svasdssvasds

ทุ่นสึนามิ ในทะเลอันดามัน ไม่ส่งสัญญาณ ปภ. ยันไม่กระทบการเฝ้าระวัง

ทุ่นสึนามิ ในทะเลอันดามัน  ไม่ส่งสัญญาณ ปภ. ยันไม่กระทบการเฝ้าระวัง

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แจง "ทุ่นสึนามิ" ในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ไม่ส่งสัญญาณ เหตุหลุดออกจากตำแหน่งติดตั้ง ยืนยันไม่กระทบการเฝ้าระวัง และการแจ้งเตือนสึนามิ เตรียมติดตั้ง ทุ่นสึนามิ ชุดใหม่ ที่ขนส่งจาก สหรัฐอเมริกา ช่วง พ.ย. 67

ทุ่นสึนามิ หลุดออกจากตำแหน่งและหยุดส่งสัญญาณ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) เผยถึงกรณีทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ในทะเลอันดามันไม่ส่งสัญญาณว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบการทำงานของทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ซึ่งได้ติดตั้งในทะเลอันดามัน ห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กิโลเมตร พบว่า ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ได้หลุดออกจากตำแหน่งการติดตั้งและหยุดส่งสัญญาณ โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับกองทัพเรือภาคที่ 3 ทำการเก็บกู้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามันขึ้นฝั่งเพื่อเตรียมนำส่งซ่อมบำรุงตามแผนต่อไป

Tsunami

ติดตั้ง ทุ่นสึนามิ ชุดใหม่

สำหรับการวางทุ่นสึนามิชุดใหม่เพื่อทดแทนทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ที่หลุดออกจากตำแหน่งการติดตั้งและหยุดส่งสัญญาณนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการจัดหาทุ่นสึนามิชุดใหม่ดังกล่าวแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขนส่งจากประเทศสหรัฐอเมริกาและมีกำหนดส่งถึงประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2567 พร้อมทั้งได้วางแผนการติดตั้งทุ่นสึนามิชุดใหม่ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567

ทั้งนี้ เนื่องจากการนำทุ่นตรวจวัดสึนามิไปติดตั้งทดแทนทุ่นชุดเดิมนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านความปลอดภัย สภาพอากาศ สภาพพื้นน้ำทะเลที่เหมาะสม จากช่วงมรสุมในทะเลอันดามัน ซึ่งจะดำเนินการติดตั้งโดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

กรณีทุ่นสึนามิของไทยหลุดออกจากตำแหน่งหรือไม่ส่งสัญญาณนั้น

“ไม่ส่งผลกระทบต่อการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยแต่อย่างใด” จะมีผลทำให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไม่ได้รับข้อมูลโดยตรงจากทุ่นสึนามิของไทยเท่านั้น แต่ระบบการ “เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของไทยยังคงดำเนินการได้”

เนื่องจากการติดตามเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัย การเกิดสึนามิของไทยเป็นการใช้และประมวลข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในทะเล แถบมหาสมุทรอินเดีย ข้อมูลทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศอินเดีย ข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศอินเดีย และประเทศอินโดนีเซีย

ทุ่นสึนามิ หลุดออกจากตำแหน่งและหยุดส่งสัญญาณ

นอกจากนี้ ยังใช้ข้อมูลจากติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลบริเวณสถานีเกาะเมียง จังหวัดพังงา และสถานีเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ซึ่ง “ข้อมูลจากทุ่นสึนามิของไทย เป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ใช้ร่วมกับข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภายในและต่างประเทศ” โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ ปภ.จะนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์กับแบบจำลองการเกิดสึนามิของไทยที่ได้ออกแบบไว้ล่วงหน้า โดยสามารถชี้เป้าข้อมูลเชิงลึกได้ถึงพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ช่วงเวลาในการเข้าถึงฝั่งของคลื่นสึนามิ ใน 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน (สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง และภูเก็ต)

 

อย่างไรก็ตาม ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทยในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 มีสถานะการทำงานเป็นปกติ โดย ปภ.ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเกิดสึนามิตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยสึนามิในพื้นที่เสี่ยง 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันมีสถานะการทำงานเป็นปกติ ซึ่ง ปภ. ได้ดำเนินการตรวจสอบและทดสอบสถานะการทำงานของระบบแจ้งเตือนภัยสึนามิเป็นประจำทุกวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related