svasdssvasds

"ไข้เลือดออก" ครองแชมป์โรคระบาดไทยปี 66 "วัคซีนไข้เลือดออก" ควรเลือกแบบไหน

"ไข้เลือดออก" ครองแชมป์โรคระบาดไทยปี 66 "วัคซีนไข้เลือดออก" ควรเลือกแบบไหน

“ไข้เลือดออก” ครองแชมป์อันดับ 1 โรคระบาดในเทศไทยปี 2566 สูงกว่าปีก่อน 3.4 เท่า มีโอกาสเป็นซ้ำได้ "วัคซีนไข้เลือดออก" ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการป้องกันไข้เลือดออก พาไปทำความรู้จักว่าวัคซีนแบบไหนเหมาะกับเรา

กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคติดต่อที่มีการระบาดในไทยปี 2566 ที่ผ่านมา โดยจากสถิติ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 13 ธ.ค. 66 พบว่า

  • มีการระบาด และมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 รวม 147,412 ราย
  • อัตราป่วย 222.91 ต่อประชากรแสนคน
  • ผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 3.4 เท่า กระจายทั่วประเทศ
  • พบผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ รวม 174 รายจาก 57 จังหวัด
  • อัตราป่วยตาย 0.12% โดยอัตราป่วยตายสูงสุดในกลุ่มอายุ 25 – 34 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และภาวะอ้วน

ด้าน พญ.สุพิชชา องกิตติกุล แพทย์ศูนย์อายุรกรรมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องไข้เลือดออก ภัยเงียบสุดอันตรายที่ไม่ว่าใครก็มีโอกาสเป็น ปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจงกับตัวโรค จึงเป็นการรักษาไปตามอาการ ที่สำคัญ ‘เคยเป็นแล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก’ และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ‘ยิ่งเป็นซ้ำอาการก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น’

แล้วเราจะป้องกันหรือลดเสี่ยงการติดเชื้อได้อย่างไร วิธีไหนเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดนอกจากการระวังไม่ให้ยุงกัด คำตอบก็คือ การฉีดวัคซีนนั่นเอง 

“ไข้เลือดออก” ครองแชมป์อันดับ 1 โรคระบาดในเทศไทยปี 2566

 

 

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมีกี่ชนิด?

วัคซีนไข้เลือดออกในประเทศไทย ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

 

 1. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิด 3 เข็ม (Dengvaxia) 

เป็นวัคซีนไข้เลือดออกชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ใน 21 ประเทศทั่วโลก และเป็นวัคซีนไข้เลือดออกชนิดเดียวที่ได้รับการอนุมัติโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา USFDA

  • ชนิดของวัคซีน : วัคซีนเดงวาเซีย (Dengvaxia) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ผลิตโดยบริษัท ซาโนฟี ปาสเตอร์ จำกัด โดยไวรัสที่อ่อนฤทธิ์ในวัคซีนจะเข้าไปแบ่งตัวและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ
  • การฉีดวัคซีน : จะฉีดบริเวณต้นแขน ห่างกันเข็มละ 6 เดือน เมื่อฉีดครบ 3 เข็ม จะป้องกันไข้เลือดออกได้เป็นระยะเวลา 5-6 ปี
  • ประสิทธิภาพ : ป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ 80% ลดความรุนแรงของโรคได้ 80% และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ 75%

 2. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิด 2 เข็ม (QDenga)

เป็นวัคซีนไข้เลือดออกตัวล่าสุด ที่พัฒนาโดยใช้ Backbone ของไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดในประเทศไทย

  • ชนิดของวัคซีน : วัคซีนคิวเดงกา (Qdenga) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ผลิตและนำเข้ามาจากประเทศเยอรมนี โดยไวรัสที่อ่อนฤทธิ์ในวัคซีนจะเข้าไปแบ่งตัวและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ
  • การฉีดวัคซีน : จะฉีดบริเวณต้นแขน ห่างกันเข็มละ 3 เดือน
  • ประสิทธิภาพ : ป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ 80% ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และลดความรุนแรงของโรคได้ 90.4%

 

วัคซีนไข้เลือดออกชนิดไหนที่เหมาะกับเรา?

  • วัคซีนเดงวาเซีย (Dengvaxia)
  1. เหมาะกับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน
  2. ในผู้ที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนรับวัคซีน
  3. สามารถใช้ในผู้ที่มีอายุ  6-45 ปี
  4. ฉีด 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน
  • วัคซีนคิวเดงกา (Qdenga)
  1. สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน
  2. ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนการรับวัคซีน
  3. สามารถใช้ในผู้ที่มีอายุ 4-60 ปี
  4. ฉีด 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 3 เดือน

ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

  • หลีกเลี่ยงการเข้ารับวัคซีนขณะมีไข้ หรือไม่สบาย
  • หลีกเลี่ยงการเข้ารับวัคซีนขณะตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร
  • แนะนำให้เว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีนเชื้อเป็นอื่นๆ อย่างน้อย 4 สัปดาห์
  • อาการข้างเคียงที่พบได้คือ ปวด ห้อเลือด บวมและคันบริเวณที่ฉีด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว มีไข้ต่ำๆ

เมื่อทราบถึงประโยชน์ในการป้องกัน การลดโอกาสการติดเชื้อและเกิดโรค รวมถึงหากติดเชื้อก็ยังช่วยให้อาการไม่รุนแรงได้นั้น หากคุณเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีเด็กๆ ในบ้านที่เป็นกลุ่มเสี่ยง การได้รับวัคซีนไข้เลือดออกก็นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง และถ้ายังไม่แน่ใจว่าควรเลือกวัคซีนชนิดไหนดี การปรึกษาแพทย์ก็จะช่วยให้เลือกวัคซีนได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น 

ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท

related