svasdssvasds

สหรัฐล้ม AT&T ทุนผูกขาดวงการโทรศัพท์ได้ในปี 1982 ส่วนไทยปล่อยให้เกิดได้ ?

สหรัฐล้ม AT&T ทุนผูกขาดวงการโทรศัพท์ได้ในปี 1982 ส่วนไทยปล่อยให้เกิดได้ ?

ครั้งหนึ่งสหรัฐฯ เคยสั่งให้ AT&T ยักษ์ใหญ่วงการโทรศัพท์ แตกออกเป็น 7 บริษัท เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ส่วนกรณีควบรวม TRUE-DTAC และ AIS-3BB สมควรจถูกจัดการเหมือนกันหรือไม่?

เพราะทุกวงการเต็มไปด้วยการแข่งขัน จึงมีโอกาสที่บริษัทยักษ์ใหญ่อาจซื้อกิจการของคู่แข่งเพื่อให้ตัวเองเป็นเจ้าของตลาด ทำให้ทุกประเทศจึงต้องมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคเอาไว้

ในส่วนของการควบรวม AIS-3BB ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กสทช. ในครั้งนี้ ก็ถือว่าไม่ได้ต่างอะไรจากแนวคิดผูกขาดตลาด แต่ข้อสงสัยคือ หาก กสทช. ปล่อยให้มีการควบรวมเกิดขึ้นจริง เหมือนที่ TRUE-DTAC ทำสำเร็จมาแล้วก่อนหน้านี้ จะทำให้เหลือผู้ให้บริการในวงการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านแค่ 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น ซึ่งนำมาสู่คำถามที่ตามมาว่ากฎหมายป้องกันการผูกขาดของประเทศไทยถูกเอามาใช้สำเร็จบ้างไหม เพราะที่ผ่านมาไทยปล่อยให้มีการผูกขาดธุรกิจมาแล้วหลายครั้ง ในขณะที่ผู้บริโภคทำได้แค่มองตาปริบๆ

สหรัฐล้ม AT&T ทุนผูกขาดวงการโทรศัพท์ได้ในปี 1982 ส่วนไทยปล่อยให้เกิดได้ ?

ล้มทุนผูกขาด

ถ้าจะถามว่า เคยมีกรณีล้มทุนผูกขาดที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศที่น่าศึกษาเป็นตัวอย่างบ้างไหม คำตอบคือกรณีเผชิญหน้ากันระหว่างกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา (DOJ) กับ AT&T บริษัทผูกขาดการสื่อสารเกือบทั้งหมดในสหรัฐฯ ตลอดศตวรรษที่ 20

โดย AT&T คือหนึ่งในบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งถ้าถามว่าทำไมถึงยิ่งใหญ่จนเกือบควบรวมวงการสื่อสารของสหรัฐอเมริกาได้ ก็ต้องย้อนไปในอดีต ตั้งแต่ “อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ” ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ ที่รับสิทธิบัตรเป็นคนแรกของอเมริกา ที่ก่อตั้งบริษัท “Bell Telephone Company” ขึ้นในปี 1877 หลังจากนั้นกิจการก็เติบโตจนเปลี่ยนชื่อเป็น “American Bell Telephone Co” และเติบโตแบบก้าวกระโดดอีกครั้งหลังจากเข้าซื้อ บริษัทด้านวิศวกรรมไฟฟ้า “Western Electric” ได้ในปี 1882

ในปี 1885 “American Bell Telephone Co” ถูกรู้จักในชื่อใหม่ว่า AT&T ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องสร้างเครือข่ายโทรศัพท์ในนิวยอร์ก ทำให้บริษัทเติบโตขึ้นอย่างมาก และเริ่มมีการซื้อบริษัทโทรศัพท์รายเล็กอื่นๆ มากขึ้น ส่งผลให้เผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการผูกขาดในวงการสื่อสารครั้งแรกปี 1913 ซึ่งรู้จักกันในคดี “Kingsbury Commitment” ที่ว่าด้วยการ ต่อต้านการผูกขาดของบริษัทโทรศัพท์และโทรเลขของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลครั้งนั้นกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้สั่งให้ AT&T ขายบริษัทลูกออกไปบางส่วน และยอมให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์รายย่อยอื่นๆ เข้ามาใช้เครือข่ายของ AT&T ได้ นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขเพิ่มอีกว่า AT&T จะต้องแจ้งกับรัฐบาลทุกครั้งเมื่อจะซื้อบริษัทคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดเกิดขึ้นอีก

ในปี 1949 AT&T ถูกรัฐบาลไล่ล่าอีกครั้ง เพราะเป็นเจ้าของซัพพลายเออร์โทรศัพท์เพียงรายเดียวที่สามารถใช้งานกับเครือข่ายของตนได้ โดยบริษัทที่ลูกที่ทำหน้าที่นั้นคือ Western Electric ทำให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ต้องสั่งให้ AT&T ขาย Western Electric ทิ้งไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม AT&T ยังคงขออนุญาตรัฐบาลให้สามารถซื้อบริษัทโทรศัพท์อิสระเพิ่มเติมได้เรื่อยๆ และในที่สุดเครือข่ายของ AT&T ก็เข้าถึง 90% ของครัวเรือนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นสัดส่วนการตลาดที่ใหญ่เกินไปจนรัฐบาลอยู่เฉยๆ ไม่ได้

ในที่สุดบริษัท AT&T ก็ไม่สามารถหนีข้อกล่าวหาจากรัฐบาลได้อีกต่อไป กระทรวงยุติธรรมได้ตัดสินในปี 1982 ให้ AT&T แตกออกเป็น 7 บริษัทย่อย ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ Baby Bell ประกอบไปด้วย Ameritech ,Bell Atlantic,BellSouth,NYNEX,Pacific Telesis,Southwestern Bell, และ US West ซึ่งทุกบริษัทจะมีพื้นที่ให้บริการของตัวเอง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการด้วยกัน

การถูกแยกเป็น 7 บริษัท คือการทำลายการผูกขาดของ AT&T ที่มีต่อผู้ใช้บริการในสหรัฐอย่างแท้จริง แต่กระนั้น AT&T ก็ยังได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจด้านโทรศัพท์บางส่วนต่อไปได้ ซึ่ง AT&T ก็ยังคงทำกำไรเข้าบริษัทอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้หวือหวาเหมือนตอนที่ยังเป็นผูกขาดการสื่อสารส่วนใหญ่ในประเทศ

ปัจุบันในยุคที่อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ แทนโทรศัพท์บ้าน AT&T ก็ยังคงมีแนวคิดซื้อบริษัทอื่นๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ตัวเอง โดยในปี 2011 AT&T มีความพยายามที่จะควบรวมกิจการโทรคมนาคมของเยอรมนีอย่าง T-mobile แต่ถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เข้ามาล้มดีลเสียก่อน ด้วยเหตุผลว่า การควบรวมครั้งนี้จะลดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมไร้สายลง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคหลายล้านคนไม่มีตัวเลือก และต้องจ่ายค่าบริการที่เพิ่มมากขึ้น แต่คุณภาพการบริการกลับต่ำลง

การล้มดีลครั้งนั้นหลายฝ่ายมอง กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯทำถูกต้องที่ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค ส่วน AT&T ที่พ่ายแพ้ไป ก็ได้เปลี่ยนเกมด้วยการหันไปบุกตลาดสมัยใหม่โดยการซื้อ CNN, HBO, และ Warner Bros แทน ซึ่งแน่นอนว่ามีกระแสต่อต้านจากหลายๆ ฝ่ายเช่นเดิม เพราะ AT&T อาจกำลังหวนกลับไปสู่เส้นทางทุนผูกขาดเหมือนในอดีตหรือเปล่า

ทว่าครั้งนี้ AT&T ซื้อสื่อเหล่านี้ได้สำเร็จ ส่งผลให้ AT&T ในปัจจุบันยังคงเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอยู่ดี

ควบรวม AIS-3BB และ TRUE-DTAC

เมื่อหันมามองการควบรวมระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเจ้าใหม่ในไทย จะพบว่ามีหลายมุมที่ใกล้เคียงกับตัวอย่างที่ยกมาข้างตน โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เคยโพสเฟซบุ๊ค ตั้งคำถาม ว่า "คนไทยจะยอมทุนผูกขาดไปอีกนานแค่ไหน"

โดย ดร.สมเกียรติ โพสต์ตั้งคำถามในปี 2022 ว่า : ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยของไทยก็จะเหลือทางเลือกน้อยลง และเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบโดยทุนใหญ่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจโรงหนัง ค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงพยาบาลและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ยังกระทบมาถึงคนชั้นกลางจำนวนมากด้วย

เศรษฐกิจไทยตอนนี้ดูเหมือนเศรษฐกิจอเมริกาในช่วงประมาณ 120-150 ปีที่แล้ว ที่มีการควบรวมบริษัทน้ำมัน บริษัทรถไฟและธุรกิจใหญ่ๆ จำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดการเอาเปรียบประชาชนในวงกว้าง จนภายหลังประชาชนทนไม่ไหวอีกต่อไป ผลักดันให้เกิด “ยุคก้าวหน้า” (Progressive Era) ที่เกิดการต่อต้านทุนผูกขาดในวงกว้าง เรียกนายทุนผูกขาดว่า Robber Baron เสมือนเป็น “โจรปล้นประชาชน” (ตรงกันข้ามกับการอวยว่าเจ้าสัวไทยรวยเพราะมีวิสัยทัศน์ล้ำเลิศ) หรือกระแสพยายามควบคุมทุนใหญ่อีกครั้งในสมัยประธานาธิบดีไบเดนในปัจจุบัน

ส่วน ภคมน ลิซ่า หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสงสัยถึงการควบรวม AIS-3BB ที่กำลังจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาจาก กสทช. โดยโพสต์ไว้ในเฟสบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2023 ว่า ไว้ 3 ข้อดังนี้

จะเกิดอะไรขึ้น กสทช. ปล่อยให้มีการควบรวมอินเทอร์เน็ตบ้าน ระหว่าง AIS และ 3BB?

ข้อ 01. ตลาดอินเตอร์เน็ตบ้าน ที่ปัจจุบันมีผู้เล่น 4 ราย ได้แก่ True, 3BB, NT (TOT เดิม) และ AIS จะเหลือผู้เล่นเพียง 3 ราย โดย AIS+3BB จะกลายเป็นรายใหญ่สุด

ข้อ 2. รวมส่วนแบ่งตลาด AIS (หลังควบรวม) และ True จะคิดเป็นประมาณ 80% หรือพูดง่ายๆ ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านจะกลายเป็นถูกกินรวบโดย 2 เจ้าใหญ่ เหมือนกับตลาดค่ายมือถือ

ข้อ 3 . บทเรียนจากการอนุมัติให้มีการควบรวมค่ายมือถือระหว่าง True-DTAC แสดงให้เราเห็นแล้วว่ายิ่งปล่อยให้มีเศรษฐกิจมีการผูกขาดอย่างเสรีเท่าไหร่ ราคาที่ประชาชนต้องใช้บริการยิ่งแพงขึ้น สวนทางกับคุณภาพการให้บริการที่ลดต่ำลง

นอกจากนี้ยังเขียนทิ้งท้ายว่า “อย่าปล่อยให้ซ้ำรอยกับกรณีการควบรวม True-DTAC เลย ที่สุดท้ายเงื่อนไขที่ว่าจะลดค่าบริการ-เพิ่มคุณภาพให้ประชาชน ยังทำไม่ได้สักเรื่อง”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

related