SHORT CUT
ทำความรู้จัก ความหมายที่แท้จริงของ นายกฯเงา รัฐบาลเงา ที่มาที่ไปของชื่อระบบนี้ และความหมายของ นายกฯเงา ที่ทุกฝ่ายมุ่งไปที่ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเพิ่งออกมาพักในบ้านจันทร์ส่องหล้า อาจจะเป็น นายกฯเงาของเศษฐา ทวีสิน
เมื่อทักษิณ ชินวัตร กลับมาใช้ชีวิตนอกโรงพยาบาลตำรวจแล้ว เพราะได้รับการพักโทษตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2567 ทำให้หลายฝ่ายจับตามอง ทิศทางการเมืองไทย อาจจะมี "ลมเปลี่ยนทิศ" บ้าง ไม่มากก็น้อย บางคนอาจคิดถึงขั้นว่า ประเทศไทย ตอนนี้ "อาจจะ" มีนายกฯ 2 คน กล่าวคือ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯตัวจริง และ ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ในร่มเงาบ้านจันทร์ส่องหล้า อาจจะรับบทบาทให้คำปรึกษา เป็น "นายกฯเงา" อยู่เบื้องหลัง , แม้ว่า ประเด็นนี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกคนที่ 30 และเป็นคนปัจจุบันของประเทศ ยืนยันชัดเจน 100 % แล้วว่าระหว่างตนเองกับ น.ส.แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยนั้น ใจถึงใจกันอยู่แล้ว และเหมือนเช่นที่ตนเองได้พบกับอดีตนายกฯ ทุกท่าน เมื่อได้รับตำแหน่งเข้ามา หากมีโอกาสก็จะเข้าพบ อย่างเช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ
ส่วนประเด็น อำนาจในการบริหารตอนนี้ได้เปลี่ยนจากทำเนียบรัฐบาลไปอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าแล้วหรือไม่ เมื่อทักษิณออกมา นายกฯ เศรษฐา ยืนยันว่า ยอมรับในความเห็นต่าง แต่ไม่อยากให้นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็น เพราะยืนยันว่าตามรัฐธรรมนูญไทย นายกรัฐมนตรีมีได้เพียงคนเดียว
สำหรับ คำว่า นายกฯเงา , หรือ รัฐบาลเงา ในช่วงเวลานี้ ปี พ.ศ 2567 ในยุครัฐบาลเพื่อไทยนั้น ความจริงแล้ว ที่เข้าใจกันอยู่ ในความหมายที่ ทักษิณ หรือ แพทองธาร เป็นอยู่ นั้น จะมีความแตกต่างกับในต่างประเทศ ในอดีตที่ผ่านมา
โดยในต่างประเทศนั้น "รัฐบาลเงา" หรือ นายกฯเงา (The Shadow Cabinet หรือ The Shadow Front Bench) ถือเป็นแนวความคิดทางการเมืองที่หลายประเทศได้นำเอาไปประยุกต์ใช้ในการเมืองของตัวเอง อาทิเช่น ประเทศต่างๆ ในเครือสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส แคนาดา นิวซีแลนด์ ฯลฯ เป็นต้น ระบบรัฐบาลเงานี้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และในที่สุดแนวความคิดดังกล่าวได้เป็นที่ยอมรับนับถือและรู้จักกันของนานาประเทศในฐานะจารีตประเพณีทางการเมืองอังกฤษในช่วงปี 1880-1889
ในประเด็นรัฐบาลเงา หรือ นายกฯเงา ในต่างประเทศนั้น , ระบบรัฐบาลเงาเป็นมาตรการหนึ่งของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (Opposition Parties) ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเพียงพรรคเดียวหรือ พรรคการเมืองฝ่ายค้านหลายพรรครวมกัน เพื่อใช้ดำเนินการตรวจสอบรัฐบาลที่แท้จริงด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินอันรวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในนโยบายและกฎหมายต่างๆ ที่ออกโดยรัฐบาลที่แท้จริงนั้นด้วย นอกจากการการตรวจสอบข้างต้นแล้ว ในบางโอกาส รัฐบาลเงาอาจจะมีการเสนอแนะฝ่ายรัฐบาลที่แท้จริงโดยการออกนโยบายหรือกฎหมายทางเลือก (alternative policies or legislation) ที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสมกับการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้รัฐบาลที่แท้จริงรับหรือนำไปปรับใช้หากเห็นสมควร ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้การตรวจสอบของรัฐบาลเงาไม่เป็นการตรวจสอบแบบจับผิดฝ่ายตรงข้ามแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการตรวจสอบในเชิงสร้างสรรค์ กล่าวคือ มีการนำเสนอแนวทางแก้ไขให้กับรัฐบาลที่แท้จริงอีกด้วย
ในเรื่องของกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลเงาในต่างประเทศนั้น จะเป็นไปตามหลักการที่ได้มีการตกลงกันเป็นการภายในของพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด หรือพรรคการเมืองร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดแล้วแต่กรณี นั่นหมายถึงว่า อาจจะมีการตกลงโดยการออกเป็นมติพรรคให้มีการจัดการเลือกตั้งภายใน (Election) เพื่อทำการเลือกกลุ่มคณะบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลเงาอันเป็นวิธีการที่พรรคแรงงาน (Labour Party) ในประเทศอังกฤษใช้ หรือจะให้สิทธิขาดในการจัดตั้งรัฐบาลเงาแก่หัวหน้าพรรคแต่เพียงผู้เดียวในการเลือกสรรบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเงา (Shadow Minister) เช่นเดียวกันกับพรรคอนุรักษ์นิยมในประเทศอังกฤษ (Conservative Party) ใช้ก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น ในนิวซีแลนด์ แม้ว่าในบางกรณีมิได้มีการยื่นกระทู้ถาม หรือมีการยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี แต่ประชาชนก็ยังสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารการตรวจสอบการดำเนินกิจการของรัฐบาลได้ เนื่องจากจะมีจัดการอภิปราย (Debate) ในประเด็นต่างๆ ระหว่างรัฐมนตรีจริงและรัฐมนตรีเงาในกระทรวงต่างๆ อยู่บ่อยครั้งโดยการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสาธารณะ
แต่ในทางกลับกันนั้น คณะรัฐบาลเงา หรือว่า นายกฯเงา ก็ต้องไม่ลืมว่าตนเองนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นรัฐบาลทางเลือก (Alternative Cabinet) ของประชาชนด้วย
ดังนั้น การทำหน้าที่ต่างๆ ของรัฐบาลเงา นายกฯเงา จึงต้องเป็นไปตามขอบเขตที่ถูกต้องและเหมาะสมเสมือนหนึ่งรัฐบาลที่แท้จริงพึงต้องกระทำอย่างเดียวกัน หากมีการกระทำเกินขอบเขตหรือไม่ถูกต้อง รัฐบาลเงาก็จำต้องรับผิดชอบทางการเมือง (collective responsibility) เยี่ยงรัฐบาลที่แท้จริงด้วยการลาออกด้วยเช่นเดียวกัน
ระบบของรัฐบาลเงานั้น เป็นการตรวจสอบเชิงสร้างสรรค์ จะไม่ได้เป็นการ "ค้านแบบหัวชนฝา" แบบหัวเด็ดตีนขาด
ถ้ากรณีหากรัฐบาลที่แท้จริงดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินไปในแนวทางที่ดีแล้ว รัฐบาลเงาก็จะสนับสนุน ในทางกลับกัน กรณีหากรัฐบาลตัวจริงดำเนินกิจการไปโดยไม่เหมาะสมหรือถูกต้องนัก ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเงาที่จะโต้แย้งพร้อมทั้งให้การเสนอแนะได้นั่นเอง
สำหรับในไทย ก็เคยมี ภาพการเมืองที่มี นายกฯเงา มาแล้ว โดยเริ่มมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเงาเป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเงา เพื่อติดตามการทำงานของรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ และมี สมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง