“นายกฯ แพทองธาร” เปิดงาน “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า ชี้ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาการรอ และผู้ป่วยพึงพอใจกับนโยบายกว่า 98%
วันนี้ (27 ก.ย. 2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวปาฐกถา “จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” ก่อนเปิดงาน 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 46 ณ ลานอเนกประสงค์ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ
โดยนายกฯ เปิดเผยว่า พูดถึง 30 บาทรักษาทุกโรคก็ทำให้เกิดภาพมากมาย ตนได้ยินนโยบายนี้มาตั้งแต่อายุประมาณ 8-9 ขวบ และไม่ว่าจะไปที่ไหนไหนผ่านมาแล้วเป็นสิบๆปี ก็ยังมีคนขอบคุณและพูดถึงนโยบายนี้เสมอ ซึ่งดิฉันเองมีประสบการณ์ดีๆ หลายอย่าง
ขอยกตัวอย่างสั้นๆวันหนึ่งคุณพ่อตอนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ได้กลับมาที่บ้านทานข้าวเย็นกันปกติ คุณพ่อบอกว่าไปต่างจังหวัดมา มีผู้ชายคนหนึ่งวิ่งมาหาและเปิดเสื้อมีแผลยาวตั้งแต่ด้านบน ถึงช่วงท้อง และบอกว่าได้ผ่าตัดหัวใจมาด้วยบัตร 30 บาท ซึ่งคุณพ่อเล่าด้วยความภาคภูมิใจอย่างมาก
ซึ่งวันนั้นคุณพ่อเป็นหัวหน้ารัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เบื้องหลังการทำงานยังมีคนอื่นอีกมากมายที่ทำให้นโยบายนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ รวมถึงให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ 30 บาท ไม่ต้องล้มละลาย ไม่ต้องจ่ายเงินมากมาย กู้หนี้ยืมสินมาตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลในวันนั้น จนมาถึงรัฐบาลเพื่อไทยในวันนี้ เรามีความภูมิใจอย่างมากกับนโยบายที่สร้างความภาคภูมิใจอย่างที่สุดให้กับเรา ฉะนั้นมาถึงวันนี้ถึงเวลาแล้วเราจะต่อยอด 30 บาทรักษาทุกโรคให้เป็น 30 บาทรักษาทุกที่
เวลาผ่านไปมีนวัตกรรมต่างๆ มากขึ้น เราได้เก็บตัวอย่างทั้งข้อดีและข้อเสียพร้อมที่จะปรับปรุง อย่างที่บอกผ่านมาแล้วตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ 23 ปีวันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่มาถึงกรุงเทพฯ ต้องลองถามพี่น้องคนกรุงเทพฯ เวลาเจ็บป่วยไปหาหมอที่ไหนกันบ้าง เวลาเจ็บป่วยเอาแค่ตัวร้อน ปวดท้องบางทีต้องเสียเวลาทั้งวันไปรอในโรงพยาบาลรัฐใหญ่ๆ ถ้าพูดถึงบางคนที่มีทุนทรัพย์ไม่อยากไปรอทั้งวันก็ไปโรงพยาบาลเอกชนทั้งนี้ เรื่องสาธารณสุขสำคัญมาก คนที่มากรุงเทพฯไม่มีทางเลือก ไปที่ไหนก็ต้องไปโรงพยาบาลที่ต้องรอนาน
วันนี้ถือว่ากรุงเทพฯ ยังขาดแคลนในเรื่องของบริการสาธารณสุขระดับต้นและระดับกลางมากกว่าต่างจังหวัด ซึ่งตอนนี้กรุงเทพฯควรมีศูนย์บริการสาธารณสุข 500 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 50 แห่ง หากเราป่วยขั้นพื้นฐานและสามารถเข้าในคลินิกหรือร้านขายยาควรที่จะได้การรักษาในแบบเดียวกัน นั่นคือการได้รับยาที่มีคุณภาพ เพื่อที่สามารถดูแลตัวเองและเฝ้าระวังระยะการป่วยที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาที่โรงพยาบาลใหญ่ และบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องทำงานหนักขึ้น เมื่อเวลาที่เราป่วยเล็กๆน้อยๆดูแลทั้งหมดเท่ากัน
อย่างไรก็ตามการดำเนินงานตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา 30 บาทรักษาทุกที่ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากและมีผลงาน 1 ใน 4 ของผู้ป่วยเลือกใช้บริการที่คลินิกเอกชนใกล้บ้านแทนการมาโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัดลดระยะเวลาการรอตรวจ ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่สำคัญลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล โดยเฉลี่ย 160 บาทต่อครั้งลดระยะเวลาในการรอถึง 50% จากเฉลี่ย 2 ชั่วโมงเหลือประมาณ 1 ชั่วโมง
เมื่อรักษาใกล้บ้านก็จะลดภาระการขาดงานของผู้ป่วยและญาติที่มาด้วยกันที่สำคัญพี่น้องประชาชนผู้เข้ารับบริการกว่า 98% พึงพอใจกับนโยบายนี้อย่างมาก 30 บาทรักษาทุกที่เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยตอนแรกเริ่มใน 4 จังหวัดนำร่องและขยายนโยบายครอบคลุมเพิ่มเติมไปอีก 41 จังหวัดรวมทั้งสิ้น 45 จังหวัดและวันเดียวกันนี้ จะเป็นอีกวันประวัติศาสตร์ทางด้านสาธารณสุขไทยที่ต้องบันทึกไว้ว่าเราทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลสภาวิชาชีพทางการแพทย์ หน่วยบริการภาคเอกชนและประชาชน ได้ร่วมมือกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทำให้กรุงเทพฯ อยู่ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่
เครดิตภาพ : Nation Photo
ข่าวที่เกี่ยวข้อง