svasdssvasds

ปรากฏการณ์ น้องไนซ์-น้องหญิง คนไทยเชื่อผู้วิเศษ ไม่เปลี่ยนแปลง?

ปรากฏการณ์ น้องไนซ์-น้องหญิง  คนไทยเชื่อผู้วิเศษ ไม่เปลี่ยนแปลง?

จากกบฏผู้มีบุญอีสาน ถึงปรากฏการณ์ อ.น้องไนซ์ – อ.น้องหญิง คนไทยพึ่งพาผู้วิเศษ ไม่เปลี่ยนแปลง พึ่งพาผู้วิเศษช่วยขจัดปัดเป่าความโชคร้ายในชีวิตที่เลือกไม่ได้

SHORT CUT

  • "อ.น้องไนซ์" เชื่อมจิตยังไม่ทันเงียบ ผู้วิเศษคนใหม่ "อ.น้องหญิง" คลื่นพลังบุญ ก็ออกมาเป็นกระแสใหม่ทันที 
  • ความเชื่อความศรัทธาต่อผู้วิเศษเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย และเป็นเครื่องมือในการสร้างองค์กรที่แข็งแกร่ง
  • สังคมที่ความเจริญหรือการศึกษาเข้าไม่ถึง ผู้วิเศษมีอิทธิพลยิ่งกว่านักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่นักการเมือง

จากกบฏผู้มีบุญอีสาน ถึงปรากฏการณ์ อ.น้องไนซ์ – อ.น้องหญิง คนไทยพึ่งพาผู้วิเศษ ไม่เปลี่ยนแปลง พึ่งพาผู้วิเศษช่วยขจัดปัดเป่าความโชคร้ายในชีวิตที่เลือกไม่ได้

เรื่อง "อ.น้องไนซ์" เชื่อมจิตยังไม่ทันเงียบ ผู้วิเศษคนใหม่ "อ.น้องหญิง" คลื่นพลังบุญ ก็ออกมาเป็นกระแสใหม่ ให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอีกแล้ว กลายเป็นว่า เวลานี้ มีผู้ที่มีพลังพิเศษ 2 คน ที่เป็นข่าวในเวลาไล่เลียกัน สะท้อนว่าสังคมไทยไม่เคยห่างหายจากเรื่อง ผู้มีญาณทิพย์ ผู้วิเศษ หมอดู หรือคนทรงเลย แม้ตอนนี้จะเข้าสู่ปี 2567 แล้วก็ตาม

ที่น่าแปลกคือ ในเมื่อไทยเต็มไปด้วยมนุษย์กึ่งเทพมากมายขนาดนี้ เหตุไฉนไทยถึงไม่กลายเป็นมหาอำนาจโลกสักที แต่ยังเจริญช้า เศรษฐกิจแย่ และคุณภาพชีวิตตกต่ำอย่างที่เห็น ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผู้วิเศษเหล่านี้ยังมีผู้ศรัทธามากมาย ที่เชื่อแบบสนิทใจโดยไม่ตั้งคำถาม หรือเอะใจอะไร จึงทำให้ผู้วิเศษไม่เคยหายไปจากสังคมไทย ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยก็ตาม

ทั้งนี้ ไม่ว่าสิ่งที่ อ.น้องไนซ์ – อ.น้องหญิง จะเป็นเรื่องหลอกลวงหรือไม่ แต่ปรากฏการณ์ความศรัทธานี้ ก็ชวนให้ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ไทย ที่มีเรื่องข้องเกี่ยวกับผู้วิเศษอยู่ไม่น้อย โดยแต่ละกรณีก็สร้างผลกระทบต่อความเชื่อของคนในสังคมแตกต่างกันไป แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่ความเชื่อในตัวผู้วิเศษได้ขยายวงกว้าง จนกลายเป็นการปราบกบฏในภาคอีสานที่รุนแรง ซึ่งในหน้าหนังสือเรียนไทยไม่มีสอน

กบฏผู้มีบุญ กบฏเงี้ยว ภาพจากหนังสือ 100 ปี เหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2445

กบฏผู้มีบุญอีสาน ชนบทสู้กับอำนาจรัฐ

ย้อนกลับไปช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 “ประเทศไทย” หรือ “สยาม” ในเวลานั้น ยังคงปกครองแบบหัวเมือง โดยแบ่งเขตการปกครอง 4 แบบ ได้แก่ ราชธานีและเมืองรอบ ๆ เมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวง และเมืองประเทศราช ซึ่งหลายพื้นที่ในภาคอีสาน เจ้าเมืองท้องถิ่นยังมีบทบาทหลักในการปกครองอยู่

แต่เมื่อเข้าสู่รัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ในปี 2434 จึงมีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง และตำแหน่งอื่นๆ ที่ล้าหลัง และให้อำนาจบริหารแก่ผู้ว่าราชการเมืองแทน ซึ่งเกือบทั้งหมดแต่งตั้งมาจากในเมือง

เมื่อเมืองชนบทเข้าสู่วิถีใหม่ บรรดาขุนนางท้องถิ่นจึงไม่พอใจรัฐบาล โดยอ้างว่านโยบายใหม่นี้ เอาเปรียบ กดขี่ขูดรีดชาวอีสาน โดยเฉพาะวิธีการเก็บภาษีส่วยหรือเงินข้าราชการที่เก็บจากผู้ชายคนละ 4 บาท ทว่าเวลานั้น วิถีชีวิตชาวอีสานส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตโดยไม่พกเงิน เพราะสามารถสร้างที่อยู่อาศัย หาอาหาร ทำเครื่องหนุ่มห่มได้เอง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมาทำกับชาวอีสาน

ยิ่งไปกว่านั้น ภาคอีสานยังเจอฝนแล้งติดกันหลายปี เพาะปลูกแทบไม่ได้ จึงไม่มีเงินมาจ่ายภาษี ความเดือดร้อนนี้ ขยายเป็นความแค้น จนเกิดเป็นกบฏในภาคอีสาน ที่เหมือนเป็นสงครามกลางเมืองขนาดย่อมๆ ในประเทศไทย

โดยได้มีการ บันทึกกบฏในเวลานั้นไว้ 2 แบบคือ “กบฏทั่วไป” โดยคนธรรมดาที่รวมตัวกันต่อต้านอำนาจรัฐ กับ “กบฏผู้มีบุญ” ที่มีความแตกต่างคือ แกนนำจะอ้างว่าเป็นผู้วิเศษ เช่น เป็นพระศรีอริยเมตไตรย หรือพระศรีอาริย์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต

โดย กบฏผู้มีบุญ ถือเป็นกลุ่มที่ขยายสมาชิกและอำนาจได้อย่างรวดเร็ว เพราะใช้วิธีปล่อยข่าว เผยแพร่คำพยากรณ์ ผ่านเพลงหมอลำ ซึ่งเป็นเพลงที่ผูกพันกับชาวอีสานมาช้านาน แต่บทเพลงสมัยนั้นจะเน้นปลุกระดม ตีแผ่ชีวิตที่ทุกข์ยาก มากกว่าแนวเกี้ยวพาราสีเหมือนตอนนี้

นอกจากนี้ยังมีการใช้พิธีกรรมโดยผู้วิเศษของกลุ่มนั้น และยังมีการขยายความเชื่อด้วยการคัดลอก คำพยากรณ์ ไปเผยแพร่ต่อ เหมือนกับจดหมายลูกโซ่ ในปัจจุบัน ซึ่งล้วนทำให้ชาวอีสานเชื่อตาม และมีความหวัง จนพากันเข้ามาร่วมขบวนการเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ กบฏผู้มีบุญ มีหลายกลุ่มกระจายตัวกันอยู่ตามภาคอีสาน เช่น กบฏเชียงแก้ว กบฏสาเกียดโง้ง กบฏสามโบก กบฏผู้มีบุญอีสาน ฯลฯ ซึ่งมีสมาชิกหลายร้อย ไปจนถึงหลายพัน

กบฏผู้มีบุญแห่งบ้านสาวะถี

ทว่าที่โด่งดังมากคือ “กบฏกลุ่มองค์มั่น” นำโดย “อ้ายมาน” ที่มีสมาชิกมากที่สุด เพราะเผยแพร่แนวคิด ‘พระศรีอริยเมตไตย’ ซึ่งตำนานระบุไว้ว่า เป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้อีกองค์หนึ่ง และจะพาบ้านเมืองไปสู่ความอุดมสมบูรณ์ โดยในปี 2444กลุ่มนี้แข็งแกร่งถึงขนาดจะยึดจังหวัด อุบลราชธานี แต่กองกำลังของรัฐบาลสกัดไว้ได้ และปราบปรามได้ในที่สุด

ที่โด่งดังไม่แพ้กันคือ “หมอลำโสภา” ที่กล้าปราศรัยท้าทายอำนาจรัฐ เรื่องการขูดรีดภาษี และการตัดต้นไม้โดยมิชอบ ซึ่งตอนถูกทางการจับกุม หมอลำโสภาได้แสดงปาฏิหาริย์ในลักษณะผู้วิเศษ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 คือ โดนจับถ่วงน้ำที่คลองบางซื่อแล้วไม่ตาย และครั้งที่ 2 เมื่อเขาตายในปี 2489 ทางราชการได้ห่อศพของเขาแล้วนำไปฝังเพื่อรอญาติมาขุดไปบำเพ็ญกุศล ปรากฏว่าฝังได้สามวัน วันที่สี่ญาติมารับศพ เมื่อขุดศพขึ้นมาเหลือแต่ผ้าขาวม้าที่ผู้ตายนุ่งอยู่ตอนเสียชีวิตกับเสื่อที่ห่อศพเท่านั้น ชาวบ้านเชื่อว่าหมอลำโสภาได้สำเร็จวิชาขั้นสูง หายตัวไปเกิดใหม่แล้ว จึงเป็นที่จดจำในฐานะ “กบฏผู้มีบุญแห่งบ้านสาวะถี”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ช่วงปี 2242- 2502 กบฏผู้มีบุญ กลุ่มต่างๆ ได้ถูกทางการปราบปรามจนสิ้นอำนาจ และถูกทางการเรียกใหม่ว่า “กบฏผีบุญอีสาน” แทน

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ว่ารัฐบาลจากในเมืองที่ส่งคนมาขูดรีดคนอีสาน อาจเป็นเพียงข้ออ้างหนึ่งเท่านั้น เพราะนักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่า เป็นตัวของขุนนางท้องถิ่นเอง ที่เสียผลประโยชน์จากนโยบายเก็บภาษี จึงได้ร่วมมือกับพระสงฆ์และผู้มีวิชาบางกลุ่ม บิดเบือนคำสอนของศาสนาพุทธ แล้วเอามามอมเมาชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา เพื่อมาใช้เป็นเครื่องมือก่อความขัดแย้ง ให้ผลประโยชน์ยังตกอยู่กับคนใหญ่โตในท้องถิ่นต่อไป

แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องความเชื่อความศรัทธาต่อผู้วิเศษเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย และเป็นเครื่องมือในการสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเครื่องมือใดๆ บนโลก

กรณีของกบฏผู้มีบุญอีสานในอดีต อาจบอกเราว่า ในสังคมที่ความเจริญหรือการศึกษาเข้าไม่ถึง ผู้วิเศษมีอิทธิพลยิ่งกว่านักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่นักการเมือง ซึ่งความน่ากลัวคือพวกเขาสามารถชี้ให้สาวกมองผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิดได้ในทุกๆ เรื่อง และเหล่าสาวกก็พร้อมเชื่อตามโดยไม่ไตร่ตรอง

น้องไนซ์-น้องหญิง  คนไทยเชื่อผู้วิเศษ ไม่เปลี่ยนแปลง?

อ.น้องไนซ์ – อ.น้องหญิง คนไทยเชื่อไม่เปลี่ยนแปลง ?

ตัดกลับมาที่ปี 2567 แม้ในยุคนี้ ผู้วิเศษจะไม่ได้ ลุกขึ้นมาปลุกระดมคนเหมือนในอดีต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนเหล่านี้ ก็ยังเป็นที่พึงทางเลือกแรก ของคนจำนวนหนึ่งอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลับกลุ่มคนที่มีปัญหาชีวิต โดดเดี่ยว ไม่มีที่พึ่ง ลูกหลานไม่ดูแล ยิ่งไปกว่านั้นไสยศาสตร์และสิ่งลี้ลับ ไม่ได้มีตัวตนอยู่แค่ในสังคมชนบทอีกแล้ว แต่ได้เข้ามาสู่วิถีชีวิตคนเมืองอย่างสมบูรณ์ ดูได้จากตอนนี้ที่มีคนเมืองไม่น้อยที่เชื่อเรื่องเหล่านี้กันเป็นจำนวนมาก

ที่น่าแปลกคือ กรณีของอาจารย์น้องไนซ์ มีข้อโต้แย้งจากสำนักพุทธฯ แล้วว่าไม่มีใน "พระไตรปิฎก" ของเถรวาท แต่ผู้ศรัทธาที่เป็นชาวพุทธก็ยังเชื่อมั่นในคำสอนของเด็กวิเศษผู้นี้อยู่ ส่วนในกรณีของ อ.น้องหญิง ที่อ้างว่า มีคลื่นพลังบุญรักษาโรคได้ ก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ผิดตาม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ไปแล้ว แต่ก็ยังมีสาวกที่พร้อมเชื่อต่อไปอยู่ดี

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาจสะท้อนว่า สังคมไทยเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ การศึกษา ไปจนถึงการไม่สามารถเข้าถึงหน่วยงานให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่หมักหมมในไทยมาอย่างช้านาน

ท่ามกลางความเปราะบางของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของอนาคตที่เราไม่อาจหวังพึ่งพารัฐได้ ความเชื่อจึงอาจเป็นทางออกให้คนหลายกลุ่มหันไปพึ่งพาผู้วิเศษช่วยขจัดปัดเป่าความโชคร้ายในชีวิตที่เลือกไม่ได้ หรือทำนายอนาคตให้เห็นชัดเจนกว่าความมั่นคงจากรัฐก็เป็นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related