svasdssvasds

สิทธิเลือกใช้ 'คำนำหน้านาม' นาย /นางสาว/ หรือไม่ใช้เลย ก้าวต่อไปของ LGBTQ+

สิทธิเลือกใช้ 'คำนำหน้านาม'  นาย /นางสาว/ หรือไม่ใช้เลย ก้าวต่อไปของ LGBTQ+

‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านแล้ว หลังจากนี้ สิทธิการเลือกใช้คำนำหน้าชื่อ หรือ พรบ.รับรองเพศสภาพน่าจะเป็นสิ่งที่ผลักดันต่อไป LGBTQ+ ให้มีสิทธิใช้คำนำหน้านามตามสมัครใจ

หลังจากที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้ผ่านมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อย และในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมได้ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาในวาระที่ 2 และ 3 

ทำให้การผ่านร่างกฎหมายในครั้งนี้ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ถัดจากไต้หวันและเนปาล ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ต่อมา 4 กรกฎาคม 2567 อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้ลงนามทูลเกล้าถวาย ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อทรงลงพระปรมาภิไทย ซึ่งกฎหมายจะมีผลบังคับใช้จริง 120 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

กระทั่งล่าสุด  (24 กันยายน 2567) ราชกิจจาฯ ได้มีการเผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน  ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2568

นั่นหมายความว่า ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไปเพศหลากหลายสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้  โดยได้รับสิทธิในทางกฎหมาย ได้รับสวัสดิการต่างๆ ในฐานะคู่สมรส รวมถึงสิทธิในมรดก รวมถึงสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมถึงสิทธิอื่นๆ ที่พึงมีได้ด้วย

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญ จุดเริ่มต้นของการ ให้สิทธิผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศพึงจะได้รับ  ขณะที่ก้าวต่อไปคือ “สิทธิการรับรองเพศสภาพ”  หรือ ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์’ ที่เสนอ LGBTQ+ เปลี่ยนคำนำหน้าได้ สามารถใช้คำนำนามตามเพศสภาพที่ตนขอรับรองไว้ได้

เนื่องจาก บุคคลที่ได้ตัดสินใจเลือกเพศสภาพ เลือกอัตลักษณ์ของตนแล้วนั้น  ภายนอกร่างกายเป็นหญิง แต่เอกสารราชการหรือหากเดินทางไปต่างประเทศ กลับมีคำนำหน้าเป็นนาย ก็อาจมีปัญหาในการเข้าประเทศได้

ร่างกฎหมายนี้จะเข้ามาช่วยในการดำเนินชีวิต ได้รับการยอมรับและเคารพในเพศสภาพ หรืออัตลักษณ์ที่บุคคลนั้น ได้เลือกแล้วผ่านกฎหมาย    นอกจากนี้ยังให้สิทธิในการเลือกคำหน้านามที่เป็นกลาง หรือสิทธิไม่ระบุคำหน้านาม เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศ

ซึ่งก่อนหน้านี้ ร่างของพรรคก้าวไกล ระบุเพศสภาพไว้ 3 แบบ คือ เพศสภาพชาย, เพศสภาพหญิง และเพศสภาพหลากหลาย สำหรับคำนำหน้านามของชายและหญิงให้ใช้ตามปกติ ขณะที่คำนำหน้านามของเพศสภาพหลากหลายให้ใช้คำว่า “นาม”

ยกตัวอย่างร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศสภาพ ดังนี้

  • คุ้มครองสิทธิการรับรองทางกฎหมาย ผ่านการกำหนดมาตรการรับรองสถานะความเป็นบุคคลให้ตรงกับเจตจำนงในเพศสภาพของบุคคลนั้น โดยไม่ต้องผ่านการรับรองหรือกระบวนการทางการแพทย์
  • คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ ซึ่งรวมถึง
  • สิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศสภาพ
  • สิทธิในการเลือกคำนำหน้านามที่เป็นกลางทางเพศ (เช่น “นาม”)
  • สิทธิในการเลือกไม่ใส่คำนำหน้านาม (ระบุเพียงชื่อและนามสกุล)

แม้ร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ของพรรคก้าวไกล ถูกปัดตกไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567  

อย่างไรก็ตาม  การรับรองเพศสภาพและเปลี่ยนคำนำหน้านามนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในต่างประเทศ ก็มีประเทศที่รับรองสิทธิเหล่านี้แล้ว เช่น เดนมาร์กเป็นประเทศแรกในทวีปยุโรปที่บังคับใช้กฎหมายในปี 2014 โดยอนุญาตให้บุคคลที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป สามารถเปลี่ยนเพศสภาพทางกฎหมายตามที่ต้องการได้  หรือประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เลือกระบุเพศสภาพ M (ชาย) F (หญิง) X (เพศกลาง/ไม่ระบุเพศ) ในหนังสือเดินทาง (พาร์สปอร์ต) ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ เป็นต้น