“ครูคือพ่อแม่คนที่สอง” และ “โรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง” จริงหรือ ? เมื่อระบบการศึกษาไทย เรียกร้องเวลาในชีวิตของครูเกินไป จนแทบไม่มีเวลาส่วนตัวอยู่แล้ว และจะดูแล ลูกศิษย์เหมือนลูกตัวเองได้อย่างไร !?
สังคมเรามักคุ้นเคยกกับคำว่า “โรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง” และ “ครูคือพ่อแม่คนที่สอง” เนื่องจากในวัยเรียน เด็กต้องใช้เวลาอยู่ในรั้วโรงเรียนกับครู มากกว่าอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่
ดังนั้น ครูไทย จึงเป็นบุคคลที่มีบทบาทหลักในการอบรมสั่งสอน มอบวิชาความรู้ และดูแลชีวิตในมุมต่างๆ ให้กับเด็ก ขณะที่พ่อแม่ของพวกเขายุ่งอยู่กับงานหาเลี้ยงครอบครัว
แต่ทั้งนี้ วาทะ “ครูคือพ่อแม่คนที่สอง” อาจฟังดูเป็นบทบาทที่สวยงาม ทว่าในโลกความจริงที่ครูไม่ได้หน้าที่แค่การสอน แต่ยังมีภาระงานอื่นๆ ที่ต้องบริหารจัดการจนชีวิตแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ทำให้การที่ผู้ปกครองจะโยนปัญหาของเด็ก มาให้ครูจัดการทุกอย่าง จึงอาจเป็นการเรียกร้องให้ครูทำหน้าที่เกินตัวไปอยู่บ้าง
เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาที่ครูไทยกำลังเผชิญอยู่ ทีม Springnew ชวนมาพูดคุยกับ 'ครูทิว - ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ที่ปรึกษากรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร และแอดมินเพจ ครูขอสอน ว่าทุกวันนี้ครูไทยกำลังแบกรับภาระอะไรอยู่บ้าง
การสอนหนังสือในห้องเรียน เป็นแค่งานส่วนหนึ่งในเวลาชีวิตของครูเท่านั้น เพราะเวลานอกเหนือจากนั้นครูยังมีภาระที่ต้องจัดการตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ซึ่งครูทิวขอแยกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้
ครูทิวเล่าว่าให้ฟังว่า ส่วนแรกคือ ภาระงานที่เป็นเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ดูแลช่วยเหลือนนักเรียน การออกแบบหลักสูตร การดูแลเรื่องการวัดประเมินผล รวมไปถึงจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร ดูแลช่วยเหลือนักเรียน รวมถึงทำงานร่วมกับผู้ปกครองชุมชน และชุมชนซึ่งผมมองว่า เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพครูอยู่แล้ว
ส่วนที่สองคืองานที่ทำร่วมกับฝ่ายต่างๆ ในโรงเรียน เช่น ฝ่ายวิชาการ ที่ต้องดูแลเรื่องเอกสาร เกี่ยวกับการเรียนการสอน การวัดประเมินผล ใบจดทะเบียนรายชื่อ และวิจัย รวมถึงทำงานกับฝ่ายการเงินและงบประมาณ ที่ต้องดูแลเรื่องรายรับรายจ่าย หารายได้ รวมไปถึงการจัดทำงบประมาณต่างๆ และการเบิกจ่าย
นอกจากนี้ยังมีงานฝ่ายบริหารงานที่เกี่ยวกับคน เช่นบรรจุแต่งตั้ง ทำหนังสือคำสั่ง เช็กมาสาย ซึ่งเป็นเหมือนงาน HR ของโรงเรียน ที่ต้องประเมินครู ประเมินนักเรียน
ส่วนสุดท้ายคือภาระงาน ที่เป็นโครงการพิเศษหรือนโยบายที่ส่งลงมาจากข้างบน เช่นต้องเข้าร่วมกิจกรรมหรือโครงการประจำปี ซึ่งปีหนึ่งมีมากกว่า 10 โครงการ แล้วครูก็ต้องมาทำเอกสารในการประเมินเอง และก็ต้องส่งกลับขึ้นไปให้เบื้องบนตามที่ได้รับมอบหมาย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทุกโรงเรียนมีเหมือนกัน แต่ว่าจำนวนเด็กมากน้อยก็แตกต่างกัน จามบริบทของโรงเรียน และจำนวนนักเรียนแต่ละที่ นั่นหมายความว่าโรงเรียนไหนมีทรัพยากรเยอะหน่อ ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาช่วย แต่มาทำแทนครูไม่ได้อยู่ดี เพราะว่าตำแหน่งที่เป็นข้าราชการในโรงเรียนก็มีแต่ ครูกับผู้บริหาร ซึ่งคนรับผิดชอบก็ไม่พ้นครู
ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีทรัพยากรมนุษย์มาก ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนมาช่วยครูทำงานจุกจิกต่างๆ และกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนรัฐในไทยก็เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และถ้าเป็นโรงเรียนประถม ภาระของครูก็ยิ่งเพิ่มมากไปอีก เนื่องจากครูต้องดูแลยิ่งกว่าเด็กโต เช่น ครูต้องเป็นคนซื้อของสดมาทำอาหารให้เด็กกิน หรือต้องอยู่เวรนานกว่าปกติ
ครูทิวมองว่า จริงอยู่ที่บางหน้าที่ครูก็จำเป็นต้องทำ แต่เมื่อต้องรับผิดชอบหลายอย่าง ภาระเหล่านั้นก็เรียกร้องเวลาชีวิตของครูเกินไป และหลายครั้งที่งานธุรการ งานพัสดุ กิจกรรมโครงการพิเศษต่างๆ หรือแม้แต่การสอนเด็กอ่อนนอกเวลา ก็ไม่ถูกนับว่าเป็นงานของครู เพราะครูมีหน้าที่หลักคือการสอนในเวลา
ลองนึกดูว่า ครูโรงเรียนประถมที่ภาระงานสอน 30 คาบต่อสัปดาห์แล้ว และยังมีภาระงานพวกนี้เข้ามารบกวนอีก ครูก็คงไม่มีวันสอนหนังสือได้เต็มที่นอกจากนี้ อีกหนึ่งภาระ ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันเยอะคือ การที่ครูต้อง อยู่เวรรักษาการณ์ โดยเฉพาะครูในโรงเรียน รัฐบาล ซึ่งถ้าเข้าเวรแค่ตอนเช้า หรือตอนกลางวันก็เข้าใจได้ แต่ถ้าครูต้องมาอยู่เวรกลางคืนเพื่อเฝ้าโรงเรียน อันนี้ไม่ควร เพราะอาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะครูผู้หญิง และหน้าที่นี้ควรเป็นของ รปภ. มากกว่า แต่เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ขาดแคลนคน ครูเลยต้องอยู่เวรแทน
ปัญหาเหล่านี้ ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนดีๆ ก็คงสามารถจ้างคนภายนอกมาแบ่งเบาได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีคนช่วย แล้วครูจะโฟกัสกับการสอนได้อย่างไร
ครูทิวกล่าว่า เรื่อง ครูเป็นพ่อแม่คนที่สอง มันเป็นคำพูดติดปาก เพราะเด็กใช้ชีวิตอยู่โรงเรียนมากกว่าที่บ้านในช่วงเปิดเทอม และในสังคมไทยเรามักยกฐานะครูเป็นมากกว่าผู้สอน เช่นครูต้องมีความเมตตากรุณา ครูต้องเสียสละ ครูต้องเป็นพระคุณที่สาม และต้องรักลูกศิษย์ เหมือนลูกตัวเอง
ทั้งนี้มันก็เป็นแง่มุมที่ดี เช่นอาจทำให้เด็กรู้สึกรักโรงเรียน ช่วยทำให้ครูดูแลเด็กเหมือนกับลูกของตัวเอง ซึ่งมันจำเป็นกับเด็กที่ไม่ได้รู้สึกว่าบ้านเป็นเซฟโซน ทว่าเรื่องนี้ก็เป็นดาบสองคม เพราะสำหรับเด็กบางคน โรงเรียนก็ไม่ใช่เซฟโซนเสมอไป และโรงเรียนสามารถสร้างความรุนแรงให้กับเด็กได้เช่นกัน ซึ่งหลายครั้งครูที่มีอยู่ก็ไม่สามารถดูแลชีวิตเด็ก และไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับเด็กทุกคนได้เช่นกัน
พอครูที่มีภาระงานรัดตัวอยู่แล้ว ถูกบีบให้กลายมาเป็นพ่อแม่ของเด็กไปด้วย มันจึงเรียกร้องความเสียสละและความรับผิดชอบที่สูงมาก ซึ่งหลายครั้งเวลาหมดเวลาเรียนไปแล้ว แต่เด็กเกิดมีปัญหาขึ้นมา ครูก็ต้องวิ่งไปดูแล ซึ่งมันก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันบางกรณีมันก็เกินหน้าที่ และถ้าครูคนไหนทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีพอ ก็จะถูกคนในสังคมมองว่าเป็นครูที่ไม่ดีไปเลย
อีกอย่างคือ เวลาครูทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ของเด็กมากไป จะรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของชีวิต ซึ่งอาจมีผลต่อการเติบโตและการเรียนรู้ของเด็ก เช่นเข้าไปก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว หรือการตัดสินใจมากเกินไป ซึ่งครูหลายคนอาจทำไปเพราะความหวังดี ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันควรมีเส้นแบ่งที่เหมาะสม เพราะสุดท้าย ครู มันก็คืองาน ที่ต้องทำอย่างมืออาชีพ มากกว่าอยู่กันแบบครอบครัว ที่ต้องมาสละชีวิตส่วนตัวให้กันมากเกินไป ซึ่งครูควรมี ปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ในฐานะเพื่อนมนุษย์กัน
ครูทิวฝากทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้ระบบที่มีอยู่มันไม่ได้ทำให้คุณครูเห็นคุณค่าในอาชีพตัวเอง เพราะเงินเดือนไม่สัมพันธ์กับความรับผิดชอบ ภาระงานที่ดูดกลืนเวลาชีวิตมากเกินไป และถูกเรียกร้องให้เป็นทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ครูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น
ในต่างประเทศ ครูเขามีปัญหาเกี่ยวกับการปรับสูตรการสอนเป็นหลัก แต่ของไทยครูมีปัญหาแบบอิหยังวะ เต็มไปหมด ซึ่งสาเหตุที่โรงเรียนไทยมีกิจกรรมที่ไม่จำเป็นเต็มไปหมด ก็เพราะโรงเรียนไม่ได้เอาการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง แต่ถ้าเรากล้าถามว่าเด็กต้องการอะไร และยึดสิ่งนั้นเป็นหลัก กิจกรรมที่ไม่มีประโยชน์ก็คงหายไปจากโรงเรียนของเรามากกว่านี้ และครูก็คงมีสมาธิสอนหนังสือมากขึ้น
ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือปรับคุณภาพชีวิตครูไทยให้สมดุล ทั้งภาระงาน กับ เงินเดือน เพราะถ้าคุณภาพชีวิตครูไทยยังไม่ดี เป็นแบบนั้น แล้วคุณภาพชีวิตของลูกศิษย์จะดีขึ้นได้อย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง