อย่าเรียก "น.ช.ทักษิณ" กรมราชทัณฑ์ แจงใช้คำนำหน้าชื่อผู้ต้องขัง "น.ช." และ "น.ญ." เพื่อแบ่งประเภทของนักโทษเด็ดขาดเท่านั้น หวั่นส่งผลกระทบคืนคนดีสู่สังคม
กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารข่าว ชี้แจ้งกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับสิทธิพิเศษเหนือผู้ต้องขังรายอื่น เรื่อง "ราชทัณฑ์ แจงการใช้คำนำหน้าผู้ต้องขัง" โดยระบุว่า..
ตามที่มีกระแสข่าว ได้กล่าวถึงการใช้คำนำหน้าชื่อสำหรับผู้ต้องขังที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะ นายทักษิณ ชินวัตร ที่พาดพิงและกล่าวว่ากรมราชทัณฑ์ ให้อภิสิทธิ์ ดูแลผู้ต้องขัง 2 มาตราฐาน ไม่ใช้คำนำหน้าชื่อว่า น.ช. กับนายทักษิณ ตามที่เป็นข่าว นั้น
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 "นักโทษเด็ดขาด" หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุดและให้หมายความรวมถึงบุคคล ซึ่งถูกขังไว้ตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยการใช้คำนำหน้าชื่อว่า นักโทษเด็ดขาดชาย (น.ช.) หรือนักโทษเด็ดขาดหญิง (น.ญ.) จึงเป็นเพียงถ้อยคำที่ใช้ในการแบ่งประเภทของนักโทษเด็ดขาด โดยใช้เพศเป็นเกณฑ์กำหนดเท่านั้น ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และการใช้คำนำหน้าชื่อเหล่านี้จะใช้ในงานราชทัณฑ์ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำ/ทัณฑสถานเท่านั้น
หากต้องมีการเปิดเผยชื่อ-นามสกุล ออกสู่สาธารณชน จะไม่ใช้คำนำหน้าชื่อด้วย น.ช. หรือ น.ญ. เพื่อบ่งบอกสถานะความเป็นผู้ต้องขัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในการคืนคนดีสู่สังคม รวมถึงอาจกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง
เนื่องจากในปัจจุบันโลกโซเชียลและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วและยังคงอยู่ในระบบอย่างยาวนาน จึงอาจทำให้เป็นการตีตราผู้ต้องขังเหล่านี้ไปตลอด ซึ่งกรมราชทัณฑ์ยังหวังว่าจะสามารถดำเนินการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังทุกรายให้ได้รับการยอมรับจากสังคม และดำเนินชีวิตภายหลังพ้นโทษได้อย่างปกติสุขไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
อีกทั้ง กรมราชทัณฑ์ มิได้เลือกปฏิบัติใช้คำนำหน้าชื่อว่า นาย เฉพาะกับ "นายทักษิณ" เท่านั้น โดยที่ผ่านมาหากต้องมีการเปิดเผยชื่อ - นามสกุลของผู้ต้องขังรายอื่นๆ ออกสู่สาธารณชน จะใช้คำนำหน้าชื่อว่า นาย นาง หรือ นางสาว เช่นเดียวกันกับการบันทึกข้อมูลทางการแพทย์เมื่อออกไปรักษาโรงพยาบาลภายนอก รวมถึงระบบการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก็จะใช้คำนำหน้าชื่อเป็นนาย นาง หรือ นางสาว เช่นเดียวกัน
กรมราชทัณฑ์ ให้ความสำคัญกับคำนำหน้าชื่อเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อมิให้เกิดการตีตราหรือบ่งบอกสถานะความเป็นผู้ต้องขังไปตลอดชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง