ผู้ว่ากทมฯ นัดหารือบีทีเอส เพื่อหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับการใช้หนี้หมื่นล้านบาท ที่สะสมมาจากการบริหารจัดการเดินรถของบีทีเอส หลังออกโฆษณาทวงหนี้ช่วงปลายปี 2565 แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
วันนี้ (12 มิถุนายน) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(เสาชิงช้า) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับคณะผู้บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด นำโดย คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าสายสีเขียว
มีรายงานว่าสาระสำคัญเกี่ยวกับการหารือวันนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน ต่อแนวปฎิบัติ ว่าจะมีความเป็นไปได้ทางไหนบ้าง เกี่ยวกับการใช้หนี้ประมาณหมื่นล้านบาท ที่สะสมมาจากการบริหารจัดการเดินรถของบีทีเอส
สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทางผู้บริหาร กรุงเทพมหานคร ย้ำชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า เรื่องหนี้สิน ถึงอย่างไรก็ต้องรอให้รัฐบาลตัดสินใจ เพราะ คำสั่งเดิม ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตามมาตรา 44 ยังมีผลบังคับใช้ และ กทม.เคยทำหนังสือ สอบถามไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 2565 แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน
ส่วนอีกประเด็นที่เกี่ยวโยงคือ การต่อสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 เส้นทางช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต -สะพานใหม่- คูคต เป็นการต่อสัญญาที่ก่อนหน้านี้ ไม่ได้ผ่านสภา กทม. โดยตอนนี้ สภา กทม. ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดประวัติเจ้าของที่ดิน "จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต" มรดกในตระกูล “เสรีเริงฤทธิ์”
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทดสอบการเดินรถเสมือนจริงจากnภาวนา-สำโรง ตั้งแต่ 12 มิ.ย
บีทีเอส ย้ำจุดยืน วันสิ่งแวดล้อมโลก ร่วมสนับสนุนกล้าไม้ 5,000 ต้น
ภายหลังการหารือร่วมกันครั้งแรกประมาณ 30 นาที ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นการหารือเรื่องค่าจ้างงานระบบรถไฟฟ้า และเรื่องการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่สอง (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) กทม.เตรียมแผนไว้แล้วมี 2 ขั้นตอน ขณะนี้รอให้สภากทม.อนุมัติการใช้จ่ายเงินสะสม ซึ่งการเบิกจ่ายต้องนำประเด็นเข้าสภากทม.พิจารณา และตั้งคณะกรรมการวิสามัญ ที่ผ่านมาประชุมแล้ว 5 ครั้ง
ทุกคนเห็นว่าการดำเนินการติดตั้งแล้ว เหลือเพียงทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนตัวเห็นใจเอกชน เพราะมีภาระหนี้สินจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่าทุกอย่างมีระเบียบปฎิบัติ มีคณะทำงาน สภากทม.ต้องการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งศึกษามาแล้วระยะหนึ่งและคาดว่าสมัยที่ตนเป็นผู้ว่าฯกทม.น่าจะพร้อมที่จะจัดการแล้ว
จากนี้ กทม.จะติดตามในส่วนของรัฐบาลประกอบการพิจารณารวมไปถึงขอการสนับสนุนงบประมาณส่วนโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านคีรี กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านผู้ว่าฯกทม.ที่ให้เข้ามาพูดคุยด้วย แม้ว่าจะเป็นครั้งแรก แต่ก็เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจกันมากขึ้น ขอบคุณที่เข้าใจถึงเอกชนที่มีภาระแบกรับมาตลอด วันนี้เราเข้าใจกันแล้วว่า ระบบการเดินรถทั้งหมดเป็นเรื่องที่ติดตั้งเรียบร้อย และได้ใช้ไปแล้ว กทม.ก็ได้เซ็นอนุมัติ ขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องชำระ
ขอบคุณผู้ว่าฯกทม. ที่พยายามจะนำประเด็นนี้เข้าสภากทม.เพื่อจะผลักดันเรื่องให้มีการใช้จ่าย ส่วนตัวเข้าใจว่าในต้นเดือนหน้ากรกฎาคมนี้จะมีการเปิดสภากทม และเรื่องนี้ทางผู้บริหาร กทม.จะไปขอให้ สภากทม.เข้าใจ และอนุมัติในที่สุด
คีรี กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าเราจะมีเงินก้อนนี้ที่เป็นส่วน E&M หรือ ค่างานติดตั้งไฟฟ้าและเครื่องกล เข้ามาในบริษัทได้ ซึ่งถ้าถึงวันนั้นตนเชื่อว่าเงินประมาณ 20,000 กว่าล้านบาทจะได้รับการชำระถูกต้อง
ในส่วนงบค่าใช้จ่าย O&M หรือค่าเดินรถและซ่อมบำรุงประมาณ 30,000 ล้านบาทที่อยู่ในคำสั่งเดิม ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตามมาตรา 44 ตนยอมรับว่าไม่ทราบว่าทางครม.รักษาการณ์นี้จะทำอะไรได้บ้าง เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ได้ผ่านในชุดรัฐบาลที่แล้วแม้จะมีการนำเรื่องเข้าออกการประชุมครม.ประมาณ 3-4 เที่ยว
ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลที่ผ่านมาอาจจะไม่เข้าใจดีถึงปัญหาดังกล่าว แต่หากรัฐบาลรักษาการณ์จะทำให้เรื่องนี้จบได้ซึ่งเป็นเงินจำนวนใหญ่สำหรับบริษัทอีกประมาณ 30,000 กว่าล้านบาทถ้าทำได้ก็ทำ แต่ถ้ารัฐบาลหน้าจะทำก็ได้
คีรี กล่าวต่อว่า วันนี้ไม่มีอะไรติดใจ แต่มาขอให้ทางกทม.โดยเฉพาะผู้ว่าฯให้เห็นใจ หนี้สินก้อนนี้ ที่เรามีส่วนด้วยวันนี้มันเกิน 50,000 ล้าน แบ่งเป็น E&M คือการติดตั้งระบบ 20,000 ล้านบาท อีกส่วนคือ O&M วันนี้ ซึ่งตัวเลขที่พูดคุยเป็นตัวเลขเท็จจริงทั้ง 2 ส่วน วันนี้ผมเชื่อว่า เราได้เข้าใจกันแล้ว ซึ่งท่านผู้ว่าฯได้กรุณา จะเอาเข้าสภาฯเพื่อเห็นชอบและอนุมัติ พร้อมได้รับการยืนยันว่าจะพยายามทำให้เร็วที่สุด
วันนี้ผมบริหารการเดินรถนี้อย่างสุดความสามารถ จากตัวเลขต่างๆ รางวัลต่างๆ ที่ได้จากทั่วโลกยืนยันได้ว่าเรามีความ มุ่งมั่นตั้งใจบริการผู้โดยสารอย่างดีที่สุด แต่เวลานี้ซึ่งการเงินที่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นความจริงว่าเงินก้อนมันโตจนบริษัทสภาพไม่คล่อง
ชัชชาติ กล่าวเสริมว่า การอนุมัติเรื่องสัญญาที่ก่อหนี้ผูกพันต้องมีสภากทม.เป็นผู้อนุมัติ การเอาเงินคงเหลือของกทม. มาจ่ายอะไรต้องให้สภากทม.อนุมัติทุกอย่าง เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจว่าสภากทม.เองก็มีภารกิจหลายเรื่องนอกจากเรื่องรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องออกกฎหมายมากมาย ถึงวันนี้การมีคณะกรรมาธิการที่ดำเนินงานมาหลายเดือนก็ทำให้มีความเข้าใจที่มากขึ้น
ในส่วนของค่าใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐานถ้ารัฐบาลสามารถช่วยเหลือกทม.ได้ก็จะง่ายขึ้น ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ต้องพิจารณาขั้นที่ 1 คือจะให้กรุงเทพธนาคม หรือ เคที ตรวจสอบก่อนว่ามีสัญญาผูกพันจำนวนเท่าไรอย่างไร แล้วก็ประเด็นที่สองคือนำเงินสะสม กทม.ออกมาใช้ ซึ่งต้องผ่านกรรมการ สภาฯพิจารณาทั้งนี้ต้องมีการดูหลายมิติ