SHORT CUT
โยชิมิ โฮริอุจิ (Yoshimi Horiuchi) หญิงสาวชาวญี่ปุ่นที่มีความบกพร่องทางสายตา สร้างห้องสมุดรังไหม แบ่งปันโอกาสให้คนชายขอบเมืองพร้าว
โยชิมิ โฮริอุจิ (Yoshimi Horiuchi) หญิงสาวชาวญี่ปุ่นซึ่งบกพร่องทางสายตา เธอเกิดที่เมืองโคจิบนเกาะชิโกกุ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวใหญ่ มีทั้งพ่อ แม่ ตา ยาย และน้องสาวของตา คุณพ่อทำไร่ ทำสวน ทำนา ส่วนแม่ทำงานอยู่ที่บริษัทเล็ก ๆ เกี่ยวกับงานประกัน
“เราสายตาไม่ดีตั้งแต่เด็กเลย คือตอนนั้น เราเกิดมาได้วันที่สอง หมอก็เรียกคุณยาย ๆ มาคุยกับหมอ หมอก็บอกว่าน้องคนนี้เหมือนจะมีปัญหาเกี่ยวกับสายตานะ แต่อย่าเพิ่งบอกแม่นะ เดี๋ยวแม่ช็อคอะไรอย่างงี้ แต่ยายก็อดไม่ได้ ก็บอกกับแม่ว่า เออ ลูกน้อยมีปัญหาเกี่ยวกับสายตานะ หมอตรวจดู ปรากฏว่าเป็นโรคต้อกระจก เหมือนกับว่ากระจกตามันเสื่อมทำให้เลนส์นัยน์ตาเราเสีย คือจริงๆ แล้ว คนที่เป็นต้อกระจกกันเยอะ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้สูงอายุ แต่ถ้าเกิดมาปุ๊บแล้วเป็นมันจะรักษายาก ก็เลยผ่าตัดหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่หาย หมอก็เลยก็รักษาได้แค่นี้”
เธอบอกว่า ตอนเด็กๆ ยังพอมองเห็นนิดหน่อย เห็นสีเห็นแสงลางๆ แม่ก็เลยบอกว่า ไม่เป็นไร เอาแค่นี้แหละ เลี้ยงให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ทำให้เธอมีชีวิตเป็นคนที่มีความพิการทางสายตาตั้งแต่เด็กเล็กเลย
“แต่เราไม่ได้น้อยใจเลยนะ เพราะว่าตอนนั้นเราก็เป็นเด็ก เราก็อยู่ธรรมดาๆ ของเรานั่นแหละ ก็ไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนตาบอดด้วยซ้ำ เราไม่รู้ พอโตมา เราก็เติบโตแบบไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนพิการหรืออะไรอย่างงั้นนะ ก็เลยเหมือนว่าชีวิตเราไม่ได้ใช้สายตานี้เป็นชีวิตที่ปกติไปเลย(หัวเราะ) แต่มันก็มีบางอย่างที่ไม่สะดวกบ้าง อย่างเช่น ขับรถไม่ได้ มันก็ไม่สะดวก แต่ว่ามันก็มีหลายอย่างที่เราทำได้ ก็ค่อยทำไป เรียนรู้ไปเรื่อยๆ”
เธอบอกว่า เธอได้อ่านวรรณกรรมตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอมีความสุขกับชีวิต จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์
“เนื่องจากเรามองไม่เห็น จึงไม่ค่อยได้อ่านนิทานภาพ แต่เราจะเน้นฟังไงคะ ญาติๆ เขาก็เลยอ่านเป็นวรรณกรรมไปเลย ตั้งแต่ 4-5 ขวบน เช่น สี่ดรุณี, เจ้าชายน้อย, เจ้าหญิงน้อย อะไรพวกนี้ คือเราก็ชอบ ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจบ้างแหละ คือตอนนั้นอายุ 4-5 ขวบ จะเข้าใจลิตเติ้ลปริ้นเซสได้ยังไงละเนอะ(หัวเราะ) แต่ชอบฟัง ก็ฟังเพลิน ตอนนั้นคุณตาจะเป็นคนหลักในการอ่านหนังสือให้ฟัง”
ต่อมา เธอเข้าเรียนหนังสือในระดับประถมในโรงเรียนบ้านเกิด โชคดี ที่โรงเรียนมีระบบการเรียนการสอนด้วยอักษรเบรลล์แล้ว
“เขาก็จะสอนอักษรเบรลล์คืออักษรนูน ๆ ที่ทำขึ้นมาสำหรับคนตาบอดหรือว่าคนที่ใช้สายตาในการอ่านไม่ได้ พอได้อ่านหนังสือด้วยอักษรเบรลล์ ได้แล้วก็รู้สึกดีใจมาก เพราะเราไม่ต้องรอคนที่อ่าน เราสามารถอ่านจบคนเดียวเป็นเล่มได้ ดีใจมากเลย เราไม่ต้องกลุ้มใจในการรอ ให้คนอื่นมาอ่านให้ฟังแล้ว (หัวเราะ) จนกระทั่ง เรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เราก็ได้ย้ายมาอยู่ที่โตเกียว มาอยู่โรงเรียนประจำ เป็นโรงเรียนคนตาบอดแห่งชาติเลย มีห้องเรียน มีเพื่อนเยอะมาก พอเรียนจบมัธยมปลาย ก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่อเมริกา 1 ปี เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน เพราะว่าตอนนั้นเราจะชอบเรียนภาษาอังกฤษมาก ก็เลยสนใจเรียนภาษาอังกฤษโน่นเลย จะได้ฝึกภาษาจริง ๆ”
"ตอนไปอเมริกา เราได้รู้จักคนไทย เราได้เพื่อนเป็นคนไทย ก็เป็นเพื่อนสนิทกันมาก แล้วก็รู้สึกว่าภาษาไทยมันสวยดี มันเพราะดี ทำให้อยากเรียนรู้ภาษา และวัฒนธรรมไทย คือตอนนั้นเราเพิ่งจะรู้จักเมืองไทยเป็นครั้งแรกเลยนะ ก่อนนั้นไม่รู้จักเมืองไทยมาก่อนเลย ไม่เคยรู้จักคนไทยมาก่อนด้วย แต่พอรู้จักกับเพื่อนคนไทยคนนี้ ถึงรู้ว่า วัฒนธรรมไทยกับญี่ปุ่น นั้นคล้าย ๆ หลายอย่างหลายแนว เช่น วัฒนธรรมที่เราต้องเคารพนับถือผู้ใหญ่ เรื่องอาหารการกิน คนไทย คนญี่ปุ่นก็กินข้าวเหมือนกัน ไม่ได้กินขนมปังเหมือนฝรั่ง ก็เลยได้ความรู้สึกว่าน่าสนใจดี ฟังภาษาไทยก็เออเพลินดี ก็เลยอยากเรียนภาษาไทยขึ้นมาทันที พอกลับไปโตเกียว ก็เริ่มเรียนภาษาไทยที่โตเกียว ตอนนั้นอายุ19 ปี หลังจากนั้นก็ได้มาเที่ยวไทยปีละครั้งสองครั้ง ทุกปีเลย ก็เลยฝึกมาเรื่อย ๆ มีช่วงหนึ่ง ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยปี 3 ได้มาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน 1 ปี ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้น ก็เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นแบบนี้ มาได้ประมาณเกือบ 20 ปีแล้วค่ะ”
จึงไม่แปลกใจเลยว่า โยชิมิ นั้นพูดได้หลายภาษา อาทิ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ เยอรมัน ภาษาไทย รวมทั้งภาษาเหนือ สำเนียงชัดเจนมากๆ
เธอบอกว่า ทำอย่างไรถึงจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการอ่าน เพื่อส่งเสริมโอกาสในการอ่านที่เท่าเทียมกัน ทำอย่างไรถึงจะช่วยลดช่องว่างระหว่างเด็กพิการและไม่พิการ เพราะเรารู้ว่า คนชนบทและคนพิการยังไม่ได้รับความเท่าเทียมในเรื่องการอ่านกันอยู่ แม้ว่าอัตราการรู้หนังสือของคนไทย มีการรายงานว่า สูงถึงร้อยละ 92.3 แต่ในขณะเดียวกัน เด็กไทยกลับมีการอ่านหนังสือเพียง 5 เล่มต่อปี และคนไทยอย่างน้อย 1.1 ล้านคนเป็นคนพิการ และร้อยละ 77 ของคนพิการเหล่านั้นอาศัยอยู่ในชนบทของประเทศไทย
“เราสนใจอยากจะทํางานด้านสังคม เพราะว่าเราเป็นคนพิการและก็มีใครๆ เข้ามาช่วยเราตลอด คือเราเป็นฝ่ายรับความช่วยเหลือเป็นหลัก ทีนี้พอโตขึ้น เราก็อยากจะช่วยเหลือคนอื่นบ้าง ก็เลยอยากจะทํางาน จะได้ทำประโยชน์ต่อสังคมได้บ้าง พอกลับมาเมืองไทย เราจึงอยากจะสร้างห้องสมุดในเมืองไทย เพราะว่าเราเป็นคนตาบอด เป็นผู้หญิง เป็นญี่ปุ่นด้วย ก็คิดว่าเราจะทําอะไรได้บ้างในประเทศไทย เราก็เลยคิดได้ว่า โอ้ใช่ๆ คนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ แต่เราชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ก็เลยอยากจะทํางานด้านนี้ จึงตัดสินใจทำห้องสมุด”
โดยเริ่มต้น เธอได้ทำกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่อยู่แถวๆ กรุงเทพฯ เพราะก่อนหน้านั้น เธอเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน ก็มีเพื่อนแถวๆ นั้น แต่ต่อมา เธอรู้สึกว่าทํางานอยู่ต่างจังหวัด น่าจะดีกว่า เพราะว่าที่กรุงเทพฯ คนก็มีโอกาสมากกว่า ก็เลยตัดสินใจมาทำห้องสมุดรังไหม ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
“พอดีเรามีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์คนหนึ่งที่ทํามูลนิธิอุ่นใจ อยู่ที่อําเภอพร้าว ท่านทําด้านพัฒนาสังคม พัฒนาชุมชน แกก็เลยแนะนําว่าเมืองพร้าวน่าอยู่นะ แล้วก็คนที่ไม่เข้าถึงหนังสือก็เยอะนะ แล้วก็มีพี่น้องชาติพันธุ์ มีพิการที่ไม่ค่อยเข้าถึงหนังสือก็เยอะ จึงตัดสินใจย้ายองค์กร โครงการมาอยู่ที่อำเภอพร้าว จากสมาคมคาราวานหนอนหนังสือ (ARC) จนกลายเป็นมูลนิธิหนอนหนังสือ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา”
นอกจากทำห้องสมุดรังไหมแล้ว เธอยังได้สร้างศูนย์การเรียนรู้บนดอยหลายแห่ง โดยมีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การนำรถห้องสมุดเคลื่อนที่ไปให้บริการตามโรงเรียนในท้องถิ่น, กิจกรรมนำหนังสือใส่ถุงผ้าไปเยี่ยมเยือนให้กับผู้พิการ คนป่วย คนชราที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้,กิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็กบนดอย,โครงการฅนเผ่าเล่านิทาน, โครงการเล่มเดียวในโลก เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ล้วนช่วยเติมเต็มชีวิต สร้างจินตนาการ ส่งเสริมการอ่านให้คนเมืองพร้าว รวมทั้งอำเภอใกล้เคียงเช่น อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
เธอย้ำว่า นี่เป็นทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา ที่เธอในฐานะที่เป็นผู้พิการทางสายตา เคยได้รับการหยิบยื่นโอกาสจากผู้คนมากมาย ตอนนี้เธอมองว่า เมื่อตนเองมีโอกาส จึงอยากแบ่งปันให้กับสังคม ให้กับเพื่อนมนุษย์บ้าง ซึ่งเธอยังเชื่อว่า การอ่านหนังสือนั้นสามารถเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนสังคม และเปลี่ยนแปลงโลกได้
ท่านใดสนใจอยากร่วมบริจาคหนังสือวรรณกรรมหรือสารคดีภาษาไทย ที่คัดสรรแล้ว สามารถส่งไปได้ที่
น.ส.โยชิมิ โฮริอุจิ ตู้ป.ณ.6 ต.เวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
หรืออยากบริจาคทรัพย์สนับสนุนกิจกรรมให้กับน้องๆ และคนพิการในชนบท เชิญได้ที่
โยชิมิ โฮริอุจิ ธ.ทหารไทย สาขาอาคารยาดา สีลม เลขที่ 232-2-04920-2
หรือต้องการเป็นอาสาสมัครเป็นพี่เลี้ยงจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ ตามชุมชนบนดอย ก็ติดต่อสอบถามไปที่
คุณโยชิมิ โดยตรงที่ 083 542 7283 หรือติดตามจากเพจ ห้องสมุดรังไหม กันได้เลย
ที่มา : รายงานพิเศษจากโครงการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อท้องถิ่นในประเด็นเศรษฐกิจฐานรากและนวัตกรรม สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ร่วมกับ The Opener
ข่าวที่เกี่ยวข้อง