SHORT CUT
ปัญหาสินค้าราคาถูก จากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาตีตลาดในไทย รวมถึงการรุกเข้ามาทำธุรกิจอื่นๆ เพื่อแข่งกับผู้ประกอบการไทย เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องเร่งหาทางรับมือ ล่าสุด 4 กระทรวง ออกโรงสกัดเข้มมาตรฐาน มอก.- อย.
ต้องยอมว่าจีน คือ ประเทศคู่ค้า การท่องเที่ยว การลงทุน ที่สำคัญของไทย โดยในปี2566 ที่ผ่านมา แม้ว่า ไทยยังขาดดุลการค้า 36,635 ล้านดอลลาร์ แต่แนวโน้มการค้าการลงทุน การส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยวมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวๆ ที่ปีหนึ่งๆ นักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล
สำหรับทั้งปี 2567 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย น่าจะสามารถจบปีที่อันดับ 1 ได้ โดยอาจมีจำนวนราว 5.2 ล้านคน (คาดการณ์ ณ 12 ธันวาคม 2566) เพิ่มขึ้นจากในปี 2566 ที่มีจำนวน 3.5 ล้านคน เนื่องจากจังหวะการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยน่าจะมีศักยภาพที่จะเร่งตัวขึ้นได้ต่อเนื่องถ้าเทียบกับก่อนโควิดที่มีจำนวนราว 11 ล้านคน
นอกจากนักท่องเที่ยวจีนที่มาท่องเที่ยวไทยเติบโตต่อเนื่อง สินค้า และบริการ จีนก็มีการลงทุนในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยข้อมูลจากข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า “จีน” มีมูลค่าการลงทุน 382,061 ล้านบาท เป็นอันดับ 3 สัดส่วน 9.48% รองจากญี่ปุ่น เป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 993,355 ล้านบาท สัดส่วน 24.65% อันดับ 2 สิงคโปร์ 473,572 ล้านบาท สัดส่วน 11.75% จะเห็นว่า นิติบุคคลที่ได้เงินลงทุนจากจีน แม้จะเป็นอันดับ 3 ห่างญี่ปุ่น และสิงคโปร์ค่อนข้างมาก แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2567 มากกว่าปี 2566 ประมาณ 13%
สำหรับสินค้า และบริการของจีนที่มาลงทุนในไทย และผู้ประกอบการไทยมีความกังวล คือ สินค้าราคาถูก โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ แล้วนำมาจำหน่ายตีตลาดไทย อาจทำให้สินค้าไทยแข่งขันไม่ได้ หรือผู้บริโภคมีโอกาสได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหานี้มีแนวโน้มทวีความรุนแรง และกระทบกับผู้ประกอบการไทย ดังนั้นไทยจึงมีความจำเป็นต้องหามาตรการรองรับผลกระทบดังกล่าว
จากกรณีสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยอย่างต่อเนื่องจนมีผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ล่าสุดภาครัฐกำลังหาทางรับมือ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ออกมาระบุถึงแนวทางป้องกันสินค้าจีนทะลักเข้าไทย
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีนได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปติดตามดูแลเรื่องนี้แล้ว โดยให้ติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจะมีการเรียกประชุม 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม สาธารณสุข อย่างไรก็ตามจะเน้นการควบคุมมาตรฐานสินค้า เพื่อพิจารณาการนำเข้า-ส่งออกสินค้าให้มีมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรม และมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ทั้งจะหาแนวทางควบคุมป้องกันได้อย่างไรบ้าง หรือจะแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคฉบับใดได้บ้างที่ไม่ขัดต่อความตกลงขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ด้วย ในส่วนกรณีบริษัทด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่เข้ามาบุกตลาดในประเทศไทย จนเกิดข้อกังวลว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการไทย กระทรวงพาณิชย์รับทราบแล้ว
ด้านนายประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีสั่งให้ตรวจสอบแอปพลิเคชัน TEMU ว่า แพลตฟอร์มนี้ได้มาจดแจ้งที่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เมื่อต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายกลัวว่าแพลตฟอร์มนี้ขายสินค้าราคาถูก จะตัดช่องธุรกิจในประเทศไทย เป็นประเด็นที่ทางกระทรวงดีอี ติดตามอยู่ การขายสินค้าของแพลตฟอร์มนี้ เป็นการขายสินค้าตรงจากทางโรงงาน หลายสินค้าไม่มีแบรนด์อาจทำให้สินค้าราคาถูก ซึ่งต้องดูองค์ประกอบด้วยเช่นคุณภาพสินค้า ที่มีการลดราคาสูงถึง 90% หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องติดตามดู
ในส่วนเรื่องมาตรฐานสินค้า ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องพูดคุยกันขณะที่กระทรวงดิจิทัลฯ จะดูเรื่องแพลตฟอร์ม เป็นหลัก เช่นจะต้องมีการคืนสินค้า การขนส่ง ส่วนเรื่องคุณภาพ และมาตรฐานสินค้าก็มีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่แล้ว ย้ำว่าเรื่องนี้จะต้องมีการหารือกัน และจะพูดคุยกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์
สำหรับประเด็นแอปพลิเคชันดังกล่าวยังคงขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานมีโอกาสที่จะสั่งปิดแพลตฟอร์มนี้หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า "เป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรมส่วนจะเปิดหรือปิดแพลตฟอร์ม เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะการขายสินค้าของแอปพลิเคชันนี้ มีจำนวนมาก จะไปเหมารวมทั้งหมดเพียงเพราะมีสินค้าบางตัวที่ไม่ได้มาตรฐาน และจะไปปิดแพลตฟอร์มไม่ได้
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องจับตาคือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการต่างด้าว ที่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้น 49% จะต้องมีการตรวจสอบ บริษัทที่เข้ามารุกธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ควรมีการจดทะเบียนบริษัทเพื่อเสียภาษีในประเทศไทยรวมถึงการอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อยกเว้นการเก็บอากรขาเข้า และขาออก สำหรับสินค้าที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ ต้องตรวจสอบว่ามีการใช้สิทธิประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันมีการกล่าวถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมาใช้พื้นที่ดังกล่าว เพื่อขายสินค้าในประเทศ
นอกจากนี้การเก็บภาษี 7% ของสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ยังมีเทคนิคในการแยกบิลเพื่อชำระเงินเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ 1,500 บาท ชำระในไทย และอีกส่วนที่แพงกว่า เช่น 4,500 บาท แบ่งชำระผ่านช่องทางการชำระเงินผ่านออนไลน์ หรือเพย์เมนต์เก็ตเวย์ที่เป็นของต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้
“แต่ละประเทศมีกฎหมายเพื่อดูแลการค้า การลงทุน จึงต้องการให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น หามาตรการป้องกัน ดูแลให้นักลงทุนต่างชาติดำเนินการกฎหมายอย่างถูกต้อง เป็นไปตามกติกาสากลต่างๆรัฐควรมีมาตรการ และการแอคชั่นที่รวดเร็ว อย่างตอนนี้มีธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่เข้ามา ยังไม่มีการขยับตัวแต่อย่างใด ตอนนี้เมื่อมีสินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาด ทดแทนสินค้าไทย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง