ส่องประวัติ ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกฯไทย คนที่ 7 ที่ถูกกลับมาพูดถึงเป็นอย่างมาก เพราะจดหมายลับกำลังจะถูกเปิดในปีนี้ ปี 2024 เรามาดูตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 , ขบวนการเสรีไทย และ การต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐมนูธรรม ประวัติ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ที่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุตรของนายเสียง กับ นางลูกจันทร์ พนมยงค์ สมรสกับท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ที่บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 รวมอายุได้ 83 ปี
ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐมนูธรรม เป็นแกนนำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2475
ปรีดีได้รับการยกย่องว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎรโดยเป็นผู้ร่างคำประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ต่อมาได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐมนูธรรม ได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส นอกจากนี้ยังเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ และผู้ประศาสน์การ (ผู้ก่อตั้ง) มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบกับต่างประเทศ
24 มิ.ย. พ.ศ. 2475 ปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครอง เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎรโดยเป็นผู้ร่างคำประกาศคณะราษฎรฉบับที่1 และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475
28 มิ.ย. พ.ศ. 2475 หลังจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ประกาศใช้ ปรีดี พนมยงค์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎรชั่วคราวจากคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจประกาศตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวซึ่งมีจำนวน 70 นาย ในวันดังกล่าวได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก และที่ประชุมได้เลือกมหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี) และได้เสนอชื่อคณะกรรมการราษฎรให้สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติจำนาน 14 คน โดยนายปรีดี เป็นหนึ่งในคณะกรรมการราษฎร
10 ธ.ค. พ.ศ.2475 เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ประกาศใช้ ได้มีการแต่งตั้งให้ ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรี รวมถึงเป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ .2475
ให้หลัง 3 เดือน หลวงประดิษฐมนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอเอกสาร "เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ"เพื่อให้เป็นนโยบายของรัฐบาล
ปรีดี พนมยงค์ นำเสนอเค้าโครงการฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อ 9 มีนาคม และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมานุการขึ้น 14 คน เพื่อพิจารณาร่างเค้าโครงฯ ฉบับนี้ ในการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการฯ เมื่อ 12 มีนาคม ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับเค้าโครงการฯ 8 นาย มีผู้คัดค้าน 4 นาย และไม่ออกเสียง 2 นาย โดยกลุ่มผู้คัดค้านได้เตรียมร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเค้าโครงการนโยบายเศรษฐกิจในวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งเป็นการประชุมโดยที่ไม่มีการลงมติเพราะพระยาพหลพลพยุหเสนาไปราชการต่างจังหวัด ปรีดี ได้กล่าวในที่ประชุมว่า หากเรื่องนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตนจะลาออกและประกาศโครงการในนามของตน แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเห็นว่าถ้าทำอย่างนั้นก็จะขาดความเชื่อถือในรัฐบาลไป ในอีก 3 วันต่อมาได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ในที่ประชุมพระยาพหลฯได้เริ่มต้นถามว่า นโยบายทางเศรษฐกิจได้จัดการอย่างไรบ้าง นายปรีดีได้เล่าถึงการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยได้รับพระบรมราชานุญาตว่าถ้าจะประกาศเค้าโครงการฯให้นายปรีดีลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและราชการ อย่าให้เป็นโปลิซีของรัฐบาล จากนั้นพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ส่งบันทึกพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯในเรื่องเค้าโครงการให้ปรีดีอ่าน
วิกฤตการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน
เมื่อ ปรีดีได้อ่านแล้วได้กล่าวว่า เมื่อในหลวงไม่เห็นด้วยแล้วมีวิธีทางเดียวเท่านั้นคือข้าพเจ้าต้องลาออกจากรัฐมนตรี พระยาพหลฯได้ยับยั้งพร้อมเสนอทางออก 3 ประการ คือ 1.ไม่ประกาศโครงการฯของผู้ใด 2.ส่งคนไปดูงานในประเทศต่างๆแล้วกลับมารายงาน 3.ตั้งบุคคล 3 ประเภทคือผู้มีทรัพย์ พ่อค้าและกรรมกรเข้ามาเป็นกรรมการพิจารณา แต่ท้ายที่สุดที่ประชุมได้ลงมติรับเอานโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนฯเป็นแนวทาง โดยมีผู้สนับสนุน 11 เสียง ผู้ที่สนับสนุนนายปรีดีมี 4 เสียง ส่วนคณะรัฐมนตรีที่เหลืองดออกเสียง และที่ประชุมมีมติไม่ให้ประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลออกไป
เค้าโครงการเศรษฐกิจกลายเป็นวิกฤตการเมืองในห้วงแรกของประชาธิปไตยในไทย 1 เม.ย. พ.ศ.2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกา ปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและห้ามมิให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปรับคณะรัฐมนตรี โดยปรีดี พนมยงค์ ถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี พระยามโนฯ ยังใช้อำนาจตามพระราชกฤษฎีกาออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 และบีบบังคับให้ปรีดี พนมยงค์ ออกนอกประเทศในวันที่ 12 เม.ย. พ.ศ. 2476 โดยรัฐบาลรับรองว่าจะให้เงินปีละ 1,000 ปอนด์พร้อมเอกสารรับรองจากรัฐบาล
รัฐประหารหลังโค่นนายกฯ ฝ่ายกษัตริย์
วิกฤตทางการเมืองได้นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อ 20 มิ.ย. พ.ศ.2476 โดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ยึดอำนาจการปกครองจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แต่งตั้งตนเองเป็นผู้รักษาพระนคร มีหลวงพิบูลสงครามเป็นเลขานุการฝ่ายทหารบกและหลวงศุภชลาศัยเป็นเลขานุการฝ่ายทหารเรือ
29 ก.ย. พ.ศ.2476 ปรีดีเดินทางกลับถึงไทยและได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเมื่อ 1 ต.ค. พ.ศ.2476 ด้านสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องที่นายปรีดีต้องคำกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ คณะกรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์ว่ามิได้มีมลทิน
ในช่วงเวลานั้นที่การเมืองไทยยังไม่นิ่ง ปรีดี พนมยงค์ ได้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการศึกษา โดยเฉพาะความรู้ที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยในวันที่ 17 มี.ค. พ.ศ.2476 ได้ผลักดันพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.2476 และทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยในวันที่ 27 มิ.ย. พ.ศ.2477
ในช่วงเวลาหลังจากตั้งธรรมศาสตร์แล้ว หากจะมองภาพความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดี และจอมพล ป. ที่เคยอยู่ฝ่ายเดียวกันในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ทว่า ทั้งคู่กลายเป็นปมความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อทั้งสองคนมีแนวทางการบริหารประเทศที่แตกต่างกัน และความสัมพันธ์อันยาวนานมาแตกหักเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน พ.ศ. 2483-2484 จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีใช้วิทยุกระจายเสียงของรัฐ เปิดเพลงปลุกใจ ปลุกความรู้สึกชาตินิยมในหมู่นักศึกษา ประชาชน
ส่วนปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาส์นการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้แสดงความความคิดเห็นมิให้นักศึกษาออกมาเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืน
ต่อมา เมื่อกองทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยในวันที่ 8 ธ.ค. พ.ศ. 2484 กองทัพญึ่ปุ่นขอกู้เงินรัฐบาลไทยเพื่อใช้จ่ายในระหว่างที่อยู่ในไทย การขอกู้ครั้งนี้ปรีดี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้คัดค้าน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป.พิบูลสงครามจึงมีมติเมื่อ 16 ธ.ค. พ.ศ. 2484 ให้นายปรีดี ไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แทนเจ้าพระยายมราชที่ถึงแก่อสัญกรรม ปรีดี พนมยงค์ จึงลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลังในวันเดียวกัน
ในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในไทย ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น โดยมีภารกิจในระยะแรกคือ
1.ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยคนไทยผู้รักชาติร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร
2.ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของไทยไม่เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 ม.ค. พ.ศ.2485
3.ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าไทยจะไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม และพยายามผ่อนหนักเป็นเบาโดยปรีดีรับเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยมีรหัสลับคือ "รู้ธ" และใช้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นที่ตั้งกองบัญชาการขบวนการเสรีไทย
วันที่ 5 ธ.ค. พ.ศ.2488 ร.8 เสด็จนิวัติพระนคร เนื่องด้วยทรงบรรลุนิติภาวะ ปรีดีจึงได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส" ในวันที่ 8 ธ.ค. พ.ศ.2488
สภาพการณ์ทางการเมืองภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานะปรีดี และขบวนการเสรีไทยได้รับความนิยมจากประชาชนมาก สามารถกำจัดบทบาทของจอมพล ป.พิบูลสงครามออกจากศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองได้
ภายหลัง ควง อภัยวงศ์ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ 14 มี.ค. พ.ศ.2489 จากนั้นรัฐสภา ที่ประชุมมีมติเลือกปรีดี เป็นนายกฯ ในวันที่ 24 มี.ค. พ.ศ. 2489 โดยเป็นนายกฯ ลำดับที่ 7 ของประเทศ
เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ประกาศใช้ ปรีดีได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ วันที่ 7 มิ.ย. พ.ศ. 2489 และได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น แต่ยังไม่ทันได้ตั้งคณะรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคตโดยต้องพระแสงปืนในวันที่ 9 มิ.ย. พ.ศ. 2489 ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกฯและได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 11 มิ.ย.
แม้ว่ากลุ่มของปรีดีสามารถควบคุมกลไกรัฐสภาได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพฤติสภา 87% และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 66% แต่ในทางกลับกัน กลุ่มปรีดีต้องเผชิญกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง 2 ด้านคือพรรคประชาธิปัตย์และกองทัพภายใต้อิทธิพลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกฯ 21 ส.ค. พ.ศ. 2489 โดยสนับสนุนให้ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งแทนในตอนนั้น
วันที่ 8 พ.ย. พ.ศ. 2490 เวลา 23.30 น.คณะรัฐประหารนำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ทำให้ ปรีดี ต้องใช้ชีวิตลี้ภัยในต่างประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน โดยพำนักอยู่ในจีนเป็นเวลา 21 ปีและฝรั่งเศส 13 ปี ก่อนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 2 พ.ค. พ.ศ. 2526 ช่วงก่อนเที่ยง ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส จากโลกนี้ไปด้วยอาการหัวใจวาย ขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน
ส่วนประเด็นจดหมายของปรีดีที่รอวันเปิดในปี 2024 หรือปี พ.ศ. 2567 นั้น ได้รับการจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะหนึ่งในนั้นคือการเปิดเผย ‘จดหมาย’ ของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็น ‘บุคคลสำคัญของโลก’ ตั้งแต่ในวาระครบ 100 ปีชาตกาลของเขา
เอกสารของ ปรีดี พนมยงค์ เป็นจดหมายที่เขามอบให้ไว้กับรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศ โดยรัฐบาลฝรั่งเศสให้ข้อมูลว่าจะสามารถเปิดจดหมายนี้ได้ในปี 2024 ซึ่งเป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง ตอนนี้หลายฝ่ายต่างก็คาดเดากันไป
มีการคาดหมายว่าในจดหมายอาจจะมี 3 ประเด็น อาทิ
บทบาทสำคัญของปรีดีในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยกย่องว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูง และเบื้องลึกเบื้องหลังในการร่างรัฐธรรมนูญอีกฉบับในปี 2475 เรื่องที่ 2 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของปรีดี กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และเรื่องสุดท้าย เรื่องกรณี ร.8 สวรรคต
ขณะที่ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคปัจจุบัน อย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล ให้ความเห็น ก่อนจะเข้าปี 2024 ไว้ว่า ตนเองนั้นก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะมี "ทีเด็ด" อะไร ในจดหมายของปรีดี พนมยงค์ แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง