29 จังหวัดอัตราป่วย “ไข้เลือดออก” สูง พบผู้ใหญ่เสียชีวิตมากกว่าเด็ก ย้ำกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย มีไข้อย่าใช้ยากลุ่มเอ็นเสดชี้ทำเลือดออกง่าย “ตราด-จันทบุรี-น่าน” อัตราป่วยสูง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ว่า ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบจังหวัดที่มีอัตราป่วย"โรคไข้เลือดออก"สูงกว่า 20 ต่อประชากรแสนคนใน 29 จังหวัด กระจายทุกภูมิภาค รวมทั้งมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน (HI) และในชุมชน (CI) สูง
“ตราด-จันทบุรี-น่าน 3 จังหวัดที่อัตราป่วยสูงเกินกว่า 100 ต่อประชากรแสนคน ส่วนผู้เสียชีวิตพบ 41 ใน 23 จังหวัด รายเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี จำนวน 12 ราย และผู้ใหญ่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 29 รายผู้ใหญ่มากกว่าเด็กปัจจัยเสี่ยงคือ มีภาวะอ้วน, มีโรคประจำตัวเรื้อรัง, ได้รับการวินิจฉัยและรักษาช้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ที่ช่วงแรกป่วยมักไม่ได้นึกถึงโรคไข้เลือดออก, และการได้รับยากลุ่มเอ็นเสดเพื่อลดไข้ โดยพบมากในกลุ่มเด็ก ดังนั้น ในช่วงนี้หากมีอาการไข้ อย่าซื้อยากลุ่มเอ็นเสดมารับประทานเอง เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย จนมีความเสี่ยงเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เตือน พบผู้ป่วย 'ไข้หวัดใหญ่' เพิ่มสูงช่วงหน้าฝน อาการคล้ายโควิด19
ผวา! ไข้เลือดออกไครเมียคองโก หลายประเทศกำลังเจอ เสี่ยงระบาดทั่วโลก
ไข้เลือดออก มหันตภัยร้ายจากยุงลาย ที่มากับหน้าฝน เช็กเลยอาการป่วย 3 ระยะ
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ได้กำชับให้ทุกจังหวัดติดตามประเมินสถานการณ์โรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด และพิจารณาจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเน้นมาตรการในพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะระบาดภายใน 4 สัปดาห์ รวมทั้งขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสื่อสารถึงประชาชน อสม. ร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ รวมถึงเร่งรัด 29 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงให้ดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอำเภอที่พบการระบาดสูง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ดีที่สุด คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่และ อสม. ดำเนินการตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ เพื่อไม่ให้ยุงลายมีที่วางไข่ และฉีดพ่นฆ่ายุงลายตัวเต็มวัย ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง หรือทาโลชั่นกันยุง