SHORT CUT
เปิดเงื่อนไขล่าสุด แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จำนวน 50 ล้านคน ลงทะเบียนไตรมาส 3 แจกช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ใช้งบประมาณปกติปี 67-68 เปิดรายชื่อสินค้า 18 รายการ ใช้ดิจิทัลวอลเล็ตซื้อไม่ได้
หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ประกาศ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จำนวน 50 ล้านคน ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ใช้งบประมาณปกติปี 67-68 และยืมเงิน ธกส. โดยไม่ต้องออกพ.ร.บ.กู้เงินฯ
ซึ่งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ "เงินดิจิทัล 10000" มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น รวมทั้งสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
แนวทางการดำเนินโครงการ เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้กำหนดแนวทาง ดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษีและมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
2. เงื่อนไขการใช้จ่าย
การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
3. ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
4. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
5. การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาล จะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
6. แหล่งเงิน จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
7. ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
8. การป้องกันการทุจริตของโครงการฯ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับร้านค้าที่เคยลงทะเบียนกับแอปฯเป๋าตัง สามารถร่วมโครงการได้เหมือนเดิม คาดว่ารัฐบาลอาจทำแบนเนอร์บนแอปฯเป๋าตัง เพื่อให้ร้านค้ากดปุ่มยืนยันตัวตนเพื่อร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัล 10000
ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น คือ 1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล และ 3 ภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีรายได้พึงประเมิน เป็นผู้ประกอบอาชีพค้าขาย การถอนเงินสด ถอนทันทีไม่ได้ ต้องถอนหลังจากใช้จ่ายรอบที่ 2 เป็นต้นไป ลดความเสี่ยงทุจริต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณาปรับปรุงรายการสินค้า Negative List หากเห็นว่ามีความจำเป็น โดยเฉพาะสินค้าบางชนิดที่จำเป็นต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือใช้สร้างอาชีพ