งานวิจัยทางการแพทย์ จากออสเตรเลีย ชี้ชัด มนุษย์ที่เป็นทาสแมว อาจเสี่ยงเป็นโรคจิตเภทมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า แต่ก็อาจเพิ่ม “เสน่ห์ทางเพศ” ได้เช่นกัน
การวิจัยทางการแพทย์จากออสเตรเลีย ระบุว่าการเลี้ยงแมว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเภทเป็นสองเท่า เพื่อให้ได้ข้อสรุปดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียได้วิเคราะห์การศึกษา 17 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในช่วง 44 ปีที่ผ่านมา จาก 11 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร พบว่า การศึกษาของนักวิจัยสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสแมวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเภท
“เราพบว่าบุคคลที่สัมผัสกับแมวมีโอกาสเป็นโรคจิตเภทประมาณสองเท่า” ทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยสุขภาพจิตควีนส์แลนด์เขียน
ตามข้อมูลของ Johns Hopkins Medicine ชี้ว่า โรคจิตเภทเป็นโรคทางจิตที่ซับซ้อนซึ่งพบได้ค่อนข้างบ่อย โดยอาการของโรคมีหลายระดับ เช่น ได้ยินเสียงแปลกๆ มีปัญหาในการคิด และการจัดความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยทั่วไปจะเริ่มพบได้ตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
แนวคิดที่ว่าการเลี้ยงแมวอาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อโรคจิตเภทไม่ใช่เรื่องใหม่ และถูกเสนอครั้งแรกในการศึกษาในปี 1995 รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการสัมผัสกับปรสิตชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Toxoplasma gondii อาจทำให้คนป่วยเป็น โรคทอกโซพลาสโมซิส หรือ โรคขี้แมว ได้ โดยเชื่อกันว่าปรสิตจะเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ผ่านการกัดของแมวหรือสัมผัสกับของเหลวในร่างกายหรืออุจจาระ นอกจากนี้ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านน้ำดื่มที่ปนเปื้อนหรือเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกได้ด้วย
ข้อมูลนักวิจัยคาดว่าประมาณ 40 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาอาจติดเชื้อ โรคทอกโซพลาสโมซิส หรือ โรคขี้แมว โดยทั่วไปแล้วจะไม่แสดงอาการใดๆ มักไม่เป็นอันตราย และไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหากผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง อย่างไรก็ตามปรสิตสามารถแทรกซึมเข้าไปในระบบประสาทส่วนกลางและส่งผลต่อสารสื่อประสาทได้ ในกลุ่มคนภูมิคุ้มกันต่ำ ข้อมูลของคลีฟแลนด์คลินิก ยังระบุว่า สตรีมีครรภ์สามารถแพร่เชื้อปรสิตผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ได้ เพิ่มความเสี่ยงของการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด หรือปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงของเด็ก รวมถึงปัญหาการมองเห็น ตาบอด และพัฒนาการล่าช้า
ในการศึกษาก่อนหน้านี้ Toxoplasma gondii มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ การปรากฏของอาการทางจิต และความผิดปกติทางระบบประสาทบางอย่าง รวมถึงโรคจิตเภทอีกด้วย
“...แต่อย่างไรก็ตาม นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าความเชื่อมโยงดังกล่าวยังไม่ได้พิสูจน์แน่ชัดว่า T. gondii ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ หรือปรสิตถูกส่งผ่านจากแมวสู่มนุษย์จริงหรือไม่…”
อย่างไรก็ตาม ปรสิตแมว ไม่ได้มีแต่ข้อเสียเพิ่มความเสี่ยงโรคจิตเภทให้กับเหล่าทาสแมวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็ยังส่งผลดีช่วยเพิ่มเสน่ห์ทางเพศได้เช่นกัน Javier I. Borráz-León, นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Turku ประเทศฟินแลนด์ เผยแพร่งานวิจัย ผ่านวารสารออนไลน์ NIH (National Library of Medicine) ระบุว่า แม้ปรสิตเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและความสำเร็จในการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีหลักฐานว่า Toxoplasma gondii (T. gondii) ปรับเปลี่ยนลักษณะฟีโนไทป์ของโฮสต์ระดับกลางเพื่อเพิ่มโอกาสการแพร่กระจาย ซึ่งศึกษาจากอาสาสมัครที่ติดเชื้อ Toxoplasma (จำนวน 35คน) และไม่ติดเชื้อ (จำนวน 178 คน) ถูกเปรียบเทียบในเรื่องความน่าดึงดูดใจในการรับรู้ตนเอง
พบผลลัพธ์ที่น่าสนใจว่าผู้ชายที่ติดเชื้อมีความไม่สมมาตรของใบหน้าลดลง ในขณะที่ผู้หญิงที่ติดเชื้อมีมวลกายลดลง ค่าดัชนีมวลกายลดลง แนวโน้มความไม่สมมาตรของใบหน้าลดลง ความน่าดึงดูดใจในการรับรู้ตนเองสูงกว่า จึงถือได้ว่า ชายและหญิงที่ติดเชื้อมีเสน่ห์ ดึงดูดทางเพศมากขึ้น และมีสุขภาพดีมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ
ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก คาดว่าทั่วโลก จะพบผู้ป่วยโรคจิตเภทได้ใน 1 ใน 300 คน หรือประมาณ 24 ล้านคน อย่าไรก็ตามโรคจิตเภทสามารถรักษาได้ด้วยยาและการบำบัดแบบประคับประคอง แต่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด
ที่มา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง