svasdssvasds

แคดเมียม คืออะไร เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลกระทบอันตรายอย่างไรบ้าง

แคดเมียม คืออะไร เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลกระทบอันตรายอย่างไรบ้าง

รู้จักแร่ 'แคดเมียม' โลหะหนักอันตราย เมื่อเข้าสู่ร่างกายมีอาการอย่างไรบ้าง? การปนเปื้อนของแคดเมียม เป็นสาเหตุของโรคอิไตอิไต และถึงแก่ชีวิต ด้านอ.ภาคเหมืองแร่ วิศวฯ จุฬาฯ แนะวิธีการจัดการแคดเมียม ธาตุที่กำจัดไม่ได้

SHORT CUT

  • พบแร่ "แคดเมียม" 15,000 ตัน ในโกดังบริษัทแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาครจนต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ
  •  แร่แคดเมียม นิยมใช้ในทางอุตสาหกรรม เนื่องจากทนทานต่อการสึกกร่อน ซึ่งสามารถปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมและตกค้างในอาหาร
  • แคดเมียมเมื่อเข้าสู่ร่างกายเพียงเล็กน้อย เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก ทั้งระบบภายใน และระบบหายใจ 

รู้จักแร่ 'แคดเมียม' โลหะหนักอันตราย เมื่อเข้าสู่ร่างกายมีอาการอย่างไรบ้าง? การปนเปื้อนของแคดเมียม เป็นสาเหตุของโรคอิไตอิไต และถึงแก่ชีวิต ด้านอ.ภาคเหมืองแร่ วิศวฯ จุฬาฯ แนะวิธีการจัดการแคดเมียม ธาตุที่กำจัดไม่ได้

กำลังเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจและจับตามอง จากกรณีการพบกากแร่ "แคดเมียม" ในโกดังบริษัทแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร โดยกากแร่แคดเมียมดังกล่าว ถูกนำมาจากจังหวัดตาก 15,000 ตัน ซึ่งแร่ "แคดเมียม" เป็นธาตุอันตราย ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นสารก่อมะเร็ง

ล่าสุด ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้ทำการอายัติไว้แล้ว โดยผู้ว่า ฯ สมุทรสาครจะออกคำสั่งประกาศเป็นเขตภัยพิบัติโดยห้ามบุคคลหรือสิ่งอื่นใด เข้าไปภายตัวอาคาร รวมถึงห้ามมีการหล่อหลอมแคดเมียมโดยเด็ดขาด

แคดเมียม คืออะไร เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลกระทบอันตรายอย่างไรบ้าง

แร่แคดเมียมคืออะไร?

"แคดเมียม" Cadmium เป็นโลหะหนัก ไม่มีกลิ่น ซึ่งสามารถปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมและตกค้างในอาหาร เป็นอันตรายในอาหาร ประเภทอันตรายทางเคมี สามารถทำปฏิกิริยาเคมีอย่างรุนแรงกว่าสารที่ให้ออกซิเจน เช่น กำมะถัน ซีลีเนียม และเทลลูเรียม  

"แคดเมียม" นิยมใช้ในทางอุตสาหกรรม

เนื่องจาก "แคดเมียม" ทนทานต่อการสึกกร่อน จึงนำไปฉาบผิวโลหะต่างๆ เช่นเหล็ก เหล็กกล้า ทองแดง โดยทั่วไปนำไปใช้ในการชุบโลหะ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องทนความร้อน เช่น ทำหม้อน้ำรถยนต์ นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับทองแดง นิกเกิล ทองคำ บิสมัท และอะลูมิเนียม เพื่อให้ได้สารประกอบที่หลอมตัวง่าย  

นอกจากนี้ "แคดเมียม" ถูกใช้ผสมในสารฆ่าเชื้อราที่ใช้ในกิจการเกษตร แถมใช้เป็นตัวสีในสิ่งต่างๆ พลาสติก สีทา สีพ่น หมึก ยาง เสื้อผ้า และสีที่จิตรกรใช้ เพราะให้สีสวย

ส่วนใหญ่จะพบ แคดเมียม ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ตามบริเวณที่มีการทำเหมืองแร่ โรงงานถลุงแร่ การผลิตปุ๋ย และแหล่งที่ทิ้งขยะ จากแบตเตอรี่ และเครื่องไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคต่างๆ แคดเมียมอาจแพร่กระจายในรูปแบบของฝุ่น ไอระเหย หรือละลายอยู่ในน้ำกระจายไปตามแหล่งน้ำต่างๆ ถูกดูดซับเข้าไปในพืชและสัตว์น้ำ คนได้รับแคดเมียมได้หลายทาง ทั้งจากทางอาหารจำพวกสัตว์น้ำ เครื่องในสัตว์ พืชผลทางการเกษตรและผักต่างๆ โดยเฉพาะแคดเมียมที่สะสมอยู่ในใบยาสูบ เป็นผลให้การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่นำแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์

แคดเมียม คืออะไร เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลกระทบอันตรายอย่างไรบ้าง

มุมมองของนักวิชาการ แคดเมียม ธาตุที่กำจัดไม่ได้

อาจารย์ ดร.ธีระยุทธ เพ็งสะอาด รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แคดเมียมที่พบอยู่ในโรงงานของจังหวัดสมุทรสาครนั้น น่าจะมาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งคาดว่าเป็นเหมืองแร่สังกะสีในจังหวัดตากที่มีการนำเอาแร่สังกะสีขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ แต่การนำแร่สังกะสีขึ้นมานั้นมีแคดเมียมติดมาด้วย แต่เนื่องจากว่าการทำอุตสาหกรรมเมืองแร่สังกะสีในเวลานั้น อาจไม่มีความต้องการใช้แคดเมียม จึงทำให้เหลือหางแร่แคดเมียมทิ้งเป็นของเสียจำนวนมาก นำมาสู่การส่งต่อของเสียเหล่านี้ให้กับอุตสาหกรรมอื่น 

ดร.ธีระยุทธ เพ็งสะอาด รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เช่นเดียวกันกับโรงงานที่ตรวจพบในจังหวัดสมุทรสาคร แม้ว่าแคดเมียมจะเป็นธาตุที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปในธรรมชาติ แต่ตามปกติจะมีค่าที่ต่ำ อันตรายของแคดเมียม จะรุนแรงมากเมื่อมีความเข้มข้นหรือปริมาณที่สูง เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้เกิดโทษอย่างรุนแรงต่อร่างกาย เช่น มีพิษต่อตับและไต ทำให้กระดูกคดงอและมีอาการปวดที่กระดูก และหากสูดดม จะมีผลโดยตรงต่อปอดและระบบทางเดินหายใจ

วิธีการจัดการกับแคดเมียม

อาจารย์ ดร. ธีระยุทธ เพ็งสะอาด แนะนำว่า ต้องลดการกระจายของแคดเมียม อยู่ในที่ที่ไม่มีน้ำ และอากาศนิ่ง คือไม่มีลมแรงที่จะทำให้เกิดการฟุ้งกระจาย หากจะทำการขนย้าย ต้องทำการขนย้ายให้มิดชิดไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจาย และด้วยความที่แคดเมียมเป็นธาตุที่ไม่สามารถกำจัดได้ จึงมีแนวทางในการจัดการอยู่ 2 แบบคือ

  1. ขนย้ายอย่างมิดชิดกลับไปเก็บในบ่อทิ้งแร่ที่เหมืองแร่ที่เป็นที่มา ทำการฝังกลบ ที่ถูกควบคุมมาตรฐานการกระจายทั้งทางน้ำและทางอากาศ เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียทางด้านสุขภาพต่อประชาชน รวมถึงสิ่งแวดล้อม
  2. นำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เพื่อการผลิตเป็นโลหะอย่างถูกวิธี เนื่องจากของเสียเหล่านี้ ประกอบด้วยธาตุโลหะหลายชนิด เช่น สังกะสี ตะกั่ว ทองแดง รวมถึงแคดเมียม ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หากมีการควบคุมในการขนย้ายและจัดการ รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม โดยการจัดการเหล่านี้ควรดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และถูกต้องตามกฏหมาย

แคดเมียม คืออะไร เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลกระทบอันตรายอย่างไรบ้าง

สารแคดเมียม อันตรายแค่ไหน?

เมื่อมีการสูดดมสารแคดเมียมจำนวนมากอาจทำให้เกิดพิษฉับพลันได้ ซึ่งเกิดจากการหายใจเอาฝุ่นหรือฟูมแคดเมียม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อแคดเมียมถูกทำให้ร้อน โดยทั่วไประยะเวลาหลังจากสัมผัสสารจะยาวนาน 2-3 ชั่วโมงก่อนแสดงอาการ อาการเริ่มแรกจะมีการระคายเคืองเล็กน้อยของทางเดินหายใจส่วนต้น อีก 2-3 ชั่วโมงต่อมาจะมีอาการไอ เจ็บปวดในทรวงอก เหงื่อออกและหนาวสั่น ซึ่งเป็นอาการที่คล้ายกับการติดเชื้อทั่วไปของทางเดินหายใจส่วนต้น ต่อมา 8-24 ชั่วโมง หลังจากสัมผัสสารอย่างฉับพลัน อาจเห็นอาการระคายเคืองอย่างแรงที่ปอด เจ็บปวดในทรวงอก หายใจลำบาก ไอ และอ่อนเพลีย อาการหายใจลำบากจะรุนแรงขึ้น เมื่อเกิดน้ำท่วมปอดตามมา 

การสูดดมสาร "แคดเมียม" ร่างกายจะเก็บสะสม ไว้ในตับ และส่วนของหมวกไต (renal cortex) สาร "แคดเมียม" มี half life ในร่างกายมนุษย์ถึง 30 ปี นอกจากนี้ จะพบสาร "แคดเมียม" ได้ในปอด และมีความเสี่ยงเกิดอันตรายส่วนของไต เพราะทำให้หน้าที่การกรองของไต (GFR) ลดลง

เมื่อเข้าสู่ร่างกายเพียงเล็กน้อย มีผลต่อระบบไต ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดฝอยแข็งตัว หัวใจวาย เป็นแผลเรื้อรังในปอด ถุงลมโป่งพองและทำให้กระดูกเปราะแตก มีรูปร่างผิดปกติ เจ็บปวดทรมาน  หรือเป็นโรคอิไต-อิไต

อาการที่ได้รับสารแคดเมียมจากการกิน จะทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ ปวดท้องและปอด โดยไตและตับจะถูกทำลาย ถ้าหากหายใจควันเข้าไปในปอด ก็จะมีอาการเจ็บคอ หายใจสั่น มีเสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด โลหิตจาง การหายใจจะลำบากมากขึ้นสุดท้ายก็จะไตวาย

การรักษาเบื้องต้น หากร่างกายได้รับแคดเมียมจากการ บริโภคอาหาร ให้ปฏิบัติดังนี้ ดื่มนมหรือบริโภคไข่ ที่ตีแล้ว เพือลดการระคายเคืองของทางเดิน อาหาร หรืออาจทําให้ถ่ายท้องด้วย Fleet's Phosphosoda (เจือจาง 1:4 ด้วยนํ้า) 30-60 มิลลิกรัม เพื่อลดการดูดซึมแคดเมียม

ข้อมูลจาก : สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม , กองปฏิบัติการสาธารณสุขกรมอนามัย  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related