svasdssvasds

กทพ. แจงข้อเท็จจริง ปม "ด่านลุมพินี" เชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร

กทพ. แจงข้อเท็จจริง ปม "ด่านลุมพินี" เชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร

กทพ. ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี "ด่านลุมพินี" เชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร ยันไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก่อสร้าง ช่วยลดปัญหารถติด

วันที่ 8 ก.พ.2567 ตามที่สื่อสังคมออนไลน์ได้โพสต์ แชร์ภาพ และข้อความ กรณีการก่อสร้าง "ด่านลุมพินี" แห่งใหม่ เข้าเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณทางราบบ่อนไก่ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

โดยตั้งคำถามว่า เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชน และจะเป็นการเพิ่มปัญหาจราจรจุดเชื่อมต่อบนทางพิเศษ บริเวณดังกล่าว รวมถึงอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวว่า โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครและถนนวิทยุ ประกอบด้วยโครงข่ายถนนเชื่อมต่อจากทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณบ่อนไก่ไปยังถนนวิทยุ และด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษลุมพินีซึ่งเป็นด่านเก็บค่าผ่านทางแห่งใหม่

โดยโครงการนี้ มีที่มาจากมติของคณะอนุกรรมการประสานงานการบริหารการจราจรในทางพิเศษ ในการประชุม ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2560 ซึ่งมอบหมายให้ กทพ. ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางขึ้น-ลงทางพิเศษ เนื่องจากการจราจรติดขัดสะสมจากถนนสายหลัก

โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและช่วงเวลาเร่งด่วนเย็น ซึ่งถนนพระรามที่ 4 บริเวณทางขึ้น-ลงด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษพระรามที่สี่ ของทางพิเศษเฉลิมมหานครเป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาดังกล่าว จากสภาพการจราจรที่หนาแน่นโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน

ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดทั้งบริเวณทางขึ้น-ลงถนนพระรามที่ 4 และโครงข่ายถนนบริเวณโดยรอบ ได้แก่ ถนนพระรามที่ 4 และถนนวิทยุ

กทพ. ได้ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางพิเศษบริเวณดังกล่าวแล้ว เห็นสมควรพัฒนาเป็นโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครและถนนวิทยุ เพื่อลดความแออัดของโครงข่ายถนนโดยรอบ และเป็นทางเลือกในการเดินทางสำหรับประชาชนในการใช้บริการทางพิเศษ

โดยผลการศึกษาด้านการจราจรของโครงข่ายถนนโดยรอบพื้นที่ในกรณีมีโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครและถนนวิทยุ พบว่า ความล่าช้า (Delay) ลดลง และความหนาแน่นปริมาณจราจร บนโครงข่ายถนนลดลงจากเดิม

กล่าวคือ บริเวณทางแยกใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานครตัดถนนพระรามที่ 4 ความล่าช้าลดลง ร้อยละ 10-17 และบริเวณแยกวิทยุความล่าช้าลดลง ร้อยละ 2-5 ความหนาแน่นบนช่วง ถนนพระรามที่ 4 ระหว่างแยกใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานครกับแยกวิทยุ ขาเข้าเมืองลดลง ร้อยละ 8-10 ขาออกเมืองลดลงร้อยละ 3-5

สรุปได้ว่าโครงการฯ มีส่วนสำคัญที่ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนวิทยุ และถนนพระราม 4 และเป็นการลดระยะเวลาการเดินทาง สำหรับผู้ที่เดินทางจากถนนวิทยุสามารถเข้าสู่ ทางพิเศษเฉลิมมหานครได้โดยตรง รวมถึงประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ชุมชนบ่อนไก่ และชุมชนโดยรอบสามารถใช้ถนนปลูกจิตเพื่อเชื่อมเข้าไปยังทางพิเศษเฉลิมมหานครได้

และเป็นการช่วยลดปัญหาแถวคอยบริเวณ หน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพระรามที่สี่ 2 อีกด้วย สำหรับด่านฯ ลุมพินีประกอบด้วยช่องเก็บค่าผ่านทางพิเศษจำนวน 4 ช่องทาง เป็นระบบเงินสด (MTC) จำนวน 2 ช่อง และระบบอัตโนมัติ (ETC) จำนวน 2 ช่อง โดยได้ออกแบบถนนในโครงการตามหลักวิศวกรรมจราจรให้สามารถเชื่อมเข้าสู่ทางพิเศษได้อย่างปลอดภัย

โดย โครงการฯ ดังกล่าว กทพ. ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างแต่อย่างใด และเป็นไปเพื่อประโยชน์
ของประชาชนผู้ใช้รถทุกคน ทั้งยังจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ กทพ. มีกำหนดเปิดให้บริการด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษลุมพินี ในวันที่ 15 มีนาคม 2567

related