ฝุ่น PM2.5 มหันตภัยเงียบ ปัจจัยเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังอันตราย คร่าชีวิตในหลายประเทศทั่วโลกกว่า 4 ล้านคน ทวีปเอเชีย และแอฟริกา มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดในโลก ปี 62 คร่าชีวิตชาวจีนกว่า 1.4 ล้าน อินเดีย 9.8 แสนราย
จากกรณีการเสียชีวิตของ "หมอกฤตไท" เจ้าของเพจ สู้ดิวะ ถือเป็นข่าวเศร้าของวงการแพทย์และในโซเชียลมีเดียต่างแสดงความเสียใจและร่วมไว้อาลัย "หมอกฤตไท" เป็นคนรักสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ แต่อยู่มาวันหนึ่งกลับตรวจพบ "โรคมะเร็งปอด" ระยะสุดท้าย สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นมหันตภัยเงียบ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังอันตราย และคร่าชีวิตผู้คนในหลายประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
มีรายงานจากเว็บไซต์ State of Global Air ระบุว่า การสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังอันตรายหลายโรค ทั้งโรคหัวใจ และมะเร็งปอด เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกในปี 2562 มากกว่า 4 ล้านราย เพิ่มขึ้นมากกว่าสิบปีที่แล้วถึงประมาณ 23%
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยง 69 อย่าง ที่ถูกพิจารณาว่ามีศักยภาพทำให้เกิดโรคเรื้อรังอันตรายของคนทั่วโลกนั้น ฝุ่น PM 2.5 นับเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงลำดับที่ 6 รองจาก ความดันเลือดสูง การสูบบุหรี่ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และปัจจัยอื่นๆ
แต่เมื่อเทียบกับปัจจัยเสี่ยงจากสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ
ปัจจุบันทวีปเอเชีย และแอฟริกา กลายเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเสียชีวิตจากปัจจัยเสี่ยง สัมผัสฝุ่น PM 2.5 สูงสุดในโลก โดยจีน และอินเดีย เป็น 2 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการสูดดมฝุ่น PM 2.5 มาระยะยาว มากที่สุดในปี 2562 โดยที่จีนมีผู้เสียชีวิตจำนวน 1.42 ล้านราย และอินเดีย 980,000 ราย
โดยปัจจัยเสี่ยงจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 เป็นระยะเวลานาน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังอันตรายกำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในทวึปเอเชีย หลังจากช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และภูมิภาคโอเชียเนีย (กลุ่มประเทศ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก) มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากปัจจัยเสี่ยงสูดดมฝุ่น PM 2.5 ได้สูงขึ้น
ส่วนในภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง มีผู้เสียชีวิตจากการปัจจัยเสี่ยงฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นระดับปานกลาง สวนทางกับประเทศร่ำรวย มีรายได้สูง รวมทั้งยุโรปตอนกลาง ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง มีอัตราเสียชีวิตจากปัจจัยฝุ่น PM 2.5 ลดลงระดับปานกลาง
ฝุ่น PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเกิดจากการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตร การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล โรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากรถยนต์ การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และน้ำมัน โดยฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นฝุ่นที่อันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากสามารถผ่านทางเดินหายใจสู่ปอด และกระแสเลือดได้ง่าย ทำให้มีโอกาสป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งโรคหัวใจ โรคปอด และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น
ที่มา : Stateofglobalair
ข่าวที่เกี่ยวข้อง