7 ปีที่ผ่านมา ยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปกว่า 1,217 แห่ง เพราะมีนักเรียนน้อย ครูไม่พอ ส่วนอาคารโรงเรียนเดิมเอาเก็บไว้ให้ชุมชนทำประโยชน์อื่นต่อ
การยุบ-ควบรวม โรงเรียนขนาดเล็ก เป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการทำต่อเนื่องมานานกว่า 3 ทศวรรษ แต่หลังปี 2562 เป็นต้นมา นโยบายมีความชัดเจนมากขึ้นโดยมุ่งเจาะจงไปที่โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 40 คน และต้องมีระยะห่างจากโรงเรียนในตำบลเดียวกันไม่เกิน 6 กิโลเมตร ซึ่งการยุบหรือควบรวมโรงเรียนเหล่านั้น จะช่วยให้ “ลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านการบริหารจัดการ ของกระทรวงศึกษาธิการได้
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งเป้ายุบโรงเรียนขนาดเล็กให้ได้ 15,000 แห่ง ซึ่งปัจจุบัน ตั้งแต่เริ่มนโยบายมา ยุบไปแล้ว 14,515 แห่ง
ส่วนในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา สพฐ. เปิดเผยข้อมูลดังนี้
จากการสำรวจพบว่า 50% ของโรงเรียนรัฐบาลเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่ก็กระจายกันอยู่ตามพื้นที่ชนบท และมีจำนวนครูกับนักเรียนไม่มาก ยิ่งในช่วงที่เด็กไทยเกิดน้อยลงเรื่อยๆ ทุกปี ก็ส่งผลให้มีเด็กเข้าศึกษาในโรงเรียนน้อยลงไปอีก จึงต้องมีการยุบ-ควบรวม เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการงบประมาณ รวมถึงเพื่อเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กจะได้งบประมาณน้อย เนื่องจากคำนวณงบเป็นรายหัว เมื่องบน้อย ก็ยิ่งบริหารจัดการได้น้อย ไม่มีเงินมาซ่อมแซมโรงเรียน หรือซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนได้อย่างพอเพียง และตามมาด้วยปัญหาไม่มีเงินจ้างครูสอนเพิ่ม จึงทำให้ครูที่มีอยู่ต้องสอนทุกวิชาและทุกระดับชั้นที่สอนได้ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็ก
ในทางกลับกัน บางโรงเรียนก็มีจำนวนครูเกินกว่าจำนวนเด็กที่สอน ทำให้การจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้นักเรียนมีผลมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ และอนาคตทางการศึกษาสู้เด็กจากโรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ไม่ได้
นอกจากนี้ อีกปัญหาที่อยู่คู่สังคมไทยมานานคือ ครอบครัวนักเรียนในชนบทมักมีฐานะยากจน และไม่สามารถสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่ได้เท่าที่ควร
ทั้งนี้ การยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องคำนึงถึงผลกระทบของทุกฝ่าย โดยเฉพาะต้องดูแลเรื่องการเคลื่อนย้ายนักเรียนให้ไปยังโรงเรียนแห่งใหม่ได้อย่างปลอดภัย ส่วนโรงเรียนที่ถูกทิ้งร้างจะถูกเปลี่ยนให้เป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรมอื่นให้ชุมชน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาคือผู้ปกครองหลายคนเกิดความกังวลเมื่อเด็กต้องเดินทางไปเรียนไกลขึ้น และอาจโดนเพื่อนในโรงเรียนใหม่กลั่นแกล้ง นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของชุมชน ย่อมทำเกิดความผูกพันกับโรงเรียน จึงเป็นเรื่องยากที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยไม่ถูกคัดค้านจากคนในพื้นที่
และท้ายที่สุด ต่อให้การยุบโรงเรียนจะลดต้นทุนที่ไม่เกิดประโยชน์ได้จริง แต่ต้นทุนของชุมชนและของตัวเด็กอาจต้องมีนโยบายช่วยเหลือเพิ่มเติม เพราะผู้ปกครองและนักเรียนอาจต้องรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงเอกลักษณ์และพลังในชุมชนอาจหายไปเมื่อไม่มีโรงเรียน
ดังนั้นการจะยุบโรงเรียนแห่งหนึ่ง ต้องคำนึงถึงหลายๆ ด้าน มากกว่าแค่ใช้หลักเศรษฐศาสตร์ในการตัดสินใจเพียงอย่างเดียว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง