SPRiNG ขอชวนไปทำความรู้จักกับประวัติ ที่มา ของการเรียก สถานีขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในไทยว่า หมอชิต และ การย้าย หมอชิต ไป หมอชิต 2 ณ พื้นที่ปัจจุบัน เกิดขึ้นเมื่อใด เรามาลองหาคำตอบกัน
หมอชิต คือใคร ? เชื่อว่าคำถามนี้อาจจะหลงเข้าไปอยู่ในใจใครหลายๆคน เพราะเชื่อว่า คนไทยที่มีอายุพอที่จะรู้ความแล้ว คงจะเคยได้ยินคำว่า "หมอชิต" กันมาแล้วทั้งสิ้น สำหรับ หมอชิต ชื่อที่เป็นบุคคลนั้น หมายถึง หมอชิต หรือ นายชิต เป็นลูกคนที่ 3 ของนายเจ็ง นางเลี่ยม นภาศัพท์ เกิดที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2438 ถึงแก่กรรมที่บ้านถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 อายุ 58 ปี
โดย "หมอชิต" นอกจากเป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งเป็นสถานีขนส่งหมอชิต (เดิม) อดีตตลาดนัดที่ชาวสวนนำผลไม้มาขาย จนเรียกว่า ตลาดนัดหมอชิตแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับซอยนภาศัพท์ ถนนสุขุมวิท ที่สร้างเป็นหอพักนิสิตจุฬาฯ และหาดวอนนภา จ.ชลบุรี อันเป็นชื่อของภรรยาท่าน คือ นางวอน นภาศัพท์ (นามสกุล เนติโพธิ์) ด้วย
สมัยก่อน ว่ากันว่า หมอชิต เคยทำงานเป็นเสมียนที่ห้างเต็กเฮงหยู (บริษัท โอสถสภา จำกัด) ก่อนที่จะไปทำงานที่ห้างเพ็ญภาค (ตราพญานาค) เมื่อแต่งงานมีบุตรธิดาแล้วก็คิดขยับขยายหาความก้าวหน้ามาเปิดร้านขายยาเป็นของตัวเอง หน้าวัดมหรรพาราม ใช้เครื่องหมายการค้าตรามังกร ต่อมาย้ายไปอยู่ที่หน้าเสาชิงช้า และปากคลองตลาดตามลำดับ เป็นที่รู้จักของชาวบ้านในนามห้างขายยาตรามังกร
ในช่วงที่ หมอชิต ได้คิดปรุงยานัตถุ์เป็นผลสำเร็จ โดยอาศัยตำราโบราณของบรรพบุรุษ จนเป็นที่นิยมไปทั่ว ได้ไปเปิดตัวแทนจำหน่ายที่ต่างจังหวัดหลายแห่ง กิจการได้ขยับขยายไปตั้งโรงงานปรุงยาที่บ้านถนนเพชรบุรี และปัจจุบันได้เปลี่ยนมาดำเนินการในรูปบริษัทยานัตถุ์หมอชิต แทน สำหรับยานัตถุ์คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก แต่คนสมัยก่อนหากเห็นท่อเหล็กรูปตัวยู ที่คนสูงอายุสอดเข้าไปในรูจมูกด้านหนึ่ง ส่วนปลายท่ออีกด้านใช้ปากเป่า เป็นอันรู้ว่าท่านกำลังนัตถุ์ยา เพราะตัวยานั้นเป็นผงที่มีส่วนผสมหลายอย่าง เช่น ยาสูบ อบเชย เมนทอล สเปียร์มินต์ ฯลฯ การเป่าทำให้ตัวยาที่บรรจุลงในท่อเหล็กฟุ้งกระจายเข้าไปในโพรงจมูก ส่งผลให้ผู้สูบรู้สึกปลอดโปร่ง เคลิบเคลิ้มเหมือนได้สูบบุหรี่
ข้อมูลจากศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า ข้อมูลจาก ศศินา (นภาศัพท์) ประจวบเหมาะ (ญาติของหมอชิต) ที่ถ่ายเอกสารมาจาก หนังสืองานฌาปนกิจศพหมอชิต (หนังสืองานศพหมอชิตชื่อ “เทศน์มหาชาติ” พิมพ์แจกในงานศพเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2497) ไม่กล่าวถึงตลาดนัดหมอชิต และสถานีขนส่งหมอชิตไว้เลย เท่าที่เคยถามคนเก่าเช่น นายชุบ ยุวนะวณิชย์ อายุ 80 กว่าปี ท่านว่าตลาดนัดหมอชิตซึ่งอยู่ริมคลองบางซื่อนั้น เดิมเป็นตลาดนัดเล็กๆ ที่ชาวสวนเอาผลไม้มาขาย เริ่มติดตลาดแต่ปีใดไม่แน่ กลายเป็นสถานีขนส่งหมอชิต หรือสถานีขนส่งสายเหนือสายอีสานเมื่อปีใดก็ไม่ทราบ
ศิลปวัฒนธรรม ยังระบุอีกว่า เมื่อค้นหนังสือ “62 ปี บริษัท ขนส่ง จํากัด” ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2535 มาดู ก็บอกแต่ว่า บ.ข.ส. ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 เริ่มด้วยการบินและการเดินรถก่อน หาได้กล่าวถึงประวัติที่ตั้งไม่ รูปถ่ายความเปลี่ยนแปลงตลอดจนรายละเอียดอื่นใด
อย่างไรก็ตาม คนในรุ่นอายุ 35 ปีขึ้นไป ก็จะรู้จัก "หมอชิต" ในฐานะที่เป็นสถานีขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในไทยไปแล้ว
ที่มา ศิลปวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2541 มีการย้ายสถานีรถโดยสารทั้งหมดจากตลาดหมอชิต สู่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)ในปัจจุบัน หรือที่คนในยุคปัจจุบัน เรียกว่า "หมอชิต 2" เหตุผลเนื่องจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ได้เปลี่ยนให้บีทีเอสเข้ามาเช่าใช้พื้นที่ ประกอบกับเกิดความแออัดและปัญหาจราจรติดขัด จึงได้อนุมัติการใช้พื้นที่ "หมอชิต" สำหรับการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส
ณ ตอนนี้ หมอชิต ไม่เหลือร่องรอยอาคารและตัวสถานีให้เห็นแล้ว แต่ยังมีกำแพงของสถานีขนส่งที่คงอยู่ พื้นที่ส่วนหนึ่งใช้เป็นที่จอดรถสำหรับผู้ที่มาใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีหมอชิต และรถไฟฟ้ามหานครสถานีสวนจตุจักร และอีกส่วนหนึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่หมอชิต ของรถไฟฟ้าบีทีเอสด้วย
ส่วน หมอชิต 2 ที่ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ตอนนี้ สภาพทรุดโทรม มีข้อที่ต้องปรับปรุงมากมาย จากความเห็นของ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม.เขต 9 พรรคก้าวไกล
1. บันไดเลื่อน 5 ตัว เสียครบ 5 ตัว ประชาชนแบกสัมภาระขึ้นบันได กันอย่างทุลักทุเล
2. ไม่มีลิฟท์โดยสาร
3. จุดดับเพลิง 15 จุด เสีย 10 จุด
4. ห้องปฐมพยาบาลปิด
5. ห้องให้นมบุตรไม่เปิด
6. ชานชาลาไม่มีแอร์ ประชาชนนั่งรอรถไป สูด PM 2.5 ไป
7. เครื่องซื้อตั๋วไม่มีคนใช้ เสียเงินฟรี
8. ทางเดินเท้าไม่ universal design ลำพังจะลากกระเป๋ายังลำบาก คนพิการไปไม่รอด
9. มืด แสงสว่างน้อย ไม่ปลอดภัย มีจุดเสี่ยงหลายจุด
10. มีพื้นที่ทิ้งร้าง จนคนบุกรุกอาศัย
11. ห้องน้ำไม่ดี
12. ป้ายบอกทางแย่ คนไทยเดินหลง ต่างชาติยืนงง
13. แท็กซี่-วิน รับจ้างผิดกฎหมาย คิดค่าบริการที่สูงเกินจริง
14. ไม่มีการเชื่อมต่อจากสถานีขนส่งฯ ไปยังสถานีรถไฟฟ้า BTS ผิดหลักขนส่งมวลชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง