SHORT CUT
ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศ กทม.ต้องจ่ายหนี้ บีทีเอส ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท
วันนี้ 13 มีนาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 23,488,692,200 บาท เพื่อใช้จ่ายหนี้ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 สภากรุงเทพมหานคร ได้ลงมติ 44 เสียง เพื่ออนุมัติจ่ายเงินภายใน 2 เดือน ซึ่ง กทม.จะนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีอยู่ 4-5 หมื่นล้านบาท มาชำระ
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ในสมัยที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้เซ็นขยายสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอส ไปอีก 30 ปี แต่ความพัวพัน และจุดเริ่มต้นของหนี้ก้อนใหญ่กลับอยู่ที่การก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ล้ำเข้าไปในปริมณฑล และการจ้างเดินรถที่ถูกโอนมาให้ กทม.ทั้งหมดแบบสมบูรณ์ภายใต้การใช้กฎหมาย ม.44
หลังจากที่ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต-อ่อนนุช รถไฟฟ้าสายแรกของกรุงเทพฯ ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการก่อสร้างส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งยื่นเข้าไปในจ.ปทุมธานี และแบริ่ง-สำโรง ที่กินพื้นที่เข้าในจ.สมุทรปราการ ซึ่งส่วนต่อขยายที่เพิ่มเติมมานี้เองเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ กทม. ต้องแบกภาระหนี้ก่อนใหญ่
เนื่องจากที่ผ่านมา กทม. ติดเงื่อนไขไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่จังหวัดปริมณฑลได้ รัฐบาลจึงมีมติให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแทน แต่เมื่อการก่อสร้างระบบโครงสร้างเสร็จสิ้น ประชาชนต้องเปลี่ยนขบวนระหว่างจุดต่อขยาย ในปี 2558 คสช. มีมติให้ กทม.เป็นผู้เดินรถ เพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการ และนี่คือจุดเริ่มต้นในการแบกรับหนี้สินก้อนโต
ประมาณกลางปี 2565 บีทีเอสเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง เพื่อทวงหนี้ กทม. 41,710 ล้านบาท หลังจากนั้น นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ออกมาทวงหนี้อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกผ่านการเผยแพร่คลิปวีดิโอ หลังจากที่ กทม.ค้างจ่ายเงินมานานกว่า 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562-2565 พร้อมกับยืนยันว่าไม่เคยร้องขอให้มีการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี เพียงแต่ต้องการให้ ลูกหนี้จ่ายหนี้คืนเท่านั้น
และในปี 2566 พนักงานบีทีเอสยังได้รวมตัวกันเดินทางไปติดตามทวงนี้ถึงทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับขู่ว่าจะหยุดเดินรถ เพื่อประท้วงที่รัฐบาล และกทม.ไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างอยู่ และต้องการให้รัฐบาลดำเนินการชำระหนี้ที่ค้างจ่ายค่าเดินรถให้ก่อน เพราะที่ผ่านมา บีทีเอสเดินรถเพื่อให้บริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ
จากนั้นนายคีรีจึงเข้าพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อตกลงจะใช้เงินสำรองตัดจ่ายของกทม.มาใช้เฉพาะหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนหนี้สินอีกกว่า 30,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งไฟฟ้าและเครื่องกล นั้น ต้องรอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งหนึ่ง
หลังจากที่ถูกตีตก 3-4 ครั้ง นำวาระเข้า-ออก เหตุผลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไม่เห็นด้วย อาจเพราะมีประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่เป็นอย่างที่หวัง