กรมควบคุมโรค คาดการณ์ โรคที่ระบาดแน่ในปี 2567 รวม 3 โรค "โควิด-19,ไข้หวัดใหญ่,ไข้เลือดออก’" ผู้ป่วยโควิด-19 จะแตะ 6.5 แสนคน อาจเสียชีวิตถึง 800 คน ส่วนไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก จะระบาดหนักเช่นกัน พร้อมเผย 12 โรคที่ต้องเฝ้าระวัง
ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แลถงข่าวอนาคตประเทศไทยโรคและภัยสุขภาพประชาชนปี 2567 ว่า จากการสรุปสถานการณ์โรค พบว่า
โรคที่คาดว่าระบาดปี 2567 มี 3 โรค ได้แก่
1. โควิด 19 เหมือนโรคประจำถิ่น ไม่หายไปไหน โดยปี 2566 พบว่ามีผู้ป่วย 652,868 คน นอน รพ. 38,457 คน เสียชีวิต 848 คน โดยปี 2567 คาดว่าติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 649,520 คน นอน รพ. 38,672 คน และเสียชีวิต 852 คน โดยเชื้อโควิดวันนี้ยังเป็นโอมิครอนตัวเดิม แต่อาจเปลี่ยนสายพันธุ์ย่อย ยังเน้นวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ส่วนประชาชนทั่วไปแล้วแต่ความสมัครใจ แต่แนะนำว่าคนยังไม่เคยฉีดหรือฉีดนานแล้วให้กระตุ้นเหมือนไข้หวัดใหญ่ปีละเข็ม ฟรีไม่เสียเงิน
ส่วนการป้องกันที่ดีที่สุด คือ พกหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เมื่อเข้าสถานที่เสี่ยง เช่น รพ. ตรวจหาเชื้อเมื่อมีอาการสงสัยหรืออาการระบบทางเดินหายใจ เรายังเฝ้าระวังเรื่องอาการรุนแรงร่วมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการเอาเชื้อมาดูตลอดเวลาว่า มีการกลายพันธุ์จนรุนแรงหรือไม่ รวมถึงดูทุกรายที่แอดมิท รพ.
2. โรคไข้หวัดใหญ่ ปี 2566 มีผู้ป่วย 460,325 คน ตาย 29 คน โดยปี 2567 คาดว่าป่วย 346,110 คน โดยจะเริ่มระบาดสูงในช่วง พ.ค. การป้องกันยังแนะนำฉีดวัคซีนประจำปี 1 ครั้งในกลุ่มเสี่ยง ซึ่ง WHO จะแนะนำว่าวัคซีนแต่ละปีควรจะเป็นเชื้อตัวใด
อย่างไรก็ตาม รับวัคซีนแล้วยังติดเชื้อได้ หากป่วยควรหยุดเรียน-หยุดงาน 3-7 วัน จนกว่าจะหาย สวมหน้ากาก ไม่คลุกคลีผู้ป่วยทางเดินหายใจ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง
3. ไข้เลือดออก ปี 2566 พบป่วย 156,097 คน ตาย 187 คน ส่วนปี 2567 คาดว่าป่วย 276,945 คน ตาย 280 คน น่าจะมากกว่าปีที่แล้ว และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังเกือบ 3 เท่า โดยไข้เลือดออกมีการติดเชื้อตลอดทั้งปี แต่จะเริ่มสูงขึ้นช่วง เม.ย. และ พ.ค.จะเริ่มระบาด โดยไข้เลือดออกจะระบาดรุนแรง 2 ปีติดกัน
การป้องกันเน้นไม่ให้ยุงกัด โดยยาทากันยุง ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น สวมเสื้อผ้าแขนขายาว นอนในมุ้ง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ อาการที่ต้องรีบพบแพทย์ คือ ไข้สูงลอย เจ็บชายโครง
ขณะนี้ผู้เสียชีวิตเยอะสุด คือ ผู้ใหญ่ เพราะการติดเชื้อครั้งที่สองมักอาการรุนแรงมาก จากที่มี 4 สายพันธุ์ สำคัญคือป่วยแล้วอย่าซื้อยาทานเอง หากมีไข้ซื้อยาพาราเซตามอลอย่างเดียวเท่านั้น อย่าคิดถึงยากลุ่มอื่น อย่างไอบูโพรเฟน เอ็นเสด สเตียรอยด์ เพราะทำให้เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่ายและเสียชีวิตได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง