วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ ให้ความเห็นในเสวนาหัวข้อ “รัฐบาลข้ามขั้ว สลายความขัดแย้ง ทำได้อย่างไร” ในงาน Dinner Talk : THAILAND’S FUTURE อนาคตประเทศไทย 2024 จัดโดยเครือเนชั่น
งาน Dinner Talk : THAILAND’S FUTURE อนาคตประเทศไทย 2024 จัดโดยเครือเนชั่น ณ ห้องคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ มีการจัดเสวนา “รัฐบาลข้ามขั้ว สลายความขัดแย้ง ทำได้อย่างไร” โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง, นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมกันแสดงความคิดเห็น
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเสวนาในช่วงสัมมนา "รัฐบาลข้ามขั้ว" สลายความขัดแย้ง ทำได้อย่างไร ในงาน Thailand's Future อนาคตประเทศไทย 2024 นายวราวุธ กล่าวว่า ตราบใดที่มีการเลือกตั้ง คำว่าขั้วจะไม่หมดไป ถ้าไม่มีขั้วสิน่ากลัว พรรคที่เป็นขั้วเดียวกันร่วมมือกันทำงาน ส่วนพรรคที่เห็นต่างทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล การเห็นต่างเป็นเรื่อกปกติของประชาธิปไตย
ความแตกต่างทางความคิด คือความสวยงามของประชาธิปไตย แต่การให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
นายวราวุธ นิยามคำว่ารัฐบาลสลายขั้วว่าตราบใดที่ประเทศไทยยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การเลือกข้างก็ไม่มีวันหมด และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เมื่อตั้งรัฐบาลก็มีสูตรคำนวนตัวเลขมาบวกกัน ได้เท่าไหร่ จัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ นี่คือวัฏจักรการเมืองไทย
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พรรคร่วมมีความเห็นตรงกันว่าหมวด 1 และหมวด 2 จะไม่แตะต้อง และเชื่อว่าทุกคนอยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เร็ว แต่ถ้าทำเร็วแล้วเป็นผลให้กลับไปขัดกับกฎหมายมาตราต่างๆ ทุกอย่างก็กลายเป็นศูนย์ ต้องไปเริ่มใหม่ เสียเวลาไป 2 ปีก็เท่ากับไม่ได้อะไรขึ้นมา ดังนั้นช้าๆได้พร้าเล่มงาม จะดีกว่าเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ใช้ความระมัดระวัง รอบคอบ และทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ และการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เป็นหัวใจสำคัญมากกว่า
ตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่ ตราบนั้นก็ยังมีความขัดแย้ง
การเลือก ส.ส.ร. ที่คัดคนมาจากกลุ่มต่างๆ ก็เพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างดีที่สุด แต่แน่นอนว่าร่างขึ้นมาให้ดีอย่างไร ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าไม่ดี เพราะกาลเวลาเปลี่ยน เงื่อนไขต่างๆก็เปลี่ยน แต่เชื่อว่ากลไกของการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เลือกคนหลากหลาย ก็น่าจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น
สำหรับการนิรโทษกรรมควรทำหรือไม่? นายวราวุธ ให้ความเห็นว่า การนิรโทษกรรมทางการเมือง ถ้าเป็นบุคคลที่ก่อคดีที่เกี่ยวกับคดีอาญา หรือมาตรา 112 พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ควรจะเข้าไปร่วม เพราะร่าง พ.ร.บ.นี้ เมื่อผ่านสภา ก็ต้องนำทูลเกล้าฯ เพราะฉะนั้นจะเสนออะไรให้พระองค์ท่าน ก็ไม่ควรทำอะไรที่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท อะไรที่ไม่ถูกก็คือไม่ถูก แต่สำหรับบุคคลที่ถูกชักจูงไปร่วมม็อบและตกกระไดพลอยโจนไป อันนี้เห็นด้วย ก็ควรให้อภัย
“มาตรา 112 มีเอาไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าหากมีการทำผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 แล้วเสนอให้ท่านลงพระปรมาภิไธย ก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน ตนก็อยู่มาครึ่งศตวรรษแล้วก็ ยังไม่เห็นอะไรเกิดขึ้นแบบนี้ อะไรที่ผิดก็ไม่ใช่จะนิรโทษกรรมกัน อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่เกี่ยว แต่อะไรที่ผิดชัดเจนก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย”
รูป : Spring News Photo
เนื้อหาที่น่าสนใจ :