SHORT CUT
มองปรากฏการณ์ม็อบในสหรัฐอเมริกา “ประท้วงสงครามฉนวนกาซา” และ “ประท้วงสงครามเวียดนาม” มีความแตกต่างกันอย่างไร?
มองปรากฏการณ์ม็อบในสหรัฐฯ “ประท้วงสงครามฉนวนกาซา” และ “ประท้วงสงครามเวียดนาม” มีความแตกต่างกันอย่างไร?
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นักศึกษาหลายพันคนของสหรัฐฯ ได้รวมตัวประท้วงในหลายมหาวิทยาลัย เพื่อเรียกร้องมีการยุติการสู้รบในฉนวนกาซา และขอให้สถาบันต่างๆ หยุดทำธุรกิจกับบริษัทที่สนับสนุนสงครามนี้ ซึ่งดำเนินมากว่า 6 เดือนแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ได้เข้าจับกุมผู้ประท้วงกว่า 2,000 คน แล้ว และสลายพื้นที่การชุมนุมของนักศึกษาในหลายรัฐ แต่การประท้วงยังมีแนวโน้มลุกลามมากขึ้น และหลายฝ่ายก็ตั้งคำถามถึงความไม่เท่าเทียมของตำรวจสหรัฐฯ ที่เลือกใช้ มาตรการเด็ดขาดเฉพาะกับกลุ่มที่สนับสนุนปาเลสไตน์
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ม็อบนักศึกษาต้านสงครามในฉนวนกาซาครั้งนี้ ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามในอดีต เพราะทั้ง 2 ครั้งนี้ ต่างมีทั้งเหล่าปัญญาชนและกลุ่มอื่นๆ ออกมาปักหลักค้างคืน และยึดสถานที่ศึกษาเป็นพื้นที่ประท้วง
แต่ “การประท้วงสงครามฉนวนกาซาในปัจจุบัน” และ “การประท้วงสงครามเวียดนามในอดีต” มีข้อแตกต่างกันหลายประการ ดังนี้
ย้อนกลับไปในช่วงปี 1970 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเวียดนาม มีชายหนุ่มชาวอเมริกันกว่า 1.8 ล้านคนถูกเกณฑ์ทหาร และเกือบ 30,000 คนเสียชีวิต ส่วนในปัจจุบัน เท่าที่เรารู้ไม่มีกองทหารสหรัฐที่สู้รบในฉนวนกาซา เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้ความรุนแรงบานปลาย แต่ยังให้การสนับสนุนเรื่องอาวุธอยู่
อย่างไรก็ตาม มีพลเมืองสหรัฐฯ จำนวนมากสูญเสียสมาชิกในครอบครัว ตอนที่กลุ่มฮามาสทำการโจมตีครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา และคาดว่ามีอีกจำนวนหนึ่งยังคงถูกจับเป็นตัวประกันอยู่
โดยการโจมตีของฮามาสครั้งแรกนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,200 ราย และถูกจับเป็นตัวประกัน 253 ราย แต่การโจมตีตอบโต้ของอิสราเอลตั้งแต่วันแรก จนถึงวันนี้ก็ได้คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปมากกว่า 35,000 ราย ตามข้อมูลจากทางการชาวปาเลสไตน์ และทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในฉนวนกาซา 2.3 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น
ความเสียหายต่อทรัพย์สิน และชีวิตของพลเรือนในฉนวนกาซา จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหลายสิบแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา จึงลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลของพวกเขาหยุดสนับสนุนอิสราเอล
ทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในฉนวนกาซา และภาพการทำลายล้างที่ไม่เคยปรากฏนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทำให้ความคิดของ สาธารณชนค่อยๆ เปลี่ยนไป “Gallup” บริษัททำโพลชื่อดังในสหรัฐฯ เผยว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2023 การสนับสนุนการโจมตีทางทหารของอิสราเอลอยู่ที่ 50% แต่เดือนมีนาคม 2024 ลดลงเหลือ 36% เท่านั้น
และการที่ โจ ไบเดนได้ลงนามกฎหมายให้ความช่วยเหลืออิสราเอลอีก 14,000 ล้านดอลลาร์ ก็เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ทั้งจากคนดังในแวดวงการเมือง และประชาชนที่นิยมพรรคเดโมแครตของเขา ซึ่งอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2024
การกระทำนี้ ทำให้ไบเดน อยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกับ “ลินดอน จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson)” ประธานาธิบดีของในช่วงสงครามเวียดนามปี 1964 ที่อนุมัติให้สหรัฐอเมริกามีส่วนร่วมในสงครามเวียดนามมากขึ้น จนนำมาสู่การบาดเจ็บล้มตายของชาวอเมริกันหลายหมื่นคน กระบวนการสันติภาพก็ถูกแช่แข็ง และนำมาสู่การประท้วงของนักศึกษาจำนวนมาก ดั่งที่ปรากฏในประวัติศาสตร์
โดยทั้ง 2 คนมาจากพรรคเดโมแครตเหมือนกัน
ในช่วงสงครามเวียดนามปี 1970 ผู้ประท้วงมีหลายแสนคน เพราะสงครามเวียดนามได้กลายเป็นเรื่องของชาวอเมริกาทุกคน ซึ่งการประท้วงหลายที่เป็นการใช้สันติวิธี แต่บางที่ก็เกิดเหตุรุนแรง เช่น วันที่ 3 พฤษภาคม 1970 มีคนบางกลุ่มเผาอาคาร อาคารเรียนของนักศึกษาวิชาทหาร (ROTC) ของมหาวิทยาลัยเคนต์สเตต (Kent State University) ในรัฐโอไฮโอ เพื่อประท้วงความคลั่งสงครามของรัฐ
แต่การประท้วงต้านสงครามฉนวนกาซาในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมแบบสงบ มีเพียงบางมหาวิทยาลัยที่ผู้ชุมนุมเข้าไปทำลายข้าวของบ้าง แต่ไม่ได้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งนักวิชาการบางคนในสหรัฐเชื่อว่า การประท้วงจะหายไปเอง หากทางการไม่ไปให้ความสนใจ แต่การปราบปรามจะทำให้การประท้วงลักษณะนี้ลุกลามมากขึ้น
ไบเดนไม่ตอบสนอง หรือแสดงท่าทีรับฟัง ข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงที่ต้องการให้หยุดสนับสนุนอิสราเอลแม้แต่น้อย เขาเพียงแค่เตือนว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะประท้วง แต่ไม่ใช่สิทธิที่ก่อความวุ่นวาย ท่าทีนี้ทำให้นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันเชื้อสายอาหรับและมุสลิมประณามว่า “ทำเนียบขาวหูหนวก”
ส่วนในช่วงสงครามเวียดนาม สมัย “ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (Richard Milhous Nixon) ยังมีการเรียกกลุ่มผู้ก่อความวุ่นวาย ไปยังทำเนียบขาว เพื่อหาทางออก แม้การตอบสนองจะไม่ถูกใจผู้ประท้วงไปทั้งหมด แต่รัฐบาลในสมัยนั้นก็ยังฟังเสียงจากผู้ชุมนุมมากกว่านี้
ตอนสงครามเวียดนามปี 1970 มีนักศึกษาประมาณ 7.2 ล้านคนในระบบมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงคิดเป็น 41% ของจำนวนนักเรียน ในขณะที่นักเรียนผิวดำเป็นเพียง 7% เท่านั้น
ส่วนปี2024 สหรัฐอเมริกามีนักศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่า 15 ล้านคน โดยนักศึกษาผิวขาวมีเป็นประมาณ 41% ละติน 18% ผิวดำ 11% และเอเชีย 6%
ซึ่งมีผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายในมหาวิทยาลัย อ้างอิงจาก “National Student Clearinghouse Research Center”
การประท้วงในสมัยนี้ จึงเป็นการรวมของกลุ่มต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากกระแส “Black Lives Matter” “เฟมินิสต์” “LGBTQ” หรือ “ต่อต้านอาวุธปืน” ซึ่งแตกต่างจากในสมัยเวียดนามและการประท้วงอื่นๆ ในอดีต ที่มักมีแค่การเดินขวบของคนผิวดำ หรือแค่คนชาติใดชาติหนึ่งมารวมตัวกัน
ถึงเทคโนโลยียุค 70 จะยังไม่ล้ำสมัยเหมือนอย่างตอนนี้ แต่ “สงครามเวียดนาม” นับว่าเป็นสงครามแรกที่มีการรายงานผ่าน “โทรทัศน์” แทบทุกวัน ซึ่งภาพทหารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บที่ถูกฉายซ้ำๆ จึงทำให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามในวงกว้าง
ส่วนในปี 2024 นี้ ผู้คนสามารถติดตามข่าวสงครามได้แบบเรียลไทม์ผ่าน โซเชียลมีเดีย กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับสงครามจึงมีพื้นที่ในการรวมตัวกันได้เร็ว และง่ายกว่าในอดีต
เพราะไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ภาพความโหดร้ายของสงครามก็กระตุ้นให้มนุษย์ใฝ่หาสันติภาพเสมอ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงกล่าวได้ว่า สงครามในฉนวนกาซา และสงครามเวียดนาม เป็นหนึ่งในความขัดแย้งไม่กี่ครั้ง ที่ปลุกให้คนในประเทศ ประเทศลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลของพวกเขาหยุดเข้าไปมีส่วนร่วมกับสงครามในต่างแดน
ทั้งนี้เรื่องความถูกต้องความชอบธรรมในฉนวนกาซายังเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพราะฝั่งอิสราเอลอ้างว่าทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้าย ไม่ได้มุ่งไปที่พลเรือน แต่ฝั่งปาเลสไตน์ก็อ้างว่าอิสราเอลโจมตีไม่เลือก และผู้บริสุทธิ์ต้องรับเคราะห์กรรมแทน
สุดท้ายการประท้วงในสหรัฐรอบใหม่นี้ จะจบลงแบบไหน ถูกทางการปราบจนเฮี้ยน หรือจะมีมาใหม่เรื่อยๆ คงมีแต่เวลาเท่านั้นที่บอกได้
ที่มา reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง