วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวัน “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) จากการกำหนดของ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ไม่ควรมีใคร ต้อวตกเป็นเหยื่อความรุนแรงอีกต่อไป
ทั้งนี้ การกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันที่ทุกคนต้องตระหนักถึงความรุนแรงที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น บนโลกใบนี้อีกแล้ว โดย UN มีเป้าประสงค์ รณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและร่วมกันขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลก และคณะมนตรี ได้กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” มาตั้งแต่ปี 1999
ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทย ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง มีผู้หญิงและเด็กหญิงถูกล่วงละเมิดด้วยการทำร้ายร่างกายและจิตใจในทุก ๆ วัน และประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีสถิติผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทั้งด้านจิตใจ ทางร่างกาย และทางเพศมากที่สุด
นอกจากนี้ ปรากฏว่ามีความรุนแรงในครอบครัวอีกหลายกรณีที่ไม่ได้รับการแจ้งความร้องทุกข์ ยังถือเป็นความทุกข์ทรมานของผู้ถูกกระทำที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรม จะด้วยสาเหตุความหวาดกลัวต่อการถูกข่มขู่ คุกคาม หรือความอับอายไม่อยากเปิดเผยเรื่องราวให้ผู้อื่นรับรู้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ผู้หญิงและเด็กหญิงที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน ยังมีความเปราะบางต่อการถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น อาทิ เป็นเด็กหญิงกลุ่มชาติพันธุ์ที่พิการ ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริการทางเพศ และติดเชื้อเอชไอวี HIV
นอกจากนี้ การแสวงหาประโยชน์และกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทางออนไลน์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกด้วย
โดย กสม. หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องการรณรงค์ การกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาการของเด็ก กสม. ให้ความสำคัญกับการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกรูปแบบ และขอให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมมือกัน เพื่อร่วมกันให้ความคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยของผู้หญิงและเด็กทุกคน จากความรุนแรงทั้งทางกาย ทางจิตใจ และทางเพศ
ทั้งนี้ กสม. หนุนหลังให้ทุกคนลุกขึ้นยืนหยัดพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงและเด็กหญิง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมที่ไม่มีใครสมควรต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอีกต่อไป
ทั้งนี้ หากใครก็ตามที่เคยผ่านเหตุการณ์ การตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงนั่น ก็ถือว่ามีโอกาสเสี่ยง ที่จะเกิดโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) โดย PTSD คือ โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่เกิดจากความกดดันทางจิตใจชนิดหนึ่ง มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือสะเทือนขวัญขั้นรุนแรง หรือต้องเผชิญกับความรู้สึกเครียดที่รุนแรงทางจิตใจ
แม้จะผ่านเหตุการณ์นั้นไปแล้ว แต่เมื่อถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ภาพ กลิ่น รส เสียง ฯลฯ ที่ย้ำเตือนถึงความรู้สึกสะเทือนใจที่เกิดขึ้น ก็อาจทำให้อาการกำเริบขึ้นมาได้ ผู้เป็นโรค PTSD จะรู้สึกหวาดกลัวราวกับว่ากำลังเผชิญกับเหตุการณ์นั้นอยู่จริงๆ เช่น ทหารผ่านศึกที่เคยอยู่ท่ามกลางความโหดร้ายของสงคราม ก็มักจะมีอาการ PTSD ตามมา ทำให้รู้สึกว่าสงครามนั้นตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
PTSD ที่เกิดจาก ความรุนแรง หายได้ไหม? ในปัจจุบันการรักษาโรค PTSD รักษาได้ด้วยการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ มีการพูดคุยกับจิตแพทย์ ฝึกรับมือกับความเครียด เพื่อเรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์ที่เกิดจากความทรงจำเลวร้ายในอดีตด้วยตัวเอง เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจให้แข็งแรง รวมถึงการกินยารักษาตามอาการ ที่สำคัญคือการให้กำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง เพื่อให้ก้าวผ่านโรค PTSD ไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง