svasdssvasds

เตือนภัย! ดีอียก 5 เคสหลอกหลวงจากโจรออนไลน์ "ซื้อขายสินค้า" พุ่งเป็นอันดับ 1

เตือนภัย! ดีอียก 5 เคสหลอกหลวงจากโจรออนไลน์ "ซื้อขายสินค้า" พุ่งเป็นอันดับ 1

ศูนย์ AOC เผย 5 คดีตัวอย่าง อาชญากรรมออนไลน์ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง มูลค่าความเสียหายรวมเฉียด 4 แสนบาท สั่ง เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ

ในปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพ ได้พัฒนารูปแบบการหลอกลวงประชาชน แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ หลอกให้ประชาชนหลงเชื่อ กดลิงก์ปลอม หลอกให้โอนเงิน  มักมาทุกรูปแบบจนประชาชนตามไม่ทัน ซึ่งมุกมีใหม่ๆที่ไม่มีใครคาดคิดทำให้มีประชาชนหลงกลตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ที่ผ่านมามีผู้เสียหายแล้วหลายราย

น.ส.วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 30 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่าง อาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง

เคสตัวอย่างจำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

  • คดีที่ 1 หลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน มูลค่าความเสียหาย 10,000 บาท

ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook Messenger โดยใช้ Facebook ของเพื่อนผู้เสียหาย ทักข้อความมาขอยืมเงินอ้างว่าเดือดร้อน ผู้เสียหายหลงเชื่อ เพราะเห็นเป็น Facebook เพื่อนตนเองจึงให้ความช่วยเหลือ ภายหลังโอนเงิน ไม่สามารถตอบกลับข้อความได้อีก ผู้เสียหายจึงติดต่อกับเพื่อนโดยตรงเลยทราบว่า ตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

  • คดีที่ 2 หลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 111,000 บาท

ผู้เสียหายได้ถูกชักชวนลงทุนแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลผ่านช่องทาง Facebook อ้างผลตอบแทนสูง โดยส่งลิงก์ให้สมัคร https://thaisetdrx.vip พร้อมให้คำแนะนำในการลงทุน ซึ่งในระยะแยกได้รับผลตอบแทนจริงเพราะการลงทุนยังไม่มาก ต่อมาภายหลัง ให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้นและไม่สามารถขอยกเลิกการลงทุนได้ หากต้องการยกเลิก มิจฉาชีพอ้างว่าต้องมีการเสียภาษี ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

 

  • คดีที่ 3 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 36,143 บาท

ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2494-8683 อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่แอปพลิเคชัน TikTok แจ้งว่า เป็นผู้โชคดีได้รับสินค้าพัดลมไอเย็น หรือจะเปลี่ยนเป็นรับเงินสดแทนก็ได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงเพิ่มเพื่อนช่องทาง Line มิจฉาชีพ ดึงเข้า Group Line อธิบายคำแนะนำภารกิจกลุ่ม โดยให้โอนเงินลงทุนกดถูกใจ กดแชร์ หน้าสินค้าจะได้รับคอมมิชชันคืนกลับมา ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลัง ภารกิจเริ่มมากขึ้น อ้างว่าทำภารกิจไม่สำเร็จ ไม่ได้รับผลตอบแทน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

  • คดีที่ 4 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความหวาดกลัวหลอกให้โอนเงิน Call Center มูลค่าความเสียหาย 202,850 บาท

ผู้เสียหายได้เคยแจ้งความออนไลน์คดีเงินลงทุนดิจิทัลผ่านช่องทาง Facebook ปลอม “ศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อคดีช่อโกงออนไลน์และไซเบอร์” ภายหลังได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ดูแลคดี ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line เพื่อติดต่อกับสภาทนายความ แจ้งผู้เสียหายว่า มีค่าดำเนินการเอกสาร ค่าเสียภาษี โดยให้โอนเงินไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้เงินที่ลงทุนไป คืนกลับมา ต่อมาภายหลังผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

  • คดีที่ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความหวาดกลัวหลอกให้โอนเงิน Call Center มูลค่าความเสียหาย 33,805 บาท

ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางโทรศัพท์ หมายเลข 09-4482-1401 อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท AIS แจ้งว่ามีผู้นำสำเนาบัตรประชาชนไปลงทะเบียน เปิดบริการหมายเลขใหม่เพื่อเป็นบัญชีมิจฉาชีพ จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line เพื่อคุยกับมิจฉาชีพที่อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี Video Call พูดคุยแล้วแสดงภาพสมุดบัญชีธนาคารระบุชื่อผู้เสียหายและภาพคนร้ายที่ถูกจับกุม โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ภายหลังโอนเงินไม่สามารถติดต่อกลับได้อีก

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 393,798 บาท

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่  31 พฤษภาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

  1. สายโทรฯ เข้า 1441 จำนวน 94,087 สาย/เฉลี่ยต่อวัน 3,259 สาย
  2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 71,794 บัญชี/เฉลี่ยต่อวัน 1,005 บัญชี
  3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่

(1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 52,469 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 30.54

(2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 38,816 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 22.59

(3) หลอกลวงลงทุน 29,850 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 17.38

(4) หลอกลวงให้กู้เงิน 13,673 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.96

(5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 11,746 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 6.82

(และคดีอื่นๆ 25,240 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.69)

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพได้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทเอกชน และเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้การติดต่อผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดียคือ Line  และ Facebook  หรือโทรข่มขู่ ทั้งนี้จึงขอความร่วมมือประชาชนตรวจสอบการกระทำพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่ติดต่อมาอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะทำธุรกรรม อย่ากดเข้าลิงก์แพลตฟอร์มใดๆ ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงการตรวจสอบซิมผี และบัญชีม้า เพื่อตัดตอนวงจรเครือข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ และแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441

ที่มา : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related