สรุปให้โครงการแลนด์บริดจ์ (LandBridge) คืออะไร? ทำไมนายกฯเศรษฐา ต้องวาดรูปเพื่อพรีเซนต์ให้กับนักลงทุนชาวจีนด้วยตัวเอง สะพานเศรษฐกิจเชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือน้ำลึก ฝั่งอ่าวไทย และ ฝั่งอันดามัน งบมหาศาล 1 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเสียงคัดค้าน เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
แลนด์บริจด์ (LandBridge) แปลตรงๆคือ สะพานเชื่อมต่อระหว่างเมือง
ในต่างประเทศก็มี Land Bridge ชัดสุด เช่น แคนาดา ย่นระยะเวลาขนส่งทางเรือ ระหว่าง มหาสมุทรแปซิฟิก เชื่อมไปสู่ ยุโรป เร็วขึ้น ไม่ต้องไปอ้อมอเมริกาใต้
ส่วนในไทย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ จริงๆพูดกันตั้งแต่สมัย รัชกาล ที่ 4
แต่ครั้งนั้นเราเรียกมันว่า โครงการขุดคอคอดกระ ขุดคลอง เพื่อเชื่อมการขนส่งทางเรือ ระหว่างทะเล 2 ฝั่งไทย จะได้ไม่ต้องไปอ้อม ช่องแคบมะละกา ที่ใช้เวลานาน และ จอแจ แต่ติดเรื่องงบเยอะ และ ดูเป็นการแบ่งแยกดินแดนไทย จึงมีการชะลอเรื่องนี้ไว้มาช้านาน
จนกระทั่งสมัยรัฐบาลลุงตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ก็ได้มีการผลักดันเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็น LandBridge แทน
แลนด์บริดจ์ (LandBridge) ในบริบทปัจจุบันของประเทศไทย คือ
สะพานเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมต่อระหว่าง 2 ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย และ อันดามัน เข้าด้วยกัน ระหว่าง จ.ชุมพร และ จ.ระนอง โดยการสร้างเป็น ทางหลวง Motorway 6 เลนส์ ควบคู่กับการสร้างทางรถไฟทางคู่ ความยาว 90 กม. พร้อมด้วย pipeline หรือ การขนส่งทางท่อ เพื่อขนของเหลวอย่างน้ำมันหรือก๊าซได้ด้วย
แลนด์บริดจ์ ดำเนินการก่อสร้างหรือยัง?
ยังรัฐบาลเสนอเข้า ครม. โดยอยู่ระหว่างหาทุนโรดโชว์เสนอ นักลงทุนต่างชาติ คาดใช้งบลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ทำให้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จำต้องควงปากกา วาดภาพใส่กระดาษ โชว์นักลงทุนจีนด้วยตัวเองเลย โดยท่านได้ X (ทวิตเตอร์) ส่วนตัวบอกว่า แม้ไม่สวย แต่สื่อสารได้ผลดี ทำให้สังคมพูดถึงแลนด์บริดจ์อีกครั้ง และขณะนี้ที่ประชุมครม.ได้อนุมัติทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่
โดยแลนด์บริดจ์ ต้องสร้างการคมนาคม 4 ส่วนหลักๆ
1. การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง แหลมอ่าวอ่าง อันดามัน จ.ระนอง และ แหลมริ่ว อ่าวไทย จ.ชุมพร เป็นท่าเรือที่ทันสมัย Smart port ควบคุมด้วยระบบออโตเมชั่น ความลึก 15 เมตร แบ่งการสร้างเป็น 4 เฟส เฟสแรก งบ 5 แสนล้าน เปิดประมูลปี 2568 คาดแล้วเสร็จปี 2573
2. การพัฒนาทางหลวงมอเตอร์เวย์ 6 เลน เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ระยะทาง 90 กม.
3. การพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร
4.สร้างการขนส่งแบบ Pipeline หรือการขนส่งโดยใช้ระบบท่อ
ข้อดี แลนด์บริดจ์ (LandBridge)
1. ช่วยลดระยะเวลาขนส่งสินค้าทางเรือ จากประเทศแถบตะวันออกไทย ไป เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และ ยุโรป ได้ถึง 2วันครึ่ง จากเดิมผ่านช่องแคบมะละกา 9 วัน เหลือ 5 วัน
2. ลดความแออัดของจราจร ผ่านช่องแคบมะละกา ที่คาดว่าปี 2467 จะมีปริมาณเรือเต็มศักยภาพจะรับไหว
3. อยู่ในแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ คาดช่วยเพิ่ม GDP ภาคใต้ได้ จาก 2% เป็น 10% ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี
ข้อกังวล แลนด์บริดจ์ (LandBridge)
1.ผลกระทบทางธรรมชาติ
จากการที่ทรัพยากรชายฝั่งถูกทำลาย ด้วยเรือขนส่งเทียบท่า น้ำทะเลเสีย จากคราบน้ำมัน หรือ เกิดน้ำมันรั่วไหล แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำถูกทำลาย และมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรม
2.กระทบวิถีชีวิตชาวประมงชาวบ้าน
เมื่อสัตว์น้ำไม่เหมือนเดิม ไหนจะมลภาวะจากเสียง จากฝุ่น และ จากแสงไฟที่เปิดจ้าเกือบตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้กระทบทั้งชีวิตสัตว์ และ ชีวิตคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงท่าเรือและอยู่ใกล้ในแนวกันชนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ทาง ก.ทส. เสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติอยู่
3.ผลกระทบเรื่องที่อยู่อาศัย
เนื่องจากโครงการนี้ อาจต้องมีการเวนคืนที่ดินจากประชาชน เป็นจำนวนมาก
สุดท้ายเราเห็นข้อดีมากมายจากโครงการนี้แล้ว แต่คำถามคือ
งบประมาณสูงขนาดนี้ ไทยได้ประโยชน์แค่ไหน คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่?
และคุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างที่ต้องเสียไปหรือเปล่า ฝากรัฐบาลทำการบ้านเรื่องนี้ให้รอบคอบ และ รัดกุม คำนึงถึงผลกระทบรอบด้านที่สุดนะคะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :