SHORT CUT
หากสหรัฐฯ ไม่ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ ญี่ปุ่นจะไม่ยอมแพ้ และแผ่นดินไทยอาจเหมือนโศกนาฏกรรมที่หนานจิง?
วันที่ 6-9 ส.ค. 67 นี้ คือวันครอบรอบ 79 ปี การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังเป็นการเตือนให้ชาวโลกตระหนักว่า ประเทศมหาอำนาจได้พัฒนาอาวุธทำลายล้างชนิดนี้สำเร็จแล้ว ซึ่งมันได้ส่งผลต่อการเมืองโลกหลังจากนั้นไปตลอดกาล
SPRiNG ชวนคุยกับ ปัญญาณัฏฐ์ ณัธญาธรนิประดิษฐ์ หรือครูเบน อดีตผู้เข้าแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้สงครามโลก เมื่อปี 2555 ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของ ช่องยูทูบ ‘KruBen WarHistory’ และเจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘KruBen WarHistory’ คอมมูนิตี้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์สงครามจากหลายยุคสมัยบนโลก ซึ่งเขาจะมาเล่าถึงเหตุผลที่สหรัฐฯ เลือกใช้อาวุธนิวเคลียร์กับญี่ปุ่น ซึ่งการที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง และในอนาคตมีความเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์
ครูเบนเล่าว่า ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรพิชิตเยอรมนีในยุโรปได้แล้ว เหลือแค่ญี่ปุ่นที่ยังคงต่อสู้อยู่ในเอเชีย ซึ่งก็ได้มีความพยายามส่งทูตไปเจรจาให้ญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะดื้อดึงไปยังไงก็แพ้ แต่เพราะความเป็นชาตินิยมแบบญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นเลยตัดสินใจแล้วว่า จะไม่ยอมแพ้ เพราะถ้ายอมก็มีโทษถึงประหาร แต่ท้าสู้อาจมีโอกาสรอด ซึ่งมันเป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไม่จริง เนื่องจากเวลานั้นเกาะญี่ปุ่นโดนปิดล้อมหมดแล้ว
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น สหรัฐฯ ที่ซุ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มานาน ก็มองว่าการใช้อาวุธชนิดนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วในการกดดันญี่ปุ่น แต่พวกเขาก็ไม่ได้คาดหวังว่าญี่ปุ่นจะยอมแพ้เพราะอาวุธนิวเคลียร์ และสหรัฐก็ได้เตรียมแผน ‘ยุทการดาวน์ฟอล (Operation Downfall) ’ เอาไว้บุกแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งก่อนจะบุกเข้าไปจะมีการทิ้ง นิวเคลียร์ตามเมืองสำคัญต่างๆ ซึ่งมันจะมากกว่า 2 ลูกด้วยซ้ำ และจะทำให้มีพลเรือนญี่ปุ่น ทหารญี่ปุ่น และทหารพันธมิตร ล้มตายอีกจำนวนมาก และสงครามอาจลากยาวไปถึงปี 1950
ครูเบนเล่าว่า ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรพิชิตเยอรมนีในยุโรปได้แล้ว เหลือแค่ญี่ปุ่นที่ยังคงต่อสู้อยู่ในเอเชีย ซึ่งก็ได้มีความพยายามส่งทูตไปเจรจาให้ญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะดื้อดึงไปยังไงก็แพ้ แต่เพราะความเป็นชาตินิยมแบบญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นเลยตัดสินใจแล้วว่า จะไม่ยอมแพ้ เพราะถ้ายอมก็มีโทษถึงประหาร แต่ท้าสู้อาจมีโอกาสรอด ซึ่งมันเป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไม่จริง เนื่องจากเวลานั้นเกาะญี่ปุ่นโดนปิดล้อมหมดแล้ว
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น สหรัฐฯ ที่ซุ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มานาน ก็มองว่าการใช้อาวุธชนิดนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วในการกดดันญี่ปุ่น แต่พวกเขาก็ไม่ได้คาดหวังว่าญี่ปุ่นจะยอมแพ้เพราะอาวุธนิวเคลียร์ และสหรัฐก็ได้เตรียมแผน ‘ยุทการดาวน์ฟอล (Operation Downfall) ’ เอาไว้บุกแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งก่อนจะบุกเข้าไปจะมีการทิ้ง นิวเคลียร์ตามเมืองสำคัญต่างๆ ซึ่งมันจะมากกว่า 2 ลูกด้วยซ้ำ และจะทำให้มีพลเรือนญี่ปุ่น ทหารญี่ปุ่น และทหารพันธมิตร ล้มตายอีกจำนวนมาก และสงครามอาจลากยาวไปถึงปี 1950
ทว่าเมื่อทิ้งนิวเคลียร์ไป 2 ลูก ก็ทำให้ญี่ปุ่นเสียหายหนักไปแล้ว ญี่ปุ่นยังโดนกดดันอีกทางนั่นคือ ‘กองทัพแดง’ แห่งสหภาพโซเวียต หากย้อนกลับไปในปี 1941 ญี่ปุ่นกับโซเวียต เคยลงนามความเป็นกลาง และจะไม่รุกรานกันเอาไว้ (Soviet–Japanese Neutrality Pact) แต่สัญญานี้จะหมดอายุในปี 1946 ซึ่งทางโซเวียตก็ไม่ได้แสดงท่าทีจะต่อสัญญานี้ และในที่สุดโซเวียตก็บุก แมนจูเรียซึ่งเป็นดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครอง จึงทำให้ญี่ปุ่นโดนกดดันจากทั้งสหรัฐฯ และโซเวียต จนนำมาสู่การยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 ส.ค. 1945 ในที่สุด
ครูเบนเล่าว่า หากไม่มีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น อาจมีการหลั่งเลือดบนแผ่นดินประเทศไทย เพราะกองทัพญี่ปุ่นจะสู้ต่อไปและฝ่ายพันธมิตรก็มีแผนที่จะบุกเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงปลายปี 1945 แต่ก่อนที่การบุกจะเริ่มขึ้น กองทัพพันธมิตรจะโหมการโจมตีทางอากาศต่อที่มั่นทางทหาร และเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ต่างๆ ในประเทศไทย และจะต้องมีประชาชนรับเคราะห์จากสงครามที่ยังต้องดำเนินต่อไป
เมื่อการบุกเข้าสู่ประเทศไทยตามแผนเริ่มขึ้น แนวร่วมกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นในไทยจะลุกฮือขึ้นต่อสู้และจะประสานพร้อมกับสนับสนุนการบุกของฝ่ายพันธมิตร เมื่อเป็นเช่นนั้นกองทัพญี่ปุ่นจะสู้แบบหลังชนฝาเพราะพวกเขาถอยเข้ามาในไทยประเทศพันธมิตรของตนเองแต่กลับถูกหักหลัง พวกเขาจะโกรธกับการย้ายข้างของไทย ดังนั้น พลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวกับการทำสงครามจะกลายเป็นเครื่องรองรับโทสะของทหารญี่ปุ่น เหตุการณ์แบบหนานกิงหรือมะนิลา อาจจะเกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งของประเทศไทย และถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว มันจะกลายเป็นรอยแผลทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นไปอีกนานแสนนาน
ในประเด็นนี้ ครูเบนเล่าว่า ช่วงสงครามโลก ไม่ว่าจะฝ่ายไหน หากทำสงครามกัน เขาจะยึดถือสัญญาแค่ 2 ฉบับ คือ ‘อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) ’ และ ‘สนธิสัญญากรุงเฮก (The Hague Conventions) ’ ซึ่งมีกฎคุ้มครองพลเรือนจากการรบ และคุ้มครองเชลยศึกไม่ให้ถูกทรมาน แต่ที่น่าสังเกตคือไม่มีกฎบัญญัติข้อไหนระบุว่า ต้องคุ้มครองพลเรือนจากการโจมตีทางอากาศเลย
เหตุผลคือ เพราะโลกยังเข้าใจว่า อากาศยานหรือเครื่องบินเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ แม้จะมีการใช้อยู่บ้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในการโจมตีและทิ้งระเบิด แต่ผลกระทบหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือปัญหาเศรษฐกิจและการระบาดของไข้หวัดสเปน ซึ่งเป็นภัยต่อประชาชนแบบชัดเจน จึงไม่ฝ่ายไหนมานั่งแก้กฎหมายให้พลเรือนได้รับการคุ้มครองจากการถูกโจมตีโดยเครื่องบินแบบจริงจัง
กลายเป็นว่า การโจมตีทางอากาศที่มีเป้าหมายเป็นพลเรือน สามารถทำได้ในสงครามโลกครั้งที่ 1-2 เพราะเหตุผลง่ายๆ คือไม่มีข้อห้ามตรงนี้ ที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อสงครามจบลง จอมพล ‘เฮอร์มาน เกอริง (Hermann Goering) ’ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมนีถูกตั้งข้อหาหลายข้อ แต่ไม่มีสักข้อที่ระบุว่า เขามีความผิดฐานสั่งทิ้งระเบิดใส่ประชาชน เช่นเดียวกับฝ่ายพันธมิตร ที่ไม่มีนายทหารสักคนขึ้นศาลเรื่องทิ้งระเบิดนิวเคลียร์เลย
ต้องยอมรับว่าสหรัฐเป็นนักเสี่ยงโชคโดยสัญชาตญาณ จริงอยู่เขาคือศัตรูที่ทำให้ญี่ปุ่นย่อยยับ แต่เขาก็มองออกว่า ถ้าเปลี่ยนญี่ปุ่นจากศัตรูให้เป็นมิตรได้ จะเป็นประโยชน์มาก เพราะเขาสามารถใช้เป็นฐานในการบุกจีน หรือสหภาพโซเวียตได้ เนื่องจาก 2 ชาตินี้ที่เคยเป็นพันธมิตรกันในสงครามโลก เริ่มมีทีท่าเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน
ดังนั้น ในบรรดาชาติต่างๆ ที่สหรัฐฯ เข้าไปช่วยเหลือหลังสงคราม ญี่ปุ่นถือว่าได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯมากที่สุด และไม่ได้ช่วยแค่ด้านมนุษยธรรม แต่ยังช่วยร่างรัฐธรรมนูญด้วย ขณะที่ เยอรมนี กับอิตาลี เขายังไม่ทำถึงขนาดนั้นเลย เพราะสหรัฐฯ เล็งเห็นว่า ญี่ปุ่นนี่แหละ คือชาติที่เขาต้องร่วมมือด้วยตลอดไปหลังจากนี้
ครูเบนกล่าวว่า หากอ้างอิงตามหนังสือประวัติศาสตร์ ‘วิกฤตการณ์คิวบา (Cuban Missile Crisis) ’ ปี 1962 คือช่วงที่โลกเสียงเกิดสงครามนิวเคลียร์มากที่สุด เพราะ สหรัฐอเมริกา กับโซเวียตเผชิญหน้ากันโดยตรง เหลือแค่สั่งยิงก็จบ ซึ่งโชคดีที่มันไม่เกิดขึ้น
แต่อีกเหตุการณ์หนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้จักคือ ปี 1995 หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย กลายเป็นสหพันธ์รัสเซียแล้ว สถานีเรดาร์ของรัสเซียที่อยู่ทะเลเหนือ เขาจับสัญญาณได้ว่ามีขีปนาวุธยิงเข้ามาในประเทศ เขาก็ตกใจและคาดว่าต้องยิงมาจากเรือรบสหรัฐฯ สักลำหนึ่ง ประธานาธิบดี ‘บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ’ ของรัสเซียตอนนั้น จึงเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง และมีการเอากระเป๋ายิงนิวเคลียร์ มาเตรียมพร้อม และยังแจ้งแก่ทหารจำนวนมกว่านี่ไม่ใช่การซ้อม แต่คือสงครามจริง นอกจากนี้ยังสั่งให้เรือดำน้ำที่ลาดตระเวนอยู่แถวชายฝั่งสหรัฐฯ เตรียมยิงขีปนาวุธตอบโต้เต็มที่
นายทหารรอบข้างประธานาธิบดีบอริส ต่างเร่งเร้าให้เขายิงตอบโต้ทันที แต่ ประธานาธิบดีรัสเซีย ยังคงใจเย็น และหลังจากผ่านไปหลายนาที ยังไม่มีรายงานว่าเมืองไหนของรัสเซียถูกโจมตีจากอาวุนิวเคลียร์ และท้ายที่สุด ปรากฏว่า ขีปนาวุธที่เห็นในเรดาร์รัสเซีย แท้จริงแล้วเป็นแค่จรวดสำรวจชั้นบรรยากาศของ สหรัฐฯ และนอร์เวย์ และกลายเป็นว่า เกือบเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 แบบไม่ได้ตั้งใจ
เหตุการณ์นี้ ให้ประธานาธิบดีบอริสถึงกับขึ้นไปคุยกับสหรัฐฯ เพื่อหา มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก
ครูเบนเผยว่า จริงๆ มันเริ่มมีกลิ่นอายสงครามครั้งใหม่แล้ว เพราะต้องไม่ลืมว่าสงครามโลกมันเกิดจากการเผชิญหน้ากันของชาติมหาอำนาจ เมื่อไหร่ที่ยักษ์ใหญ่เผชิญหน้ากัน มันจะเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้มันก็เกิดขึ้นแล้ว และรอเพียงแค่ชนวนเหตุเท่านั้น ที่นำไปสู่สงคราม
แต่เราก็หวังว่า โลกยุคใหม่ที่หลายสิ่งหลายอย่าง ยึดโยงให้โลกเข้ามาหาหัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ การศึกษา การค้า ที่ทำให้โลกมันเล็กลง จะช่วยยึดโยงโลกไว้ด้วยกันมากกว่าในอดีต ยกตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่ง อาจมีมากกว่า 1 ประเทศร่วมกันผลิต หากเกิดสงครามขึ้น มันก็ส่งผลกระทบต่อการผลิต ขายไม่ได้ ประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลที่ทำสงครามกันก็เดือดร้อน ดังนั้นสงครามระหว่างประเทศจึงเกิดขึ้นได้ยากมากกว่าอดีต
เราต้องไม่ลืมว่า สงครามกับการเมืองมันไปด้วยกัน พูดง่ายๆ ว่าการเมืองนำหน้าการทหาร ตราบใดที่ทุกฝ่ายยังพอใจในผลประโยชน์อยู่ สงครามก็ยังไม่เกิด อย่างมากก็เป็นสงครามการค้า สงครามทางธุรกิจ แต่ยากที่จะใช้กำลังทหารเป็นทางเลือกแรก เพราะบทเรียนจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ยังคอยย้ำเตือนเราอยู่ และตอนนี้ทุกฝ่ายก็มีอาวุธนิวเคลียร์ ถ้าเกิดสงคราม โลกต้องย่อยยับกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาแน่
กล่าวคือ อาวุธนิวเคลียร์ที่แต่ละประเทศครอบครอง มีหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจ และเอาไว้ต่อรองผลประโยชน์กับประเทศอื่นมากกว่า เพราะการมีอาวุธชนิดนี้จะทำให้ประเทศอื่นไม่กล้ามาเอาเปรียบ แต่คงไม่มีใครอยากใช้มันเป็นอาวุธจริงๆ เพราะการใช้นิวเคลียร์โจมตีข้าศึก อำนาจการทำลายของมัน จะทำลายทุกอย่างจนหมด และผู้ชนะจะได้แค่ดินแดนรกร้างว่างเปล่า ที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ไปอีกนานแสนนาน
แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะอาจมีใช้นิวเคลียร์แรงดันต่ำ หรือที่เรียกว่าอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี ซึ่งสามารถทำลายเมืองทั้งเมือง หรือเขตอุตสาหกรรมได้ แต่คงไม่ใช้แบบทำลายทั้งทวีป เหมือนที่เราเห็นในหนัง และหากมันเกิดขึ้นจริง ทวีปเอเชียจะเป็นสมรภูมิที่เดือดที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย และชาวอาเซียนจะถูกบีบให้เลือกข้างแน่น แต่เราได้แค่หวังว่า ผู้นำโลกคงไม่โง่พอที่จะทำให้เกิดสงครามอีก
ครูเบนทิ้งท้ายว่า การทิ้งนิวเคลียร์ใส่ ‘ฮิโรชิมา’ และ ‘นางาซากิ’ ของญี่ปุ่นทำให้โลกได้ตระหนักถึงอานุภาพความสยดสยองของมัน ซึ่งเห็นแล้วว่า มันไม่ได้ฆ่าคนให้ตายภายในครั้งเดียว เพราะคนที่รอดก็ต้องทุกข์ทรมานจากกัมมันตภาพรังสีของมันไปอีกหลายปี
ถ้าเกิดสงครามขึ้นจริงๆ หวังประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นคู่สงคราม จะช่วยกันกดดันให้รัฐบาลของตัวเอง เจรจาสงบศึก เพราะคนที่รับเคราะห์กรรมมากที่สุดคือประชาชน แต่ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของประชาชนในชาติ และรัฐบาลนั้นๆ ว่าเขามองสงครามอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง