svasdssvasds

ทำความรู้จัก ยายสำอาง ตำนานวณิพกเมืองสุพรรณ ที่ดังที่สุดในประเทศ

ทำความรู้จัก ยายสำอาง ตำนานวณิพกเมืองสุพรรณ ที่ดังที่สุดในประเทศ

ชวนย้อนตำนาน ทำความรู้จัก วณิพกเมืองสุพรรณ ยายสำอาง ซึ่งชื่อของท่าน เรื่องราวชีวิตของท่าน เคยถูกเขียน ถูกแต่งขึ้นให้กลายเป็นเพลง ดัง ข้ามกาลเวลา จากวงคาราบาว และเพลงเพลงนี้ ยังถูกเปิด ถูกพูดถึงจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงเวลาที่คำว่า "ขอทาน" รวมถึง คำว่า "วณิพก" กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในสังคม จากกรณี #ขอทานจีน ที่ร้อนแรง , SPRiNG ขอชวนย้อนตำนาน ทำความรู้จัก วณิพกเมืองสุพรรณ ยายสำอาง ซึ่งชื่อของท่าน เรื่องราวชีวิตของท่าน เคยถูกเขียน ถูกแต่งขึ้นให้กลายเป็นเพลง ดัง ข้ามกาลเวลา จากวงคาราบาว และเพลงเพลงนี้ ยังถูกเปิด ถูกพูดถึงจนถึงทุกวันนี้

เชื่อว่าใครที่เติบโตมาจากยุค 1990s คงจะได้ยินเพลงที่ร้องว่า "ตาแกบอด (ตาแกบอด) มองไม่เห็น (มองไม่เห็น) ร้องเพลงขอทานด้วยความจำเป็น ชีวิตลำเค็ญหนอยายสำอาง..." นี่คือบางช่วงบางตอนของเพลง "ยายสำอาง" ของวงคาราบาว ที่ออกมาสู่ฟังผู้ฟังทั่วประเทศ ในปี 2536 หรือในปี 1993  จากอัลบั้ม "ช้างไห้" ...โดย วงคาราบาว บอกสาส์นผ่านแฟนเพลงอยู่บ่อยๆครั้ง ว่า เพลง "ยายสำอาง" เปรียบเสมือนกับเพลง วณิพก ภาค 2  ต่อยอดความสำเร็จจากเพลง วณิพก ที่มี วรรคทองว่า "ดวงตาของฉันมันมืดมิด แต่ชีวิตฉันยังไม่มืดลง" ซึ่งออกมาในปี 2526

ความจริงแล้ว "ยายสำอาง" ไม่ใช่เรื่องราวตัวละครสมมุติใดๆ แต่มันคือ บุคคลจริงๆ โดย ยายสำอาง มีชื่อจริงว่า สำอาง เลิศถวิล  ท่านเป็นวนิพกที่ร้องเพลงขอทานแลกเศษเงิน ผู้เป็นต้นกำเนิด เป็นเชื้อเพลิงไอเดียให้คาราบาว แต่งเพลง ยายสำอาง ขึ้นมา นั่นเอง และกลายเป็นเพลงฮิตที่ต้อง ร้องเกือบจะทุกคอนเสิร์ต 

คุณยายสำอาง เลิศถวิล เป็นวณิพกร้องเพลงขอทาน อยู่หน้าบ้านอาจารย์อภัย นาคคง (อาจารย์สอนอยู่ที่เพาะช่าง) เรื่องราวของยายรู้ถึงคุณเอนก นาวิกมูล ก็ได้มีการช่วยเหลือกัน โดยได้พาไปโชว์เพลงขอทานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ และรายการโทรทัศน์ต่างๆ ในอดีต จึงทำให้คนทั่วไปได้รู้จักเพลงขอทาน ในช่วงเวลานั้น 

ยายสำอาง แท้ที่จริงแล้ว เป็นชาวบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม พ่อแกเป็นคนจีน เมื่อแกคลอดออกมาจึงไม่เป็นที่ชอบใจของผู้เป็นพ่อ ตามธรรมเนียมจีนที่เห็นลูกชายดีกว่า ประกอบกับเมื่อแรกคลอดแกไม่ค่อยแข็งแรงนัก พ่อและแม่จึงนำแกไปทิ้งไว้ที่ศาลาวัดบางน้อย หวังจะทิ้งให้ตายหรือไม่ก็ให้ใครเก็บไปเลี้ยง เดชะบุญที่มีวณิพกสองคนผัวเมียผ่านมาพบเข้าเลยนำแกไปเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม , โดย ยายสำอางตาบอดเมื่ออายุ 4 ขวบ ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ จากนั้นก็ตระเวนติดตามพ่อแม่บุญธรรม ร้องเพลงขอทานเรื่อยมา ชีวิตของยายสำอาง ระหกระเหินไปทุกแห่งตามแต่เส้นชะตาชีวิตจะนำพาไป  บางครั้ง มีคนตาดีนำทาง ตนเองร้อง ตีโทนไปพลาง

 

ภายหลัง ยายสำอางไม่สามารถร้องเพลงขอทานได้อย่างเก่า เนื่องด้วยความวัยชราและร่วงโรยไปตามกาลเวลา อีกทั้งยังมีปัญหาสุขภาพรุมเร้า ยายสำอางจึงหันไปจับมีดปาดตาลเหลาไม้ปิ้งไก่ส่งขายเพื่อยังชีพ ซึ่งเรื่องราวนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ยืนยง โอภากุล แต่งเพลงชื่อ “ยายสำอาง” บันทึกลงในอัลบั้ม “ช้างไห้” ของวงคาราบาวนั่นเอง

ยายสำอาง เลิศถวิล ถึงแก่กรรมลงในกระท่อมหลังเล็กๆในสลัมริมคลองภาษีเจริญ ตำบลบางแวก ท้ายซอยพณิชยการธนบุรี ในวันที่ 30 กันยายน 2540


ชีวิตของยายสำอาง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการ ไม่ยอมแพ้ แม้จะมี "ไม่เท่า" กับคนอื่นๆ  แต่ถ้ารัฐไทยมีสวัสดิการที่ดีกว่านี้ ...บางที ชีวิตของผู้พิการอย่างยายสำอาง รวมถึง คนอื่นๆ อาจจะไม่ต้อง ลำบากยากเย็นเข็ญใจ ขนาดนี้...

ที่มา : คาราบาว 

 

อัลบั้มช้างไห้ วงคาราบาว ออกเมื่อปี 2536 มีเพลงดัง อย่างเพลง ยายสำอาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related