SHORT CUT
เปิดพิกัดอันตราย 18 ร้านที่รับสุราเถื่อน "เมทานอล" ไปจำหน่าย พร้อมย้ำผู้บริโภคเร่งสังเกตอาการ หากผิดปกติต้องเข้ารับการรักษาทันที อันตรายถึงชีวิต
จากกรณีที่พบผู้ป่วยมีอาการเป็นพิษเฉียบพลันจากการดื่มสุราเถื่อน (เมทานอล) ในเวลาใกล้เคียงกัน จำนวน 19 ราย ตั้งแต่วันที่ 22-24 ส.ค.67 ตรวจสอบเบื้องต้น พบผู้ป่วย ซื้อเหล้าเถื่อน (ยาดอง) จากร้านจำหน่าย (ซุ้มยาดอง) ในพื้นที่ถนนหทัยราษฎร์ ถนนสามวา ถนนเจริญพัฒนา และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ พื้นที่เขตมีนบุรีและเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานเขตคลองสามวา ได้โพสต์ข้อความระบุว่า แจ้งพิกัดอันตราย ร้านรับซื้อสุราเถื่อน (เมทานอล) ไปจำหน่าย 18 แห่ง ผู้บริโภค เร่งสังเกตอาการ เข้ารับการรักษาทันที อันตรายถึงชีวิต ตำรวจสั่งปิดร้านยาดอง ย่านมีนบุรี-คลองสามวา และพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออก
เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้สืบสวนสอบสวน พบผู้ผลิตสุราเถื่อน (เมทานอล) ที่อาจเป็นพิษกับผู้บริโภค ส่งขายร้านยาดอง ในพื้นที่ใกล้เคียง 18 แห่ง จึงขอแจ้งเตือนให้ผู้มีประวัติดื่มสุราเถื่อน (ยาดอง) บริเวณใกล้เคียงร้านที่รับไปจำหน่าย สังเกตอาการและพบแพทย์โดยด่วน อาจเป็นอันตรายได้ ดังนี้
สารเมทานอล (methanol หรือ wood alcohol) เป็นแอลกอฮอล์ชนิดเชื้อเพลิง เป็นสารพิษที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ไม่ควรนำมาบริโภค แต่ที่พบเมทานอลอยู่ในเครื่องดื่มเนื่องจาก "เมทานอล" มีราคาถูกกว่า "เอทานอล" หากนำทั้ง 2 สารมาผสมกันจะทำให้ลดต้นทุนในการผลิต จึงมักพบได้ในสุราปลอม ยาดอง เหล้าขาวที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน หรือขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตที่ถูกต้อง
ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราที่มีเมทานอลปนเปื้อน มักจะพบในสุราปลอม เหล้าเถื่อนที่ต้มกลั่นเอง ขนาดที่เริ่มเป็นพิษประมาณ 100 mg/kg ขนาดที่เป็นพิษรุนแรงจนผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตมักมากกว่า 60 ml ของ 40% เมทานอล
ถ้าผู้ป่วยได้รับเมทานอลเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ประมาณ 95% จะถูกกำจัดที่ตับ แต่อาการของการเป็นพิษที่เกิดขึ้นจะเกิดการสะสมของกรดฟอร์มิก (formic acid) ที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis) และเป็นพิษต่อตา (ocular toxicity) ได้
อาการของภาวะเป็นพิษจากเมทานอล หลังได้รับเมทานอล ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 3 วัน ถ้าผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอล ร่วมกับเอธานอล จะทำให้อาการเริ่มแรกช้าลงไปอีก
ผู้ป่วยอาจมีอาการของทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
อาการที่ค่อนข้างจำเพาะได้แก่ พิษทางตา ได้แก่ ตาพร่า ตามัว แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด (snowfield vision)
นอกจากนี้ยังพบอาการอื่น ๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย สับสน มึนงง ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการชัก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่ทันผู้ป่วยมักเสียชีวิต
การรักษาผู้ป่วยภาวะเป็นพิษจากเมทานอล แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการของผู้ป่วย เมทานอลจะทำให้ผู้ป่วยซึม และกดการหายใจ จึงต้องระวังเรื่องการหายใจ และต้องแก้ภาวะเลือดเป็นกรดซึ่งบางครั้งรุนแรงมาก นอกจากนี้ยังต้องแก้อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้ป่วยเพิ่งดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอลผสมอยู่ไม่นานนัก อาจพิจารณาวิธีการใส่สายเข้าไปในกระเพาะอาหารผ่านทาง รูจมูก เพื่อนำสารพิษออกจากระบบทางเดินอาหารอย่างรวดเร็ว หรือทำให้อาเจียน
นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยยาต้านพิษที่สำคัญคือการให้เอธานอลไปยับยั้งการเปลี่ยนเมทานอลเป็นกรดฟอร์มิก สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษในร่างกาย
ดังนั้นหากไม่อยากเสี่ยงภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ควรเลือกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ หรือถ้าจะให้ดีควรงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ไปเลยก็จะปลอดภัย และดีต่อสุขภาพที่สุด
ที่มา : สำนักงานเขตคลองสามวา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง