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • การทุบกระจกรถ

ถือเป็นวิธีการขโมยรถแบบธรรมดาทั่วไป โดยคนร้ายจะเอาเหล็กแหลมๆ ค่อยๆ กะเทาะกระจกจนเกิดรอยร้าว และใช้ผ้าปิดป้องกันเสียง จนกระจกแตกออกทั้งบาน แล้วใช้มือล้วงเปิดตัวล็อกกุญแจออก

  • การงัดประตูหูช้าง

สำหรับรถรุ่นเก่าๆ ที่เป็นประตูหูช้าง ต้องระวังไว้ให้ดี เพราะคนร้ายสามารถงัดประตูหูช้างได้โดยใช้ลวดแข็ง ๆ งอเป็นตัวยู สอดเข้าไประหว่างกระจกแค็ปแล้วงัดแรงๆ จนกระจกเปิดออก แล้วใช้มือเอื้อมมาเปิดตัวล็อกประตูได้อย่างง่ายดาย

  • ใช้กุญแจปลอม

การแอบปลอมกุญแจรถนั้นมีหลากหลายวิธี ดังนี้ 

  • แอบปลอมกุญแจเวลาที่คุณทำกุญแจสำรอง เวลาไปอู่ซ่อม หรือล้างรถ 
  • ทำกุญแจเลียนแบบรถชนิดที่ต้องการลักไว้หลายๆ ขนาด (รอยหยัก) แล้วลองใช้ทุกดอกที่ทำไว้
  • หากซื้อรถจากโชว์รูมหรือเต็นท์ขายรถมือสอง อาจแอบปั้มกุญแจไว้ ซึ่งคนร้ายจะติดตามมาถึงบ้านหรือที่จอดรถประจำเพื่อทำการขโมย

 

  • ใช้ลวดแข็งเกี่ยวที่ล็อกประตู

ถ้าใครเคยลืมกุญแจไว้ในรถแล้วเรียกช่างมาปลดล็อกกุญแจให้ คงจะเคยเห็นว่า ช่างจะใช้ลวดเชื่อมยาวๆ เบอร์แข็งๆ ดัดทำเป็นตัวยู งัดยางรีดน้ำประตูออก และใช้ลวดแยงเข้าไปให้ตะขอเกี่ยวกับปุ่มกดล็อกให้เด้งขึ้น เสมือนมีคนอยู่ในรถแล้วดึงปุ่มเปิดประตูขึ้น วิธีนี้ถ้าช่างที่มีความชำนาญจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น

  • ช็อตวงจรไฟฟ้า 

บางคนอาจจะคิดว่าการใช้กุญแจรีโมตนั้นปลอดภัยแน่ แต่จริงๆ แล้วกลับง่ายต่อการต่อลัดวงจรไฟฟ้า เช่น วงจรไฟเลี้ยว ในชุดรีโมตแบบธรรมดา หรือถ้าเป็นรถยุโรปด้วยแล้วกลับเป็นเรื่องง่าย ตัวล็อกจะเด้งหลุดทันที

  • จูนสัญญาณจากรีโมต 

เวลาจอดรถในห้างสรรพสินค้า พอเรากดรีโมตล็อกปุ๊ป คนร้ายก็จะมีเครื่องมือมาจับสัญญาณความถี่ แล้วหาก็อปปี้ความถี่มาใช้ยิงเปิดประตูได้เลย แบบนี้ถือว่าเป็นระบบที่อันตรายมาก

  • เปิดกระจกหลังรถ

คนร้ายจะใช้ไขควงงัดยางขอบกระจกหลังรถออก แล้วเปิดกระจกออกด้วยแรงดึง ซึ่งคนร้ายที่ใช้วิธีการนี้ จะเคยเป็นช่างถอดหรือใส่กระจกมาก่อน เมื่อถอดกระจกออกมาได้แล้วจะมุดตัวเข้าไปในรถ แล้วใช้วิธีต่อไฟฟ้าสายตรงเพื่อติดเครื่องยนต์ แล้วขับรถหลบหนีไป

  • การจี้ปล้น

อย่างที่เคยได้เห็นกันตามข่าวหรือหนังสือพิมพ์ เช่น การวางเรือใบ ดักซุ่มในที่เปลี่ยว โดยใช้อาวุธปืนหรือมีดปลายแหลมจี้ให้ลงจากรถ แล้วคนร้ายก็ขับรถเอาไปซึ่งหน้า รวมไปถึงการลวงซื้อรถทางอินเตอร์เน็ต 

 

 

 

 

 

รถหายในห้างสรรพสินค้า ควรทำอย่างไร?

ห้างสรรพสินค้าถือเป็นสถานที่ที่ผู้คนไปใช้บริการมากที่สุด เป็นแหล่งรวมคนหลากหลาย รวมไปถึงมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาด้วย หลายครั้งที่เกิดเหตุลักขโมยทรัพย์สินมีค่าในรถ หรือรถหายระหว่างเข้าใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้า และเกิดคำถามตามมาว่าห้างต้องรับผิดชอบหรือไม่

จากสถิติศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อมูลสถานที่ที่รถถูกโจรกรรมมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร โดยใน 10 อันดับแรกนั้น พบว่ามีการแจ้งรถหายในห้างสรรพสินค้ามากถึง 3 อันดับ

หากเกิดเหตุการณ์รถหายในห้างสิ่งที่ต้องทำคือ เจ้าของรถต้องแจ้งดำเนินการภายใน 1 ปี เพื่อป้องกันการขาดอายุความ อย่าลืมใช้สิทธิ์เรียกร้องความคุ้มครองในฐานะผู้ใช้บริการคือขอใบเสร็จทุกครั้งที่จ่าย เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการใช้บริการในห้างสรรพสินค้า

รถหายในห้าง ห้างต้องรับผิดชอบหรือไม่?

เมื่อเกิดเหตุรถหายในห้าง สิ่งจำเป็นที่ต้องทราบก็คือ

  • เมื่อเราเข้าใช้บริการหมายความว่า มีการซื้อขาย มีใบเสร็จยืนยันการใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น จึงจะเรียกว่า ผู้ใช้บริการ
  • แต่เมื่อไรก็ตามที่เรานำรถเข้าจอด หรือไปฝากจอด ไม่มีการใช้บริการ หรือใช้บริการแต่ไม่มีใบเสร็จยืนยัน จะไม่ถือว่าเราเป็นผู้ใช้บริการ รวมถึงหากมีบัตรจอดก็ไม่ถือเป็นหลักฐานยืนยันการเข้าใช้บริการ

หากลูกค้าได้นำรถเข้าจอดของห้างสรรพสินค้า และได้เข้าใช้บริการหรือซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า เป็นหน้าที่โดยตรงที่ห้างต้องให้ความปลอดภัยทั้งต่อชีวิตลูกค้าและทรัพย์สินต่างๆ ของลูกค้า ซึ่งหมายรวมถึงรถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดที่ลานจอดรถของห้างด้วย หากเกิดเหตุทำให้รถสูญหาย ทางห้างต้องจ่ายสินไหมทดแทนให้กับลูกค้าที่นำรถเข้ามาจอด ตามระบุในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

 

เมื่อโจรขโมยรถแล้วเอาไปทำอะไร

  • ส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน 

ถ้าเป็นรถใหม่จะนำส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้วิธีเอาลงแพ แล้วใช้ไม่ลวกถ่อข้ามแม่น้ำไป สำหรับราคาขายในประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่เกินหลักแสนบาท

  • แยกขายเป็นอะไหล่มือสอง

ถ้าเป็นรถเก่าหน่อย คนร้ายจะนิยมเอามาแยกขายอะไหล่ และถ้าสังเกตกันดี ๆ มีหลายร้านที่มีอะไหล่ทั้งนอกและในบ้านเราผสมอยู่ก็ไม่น้อย ลักษณะพวกนี้จะทำงานเป็นออเดอร์สั่งมาเลย อยากได้รุ่นไหน สีอะไรเป็นต้องได้ พวกนี้จะนำมาแยกชิ้นส่วนแล้วนำมาซ่อมรวมกับรถที่เกิดอุบัติเหตุแบบสาหัส ที่ต้องการอะไหล่แบบครึ่งคันหรือใช้เกือบทั้งคันเลยก็มี

  • สวมทะเบียน 

นำมาสวมกับทะเบียนรถอุบัติเหตุแบบซ่อมไม่ได้แล้ว ใช้แค่ทะเบียนกับหมายเลขตัวถัง และหมายเลขเครื่องเดิมนำมาต่อใส่ แล้วเก็บสีให้สวยก็ขายได้แล้ว 

  • ทำทะเบียนปลอม 

ใช้รถที่ขโมยมาไปเลย แล้วทำทะเบียนปลอมขึ้นมา (จากขนส่ง) สามารถต่อทะเบียนวิ่งได้ทุกปี จนถึงปีที่ 6 ต้องตรวจ ต.ร.อ. ก็ไม่สามารถทำได้เพราะกลัวตรวจสอบเจอ ก็นำไปแยกขายอะไหล่อีกที

 

เมื่อ "รถหาย" ควรทำอย่างไร?

  • แจ้ง จส.100 สายด่วนรถหาย ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-7119160 เพื่อออกอากาศในสถานีวิทยุเผื่อมีผู้พบเห็นรถที่หายขับอยู่บนท้องถนน
  • โทรแจ้ง ศปร.ตร. ที่เบอร์ 1192 เพื่อความรวดเร็วในการกระจายข่าวไปในทุกหน่วยงานในพื้นที่
  • แจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้ๆ ให้รวดเร็วที่สุด เพื่อตำรวจจะได้รีบออกติดตามคนร้ายได้ทัน 
  • บอกต่อเพื่อนฝูง คนสนิทที่รู้จักทั้งหมด ให้รีบกระจายข่าวเพื่อออกติดตาม
  • ติดตาม และสอดส่องในจุดที่สันนิฐานว่าคนร้ายใช้เส้นทางใดหลบหนี หรือพบเห็นบุคคลต้องสงสัย ให้รีบแจ้งความดำเนินคดี

 

วิธีป้องกันรถหาย

ปัจจุบัน มีวิธีการดูแลและวิธีป้องกันรถหายด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อมาหยุดยั้งการโจรกรรมรถ ดังต่อไปนี้

  • ใช้อุปกรณ์ล็อกเกียร์ แนะนำให้ใช้ยี่ห้อที่มีชื่อเสียง วัสดุเป็นสแตนเลส หรือเหล็กกล้าอย่างดี ถ้าเป็นแบบของแถมราคาถูกต้องขอบอกตรง ๆ เลยครับว่าเหมือนของประดับรถมากกว่า
  • ใช้อุปกรณ์ล็อกพวงมาลัย เพราะคนร้ายต้องใช้เวลาในการปลดล็อกเพิ่มขึ้น คนร้ายอาจใช้วิธีขันพวงมาลัยออกมาปลดล็อก หรือตัดพวงมาลัยออกแบบพวงมาลัยเครื่องบิน แล้วขับหนีกันไปแบบนั้นเลย
  • ใช้อุปกรณ์ล็อกเบรคครัช เป็นแบบที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ผลิตกันมามากมายหลายยี่ห้อ การล็อกแบบนี้จริง ๆ แล้วถือเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมาก บางรุ่นคนร้ายอาจต้องใช้แก็สตัดเพื่อปลดล็อกเลยก็ได้
  • ไม่จอดรถในที่เปลี่ยว เวลาหาที่จอดรถ ไม่ควรจอดในที่เปลี่ยว หรือลับตาคน หากจำเป็นต้องจอดค้างคืนไว้ควรเลือกที่จอดที่ปลอดภัยเพื่อไม่ให้คนร้ายขโมยไปได้ง่ายๆ
  • ป้องกันการถูกปั้มกุญแจ เวลานำรถไปซ่อมตามอู่ หรือล้างอัดฉีด คนร้ายอาจใช้เวลาที่เราเผลอ แอบปั้มลูกกุญแจและสะกดรอยตาม ดังนั้นเวลานำรถไปซ่อมหรือล้าง ควรทิ้งไว้เฉพาะกุญแจรถเท่านั้น กุญแจล็อกแบบอื่นๆ ต้องเก็บไว้ให้หมด
  • ป้องกันการถูกล่อลวง ในการติดต่อขอซื้อรถ หากมีการนัดพบในที่เปลี่ยวหรือที่ลับตาคน ควรหลีกเลี่ยง และแนะนำเป็นที่ที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือมีกล้องวงจรปิดอยู่

 

เปิด 3 สถานที่ “เสี่ยง” รถหาย อย่าจอดถ้าไม่จำเป็น

สถานที่เสี่ยงรถหายเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ผู้ขับขี่ ผู้ที่มีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ตลอดจนรถที่ใช้ในกระบวนการขนส่งโลจิสติกส์ เช่น รถกระบะ รถพ่วง รถบรรทุก ฯลฯ ควรรู้ จะได้หลีกเลี่ยงการนำรถไปจอดค้างคืน จอดชั่วคราว ในสถานที่ดังกล่าว เป็นอีกวิธีช่วยลดความ เสี่ยงไม่ให้รถถูกโจรกรรมได้

  •  ที่จอดรถริมถนน ใครที่มีที่อยู่อาศัยอยู่ติดกับถนนหลักตลอดจนถนนในซอย รวมถึงการจอดรถหน้าบ้าน ที่อาศัยอยู่ นั่นอาจไม่ใช่ที่จอดรถที่มีความปลอดภัยสูงอย่างที่คิดอีกต่อไป เพราะที่จอดรถ ริมถนน / ที่จอดรถหน้าบ้านที่ไม่มีรั้วรอบขอบชิด กลายเป็นสถานที่เสี่ยงอันดับ 1 ที่สถิติพบว่า รถที่จอดค้างคืนไว้ในบริเวณนี้เป็นประจำ, จอดทุกวัน มักจะถูกโจรกรรมมากที่สุด
  • ลานจอดรถของอาคารที่พักอาศัย ด้วยจำนวนผู้พักอาศัยจำนวนมาก ทำให้ปริมาณรถกับพื้นที่จอดไม่สัมพันธ์กัน ทำให้ลาน จอดรถของอาคารที่พักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ทเม้นท์ คอนโด หอพัก แมนชั่น ฯลฯ เป็นอีก สถานที่เสี่ยงที่โจรนิยมเข้าไปโจรกรรมมากที่สุด
  • ลานจอดรถลานเคหะฯ ลานเคหะฯ มักมีลักษณะเป็นพื้นที่กว้าง ไม่มีการเก็บค่าบริการที่จอดรถและไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแล ตรวจสอบความปลอดภัย ทำให้ลานจอดรถ ลานเคหะฯ กลายเป็นอีกเป้าหมายที่โจรชอบเข้าไปโจรกรรม ชนิดที่ถ้ารถเกิดหายวับไปกับตา จะตามคืนก็ยากยิ่ง เพราะระบบการรักษาความปลอดภัยต่ำเมื่อเทียบกับลานจอดรถของเอกชน

ที่มา : Eyefleet , สสส. , ธรรมนิติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related