SHORT CUT
เทศกาล ‘Pride Month’ ของไทย เป็นการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ หรือเป็นแค่งานรื่นเริงของคนกรุงเทพเท่านั้น ?
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา ที่ “The Fort สุขุมวิท 51” มีงานเสวนา มาเควียร์ : Queer Artist in Thailand "ประวัติศาสตร์ศิลปะการแสดงเรื่องเพศหลากหลาย ท่ามกลางสายธารประวัติศาสตร์ของศิลปะการแสดงไทย ศิลปินเควียร์อยู่ที่ไหน!? เพราะช่วงเวลานี้ เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของ "LGBTQ+”
โดยภายในงาน ผศ.ดร. สรร ถวัลย์วงศ์ศรี หรือ “คุณคิง” รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และผู้จัดเทศกาล “Bangkok Queer Theatre Festival 2014” ได้พูดถึงประเด็น ความหลากหลายในประเทศไทย และเดือน Pride Month ที่ประเทศไทยจัดไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งทำให้เรายังตั้งคำถามอยู่ว่า พลังของ LGBTQ+ ในประเทศ ณ เวลานี้ มีความแข็งแรงแค่ไหน ?
คุณคิงมองว่า รัฐบาลมีมองไปที่ความหลากหลายในเมนสตรีมเท่านั้น เช่นอุตสาหกรรมภาพยนตร์วาย หรือซีรีส์วาย ซึ่งถือเป็นข้อดี แต่ต้องยอมรับว่า ความเป็นชายรักชายที่ปรากฏในสื่อหลัก ยังดูเหมือนเป็นการอวยอำนาจผู้ชายอยู่ดี เพราะเป็นผู้ชายแท้ๆ มาเล่น และกลุ่มคนดูหลักก็เป็นผู้หญิง
แต่ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมนี้จะมีนักแสดงสักกี่คนที่กล้าประกาศตัวว่าเป็นเกย์จริงๆ แล้วสามารถแสดงบทผู้ชายได้ดี และถ้าเราเป็นผู้ชายที่เล่นบทเกย์ได้ดีแล้ว เราถือว่าเป็นนักแสดงที่ดีหรือเปล่า ก็ขอตั้งคำถามไว้ ?
ส่วนข้อเสียคือ เมื่อละเลยกลุ่มศิลปะระดับเล็ก เช่น ละครเวทีเควียร์ หรือกลุ่มที่เข้าสร้างละครเควียร์ขนาดเล็ก ที่ขับเคลื่อนชุมชนของพวกเขา ซึ่งถ้าได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยไม่ต้องเป็นเม็ดเงินที่มาก แต่ขอให้สนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ จนขยายฐานคนดูได้ มันก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มศิลปะขนาดเล็ก ได้อย่างยั่งยืนกว่า
เพราะละครเวทีเควียร์ หรือเควียร์เธียเตอร์ เป็นศิลปะนำร่องในการวิพากษ์สังคม โดยเริ่มจากการมองให้เห็นความหลากหลายทางเพศ แต่ความหลากหลายทางเพศเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเควียร์เธียเตอร์ตั้งใจกระตุกความคิดให้คนในสังคมเห็นถึงความหลากหลายในการใช้ชีวิต ความแตกต่างทางศาสนา เข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรม เนื่องจากมนุษย์มีความหลากหลายมากกว่าแค่เรื่องเพศ
ถ้าเรามองแต่ชิ้นงานที่ยึดโยงกับอำนาจรัฐ หรือยึดโยงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความหลากหลายจะไม่เกิด แต่เควียร์เธียเตอร์ จะเป็นตัวหนึ่งที่กระตุ้นให้เข้าใจความหลากหลายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และลดอคติในสังคมลงไปส่วนหนึ่ง อยากให้มันขยายไปสู่กลุ่มคนดูที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนดูไม่ต้องเป็นเควียร์ก็ได้ แต่เป็นพ่อเป็นแม่ที่มีลูกเป็นควียร์ก็ได้ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจถึงความแตกต่างมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ควรจะเกิดขึ้นในสังคมมากกว่านี้
คุณคิงกล่าวว่า ในปีนี้เห็นว่ามีนโยบายเพื่อกลุ่มหลากหลายที่มีการส่งเสริมจากภาครัฐชัดเจนขึ้น แต่ควรทำนโยบายอย่างต่อเนื่องแบบยั่งยืน ก่อนไปเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 เพราะเวลานี้ การส่งเสริมความหลากหลายในประเทศ ดูมีความสำคัญแค่บางเดือนเท่านั้น แต่ถ้าตลอดทั้งปีมีการแทรกนโยบายที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยในประเทศ ที่มีการยอมรับความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา เพศ มันก็จะเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญของประเทศได้
ส่วนตัว เคยไปดูงานที่ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิสราเอล เขาจะมีการตกแต่งถนนทั้งเส้นเพื่อต้อนรับกลุ่มหลากหลาย เช่นย่านศิลปะ ย่านธุรกิจ ย่านการศึกษา และตามถนนปกติ ที่จะติดธงความหลายไว้ตลอดเวลา นอกจากทำแค่เฉพาะย่านท่องเที่ยว หรือย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืน เพื่อต้องการสื่อจริงๆ ว่ายินดีต้อนรับทุกเพศทุกวัย ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ชัดเจน
เพราะต้องไม่ลืมว่า ช่วงมิถุนายน ถึงกันยายน เป็นช่วงโลว์ซีซั่นคนมาเที่ยวน้อย แต่ถ้าเราใช้ช่วงไพรด์ทำอะไรที่มันอะไรเป็นรูปธรรมมากกว่าแค่เดินขบวนพาเหรด หรืองานเทศกาล เช่นมีร้านขายหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความหลาย หรืออาจมีภาคธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารที่ติดธงสีรุ้งทั้งหมด ถ้าร้านไหนยินดีก็ติดธงไว้เกือบทั้งปีไปเลย ถ้าประเทศเราทำแบบนี้ได้อย่างทั่วถึง ก็จะสร้างการรับรู้ได้มากกว่า และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง ประเทศก็มีรายได้เพิ่มขึ้น
อีกเรื่องที่ต้องผลักดันเพิ่มเติมคือ ตอนนี้ภาพการส่งเสริมความหลากหลาย มันชัดแค่ ในกรุงเทพ และตามจังหวัดท่องเที่ยวเช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือขอนแก่นเท่านั้น ซึ่งทำให้ PRIDE MONTH เหมือนเป็นเทศกาลของคนเมืองที่รับอิทธิพลมาจากตะวันตก แต่ทุกภูมิภาคของไทยควรจะเรียนรู้เรื่องเทศกาลไพรด์ และความหลากหลายไปพร้อมๆ กัน เช่นให้เทศกาลท้องถิ่น มีการแทรกเรื่องนี้เข้าไป เพราะความหลากหลาย มันคือความหลากหลาย ไม่ได้เป็นของฝั่งตะวันตก หรือตะวันออก แต่เป็นสิ่งที่ต้องสื่อสารให้คนทุกกลุ่ม อยู่ด้วยกันแบบสันติได้
ทั้งนี้ เพราะที่ไทยความหลากหลายมันไม่เคยมีการต่อสู้กันถึงขั้นคอขาดบาดตาย และถกเถียงเรื่องสิทธิแบบจริงจังเหมือนเมืองนอก เมืองไทยคนที่ไม่สนใจก็ไม่สนใจ ทำให้งาน PRIDE MONTH ในไทยจึงเหมือนเทศกาลรื่นเริงเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองว่าเป็นการผลักดันกฎหมาย หรือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนเข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง ดังนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องทำให้ ประเด็นความหลากหลายเป็นเรื่องที่ผลักไปพร้อมกันทั้งประเทศ มากกว่าเป็นเทศกาลที่จัดเป็นครั้งคราว ที่เป็นแค่ “มินิซอฟพาวเวอร์” อยู่ แล้วก็ลืม ๆ ไป
คุณคิงเล่าถึงภาพที่ตนเองอยากเห็นในประเทศนี้ว่า อยากให้ผู้คนในสังคม เข้าใจกลุ่มคนหลายหลายแบบไม่มีอคติ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่กดขี่กัน และกฎหมายรองรับกลุ่มหลากหลายที่ครบมีถ้วน ไม่จำกัดสิทธิ์ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
จริงๆ ประเด็นนี้ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจกลุ่มหลากหลายอย่างเดียว แต่ทำให้เราเข้าใจตัวเอง และเข้าใจทุกคนด้วย เพราะสังคมทุกวันนี้ มันไม่ได้มีแต่ผู้หญิงชอบผู้ชาย ผู้ชายชอบผู้หญิง แต่มันมีความชอบที่แตกต่างกันมากมาย ผู้ชายบางคนรักผู้ชายด้วยกัน เพราะชอบที่นิสัย แค่อยู่ด้วยและสบายใจ แต่ไม่ได้เป็นเกย์ก็มี ทว่ายังทำไม่ได้ เพราะติดเรื่องค่านิยมในสังคม
"แต่ถ้าความเข้าใจเรื่องความหลากหลายมันไปถึง เปิดกว้างมากขึ้น วันนั้นเราจะรักใครบนโลกนี้ก็ได้" คุณคิงกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง