SHORT CUT
กสทช. มติเอกฉันท์ ถอด ‘ฟุตบอลโลก’ พ้นกฎมัสต์แฮฟ
สาเหตุที่ตัดฟุตบอลโลกออก เพราะมีมูลค่าและเข้าตลาดได้ชัดเจน และไม่มีคนไทยแข่งขัน
แฟนบอลต้องรอลุ้นว่า จะมีเอกชนเจ้าใดมาซื้อลิขสิทธิ์ทางพาณิชย์โดยสมบูรณ์และเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
เปิดเหตุผล บอร์ด กสทช. ถอดการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จากกฎ Must Have “บอลโลก 2026” แฟนบอลหนีไม่พ้นช่องทางธรรมชาติ
จากรณีที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 ให้ถอนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ออกจากประกาศมัสต์แฮฟ (Must Have) ที่กำหนดให้ถ่ายทอดรายการกีฬา 7 ประเภทให้ประชาชนรับชมฟรีทั่วประเทศ
โดยสาเหตุที่ตัดฟุตบอลโลกออก เพราะมีมูลค่าและเข้าตลาดได้ชัดเจน และเป็นประเภทที่มีอุปสรรคปัญหามาโดยตลอด ซึ่งจะมีผลทันที
สำหรับกฎมัสต์แครี่นั้น มีการเสนอว่า จะฉายเฉพาะรายการที่คนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน หรือเฉพาะรอบชิงชนะเลิศในกีฬาทุกชนิด ขณะที่กีฬาที่คนไทยไม่ได้เข้าร่วมแข่งขัน อาจเปิดโอกาสให้เอกชนนำไปถ่ายทอดได้
กฏมัสต์แฮฟ (Must Have) หรือ ประกาศ กสทช. เรื่อง เกี่ยวกับเรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป 11 ธันวาคม 2555 ที่ระบุถึงเรื่องการถ่ายทอดสดกีฬา 7 รายการกีฬานี้ ต้องให้บริการแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป
กฎมัสต์ แครี่ (Must Carry) มาจากประกาศหลักเกณฑ์ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ซึ่งกฎดังกล่าวเป็นการบังคับให้แพลตฟอร์มบริการโทรทัศน์ทุกรายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นำช่องฟรีทีวี ไปออกอากาศในทุกช่องทาง ทั้งทางเสาอากาศ จานดาวเทียม เคเบิลทีวี และช่องทางออนไลน์ โดยต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังรายการของแต่ละสถานี ไม่มีจอดำเกิดขึ้นในบางรายการ
กฎ Must Have และ Must Carry มีผลบังคับใช้กับกิจการโทรทัศน์และรายการที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด ในปี 2555 ซึ่งในปีนั้นตรงกับมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลยูโร ปี 2012 ซึ่งในขณะนั้น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จึงได้ทำการตลาดด้วยการขายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล GMM Z พ่วงกับโฆษณาว่า เมื่อซื้อกล่อง GMM Z สามารถดูถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ได้ที่เดียว ทำให้เกิดเป้นเรื่องเป็นราวขึ้น เพราะช่องฟรีทีวีที่สามารถดู ฟุตบอลยูโร 2012 ได้นั้นต้องเสารับสัญญาณแบบก้างปลาเท่านั้น หากเป็นกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล ของเจ้าอื่นถึงแม่จะเปิดช่องฟรีทีวีที่ถ่ายทอดฟุตบอลยูโร 2012 จอภาพก็จะดำ
ความวุ่นวายยังไม่จบเหตุ ฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย เมื่ออาร์เอส (RS) ผู้ได้รับสิทธิการถ่ายทอดสดที่ในขณะนั้นซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2014 ล่วงหน้า ยื่นฟ้อง กสทช. เพราะพบความไม่เป็นธรรมในการบังคับให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ปฏิบัติตามกฎ Must Have ซึ่งในครั้งนั้น อาร์เอส (RS) ชนะคดี เนื่องจาก บริษัท อาร์เอสฯ เซ็นสัญญากับเจ้าของลิขสิทธิ์ ก่อน กสทช. ประกาศ นำกฎ Must Have มาใช้ จึงถือว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มาก่อนวันที่ประกาศจะมีผลบังคับใช้
ขณะที่ฟุตบอลโลก 2018 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ติดต่อให้ภาคเอกชน 9 ราย ระดมทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด โดยมีมูลค่าสูงถึงพันกว่าล้านบาท
ด้วยกฎ “Must Have” ไม่เอื้อให้เอกชนทำกำไร ฟุตบอลโลก 2022 ก็อย่างที่เห็นกันด้วยสไตล์ไทยๆ กว่าจะได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดก็เหลือไม่กี่วันที่ฟุตบอลโลก 2022 จะเตะ ด้วยเม็ดเงินการลงทุนมหาศาล กับการให้ได้มาซึ่งกำไรจากดีลธุรกิจไม่เป็นไปอย่างที่คาด จึงเป็นเหตุ ไม่มีเอกชน เสนอตัวมา ซื้อ ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022
อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลโลก 2022 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) 600 ล้านบาท บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) 300 ล้านบาท, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) 100 ล้านบาท และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท
จากเหตุ กสทช. ถอดฟุตบอลโลก ออกจากกฎมัสต์แฮฟและให้มีผลทันที ในครั้งนี้ ทำให้เหล่าแฟนบอลไทยยังไม่แน่นอนว่าจะได้ดูฟุตบอลโลก 2026 หรือไม่ หรือหากมีเอกชนเจ้าใดอยากประมูลสิทธิการถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2026 ลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องก็ต้องเสี่ยงแข่งขันกับหลายๆช่องทางที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือช่องทางธรรมชาติที่หาดูได้ง่าย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าจะกวาดล้างอย่างจริงจังได้หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง